ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

คงไม่เฉพาะแต่ผมเท่านั้น คิดว่าน่าจะเป็นคนอื่นๆ ด้วย ที่เวลาเดินเข้าวัดจีน หรือศาลเจ้าจีนในเมืองไทย เราจะไม่รู้ประวัติความเป็นมาใดๆ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เลย

เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ไกลตัว

ไกลความสนใจ

ยกเว้นแต่มีใครมาบอกว่าคนเกิดปีนี้ ปีนั้นใน 12 นักษัตรจะต้องไปแก้ชงที่โน่น ที่นี่ เราถึงจะเข้าไปแก้ชงที่ศาลเจ้า หรือวัดจีนสักครั้ง

Advertisement

แต่ไปก็จำไม่ได้อีกว่าเทพเจ้าที่เรากราบไหว้นั้นเป็นเทพองค์ใดบ้าง เพราะมีเยอะเหลือเกิน ผมจำได้หลักๆ ก็เทพเจ้ากวนอู และไท้ส่วยเอี้ย

นอกนั้นจำไม่ได้เลย

ถามว่าทำไมถึงไม่จำ ?

Advertisement

เพราะเราไม่ได้ไปกราบไหว้ศาลเจ้า หรือวัดจีนอยู่บ่อยๆ ไง อีกอย่างคนในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวไม่ค่อยมีใครมาทางนี้เท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่มักไปทางสายบุญ ทำบุญตักบาตร ฟัง
พระสวดมนต์ตามวัดวาอารามต่างๆ มากกว่า

ยิ่งถ้าเป็นเรื่องลึกๆ เกี่ยวประวัติความเป็นมาในการก่อตั้งศาลเจ้า หรือวัดจีนในจังหวัดต่างๆ อีกด้วย ลืมไปได้เลย ผมไม่มีทางจำได้แน่

แต่เมื่อมาอ่านหนังสือ “ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” ซึ่งมี ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช เป็นผู้เขียน จึงทำให้ผมพอมีความรู้ไปคุยโม้กับคนอื่นๆ ได้บ้าง

เพราะผู้เขียนบอกว่าคนไทยและจีนติดต่อค้าขายกันมานานแล้ว อาจเริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
(พ.ศ.341-551) เนื่องจากพบหลักฐานจากเครื่องปั้นดินเผาที่ถูกนำขึ้น
จากบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย

แต่กระนั้น ก็ยังไม่ถึงขนาดมาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศ

จนเมื่อมาถึงสมัยสุโขทัย จึงเริ่มมีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้าง อาจด้วยหลายเหตุผลคือภัยแล้ง, ภาวะความยากจน และนโยบายของราชสำนักสยามสมัยนั้นที่ส่งเสริมให้ชาวจีนเข้ามาทำงาน และค้าขายในบ้านเรา

จนเริ่มกระจัดกระจายมายังอโยธยา และกรุงเทพฯในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 กล่าวกันว่าชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเมืองไทยประกอบด้วยคนจีนทั้งหมด 5 กลุ่มด้วยกันคือแต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, แคะ, ฮกเกี้ยน และไหหลำ

แต่ละกลุ่มจะมีประเพณีวัฒนธรรมเป็นของของตัวเอง ดังนั้น ถ้าจะให้เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ อาจยกตัวอย่างของอาหารการกินของคนจีนทั้ง 5 กลุ่มที่เราคุ้นลิ้นเป็นอย่างดี

เพียงแต่ในที่นี้ไม่ขอลงรายละเอียด เพราะประเด็นหลัก เราต้องการชี้ให้เห็นว่าคนจีนทั้ง 5 กลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออีกหลายจังหวัดของประเทศไทย ล้วนต่างนำเทพเจ้าที่ตัวเองเคารพนับถือติดตัวมาด้วย

ทางหนึ่งเพื่อเป็นมงคลสำหรับตัวเอง และครอบครัว

ทางหนึ่งเพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวบนแผ่นดินสยาม

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ชาวจีนที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ในสยามประเทศจึงสร้างศาลเจ้าขึ้นมา พร้อมกับนำเทพเจ้าที่ตัวเองนับถือมาสักการะในศาลเจ้าเหล่านั้น

ส่วนวัดจีนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

“ผศ.ดร.อชิรัชญ์” บอกว่า ศาลเจ้าจีนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1-5 แต่กระนั้น ประวัติการสร้างศาลเจ้ากลับไม่ปรากฏแน่ชัด เพราะเป็นการพูดกันปากต่อปากของคนที่เฝ้าศาล และคนในชุมชนเหล่านั้น

จึงทำให้ผู้เขียนต้องไปสำรวจจากป้ายไม้สลักคำมงคลภาษาจีน เครื่องเรือน และของถวายภายในศาลเจ้าที่มักจะมีการจารึกภาษาจีนกำกับในส่วนของชื่อผู้บริจาค และปีศักราชในการถวาย

ถึงจะทำให้พอรู้ว่าศาลเจ้าเหล่านี้เป็นของคนจีนกลุ่มไหน แต่กระนั้น อาจมีความผิดเพี้ยนอยู่บ้าง เพราะบางทีสิ่งของเหล่านี้อาจถูกหยิบฉวยไปตั้งวางในศาลเจ้าอื่นๆ ก็ได้

จึงทำให้ “ผศ.ดร.อชิรัชญ์” ต้องหันไปให้ความสำคัญกับงานสถาปัตยกรรม เพราะคนจีนทั้ง 5 กลุ่ม ต่างมาจากมณฑลต่างๆ ในประเทศจีนที่มีประเพณีวัฒนธรรม และศิลปะที่แตกต่างกัน

ตรงนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นของชาวจีนกลุ่มใด อาทิ ถ้าเป็นศาลเจ้าของจีนแต้จิ๋ว จะเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบเฉาซ่าน, ศาลเจ้าของจีนฮกเกี้ยน เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบหมิ่นหนาน

ศาลเจ้าของจีนแคะ เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบเค่อ และศาลเจ้าของจีนกวางตุ้ง และจีนไหหลำเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบกว๋างฝู่

ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้ความรู้มากๆ

จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนไปหาซื้ออ่านกัน แล้วจะทราบว่าความรู้ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภายในแต่ละศาลเจ้าทั่วมหานครกรุงเทพเป็นอย่างไร

ผมเองชักจะมีความรู้งูๆ ปลาๆ ไปโม้บ้างแล้วครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image