โรงเรียนอิสระในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ชุติมา ชุมพงศ์

การปฏิรูปการศึกษาของไทยในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีเจตนารมณ์ในเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษาผ่านการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อกำกับดูแลสถานศึกษาในพื้นที่ แต่กลับไม่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาและผลเชิงบวกต่อผู้เรียน สาเหตุเนื่องมาจากการให้นโยบายจากบนลงล่าง สัดส่วนอำนาจในการจัดการศึกษาจากรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบายกระจายคำสั่ง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานข้างล่าง ได้แก่ โรงเรียน ผู้บริหารและครู มีบทบาทเป็นเพียงผู้รับนโยบายและนำไปปฏิบัติตามความเข้าใจที่แตกต่างกัน ผู้ปฏิบัติงานข้างล่างไม่สามารถคิดและปฏิบัติได้อย่างอิสระ ติดอยู่ในกรอบการบริหารงานแบบราชการ ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายหรือคำสั่งจากส่วนกลาง

ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ เขตพื้นที่การศึกษามุ่งตอบนโยบายจากส่วนกลางมากกว่าลงมาทำงานกับสถานศึกษาที่ขาดการสนับสนุน ช่วยเหลือมาอย่างยาวนาน จนโรงเรียนส่วนใหญ่มีสภาพอ่อนล้าทั้งในเชิงการคิด การจัดการตนเอง ได้แต่มุ่งสนองตอบนโยบายเชิงเอกสารเป็นส่วนใหญ่รวมทั้งขาดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ไม่สามารถขยายวิธีคิดโรงเรียนจัดการตนเองสู่พื้นที่ข้างเคียง ผู้ปฏิบัติไม่กล้าคิด กล้าทำ หรือทดลองแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ติดกับรูปแบบเดิม

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างและระบบที่มีอยู่เขตพื้นที่การศึกษาที่รองรับการกระจายอำนาจการศึกษาจากส่วนกลางลงสู่ระดับล่างเป็นข้อต่อเชื่อมโยงแนวนโยบายสู่การปฏิบัติจริงจึงปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน ให้ความสำคัญส่วนกลางมากกว่าโรงเรียนดังที่เป็นอยู่

Advertisement

จากผลการศึกษาของโครงการการสังเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนรู้ชุมชนโดยใช้โครงงานฐานวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากล่างสู่บนของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ และคณะ ในปี พ.ศ.2561 พบต้นแบบแนวคิดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาจากล่างสู่บน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วยการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนจากต้นทุนตามบริบทเชิงพื้นที่

แนวทางหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยสำเร็จได้นั้น สามารถทำได้โดยการให้อิสระแก่โรงเรียนในรูปแบบโรงเรียนบริหารจัดการตนเอง ความเป็นนิติบุคคล การบริหารวิชาการ การบริหารการเงิน การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไป การเปิด “ไฟเขียว” ให้โรงเรียนที่สนใจทดลองใช้แนวทางการบริหารรูปแบบนี้สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระด้วยการเปิดพื้นที่ทดลองทางการศึกษา (Sandbox) ให้เป็นเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษ หรือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนทดลองปฏิบัติได้อย่างอิสระรวมถึงนวัตกรรมการศึกษาอื่นๆ

Advertisement

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง พื้นที่การศึกษาที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สำหรับการทดลองนวัตกรรมการศึกษา โดยให้อำนาจแก่สถานศึกษาในการบริหารงานได้อย่างอิสระและจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการศึกษาที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานส่วนกลางให้การสนับสนุนทั้งในด้านทรัพยากรและกลไกการหนุนเสริมแก่โรงเรียนในพื้นที่อย่างเหมาะสมผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและ
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของพื้นที่ มีการนำนวัตกรรมไปใช้ในพื้นที่จังหวัดนำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยองและจังหวัดศรีสะเกษ และอีก 1 จังหวัด คือ จังหวัดสตูลยังเป็นจังหวัดที่ยังอยู่ในระหว่างการออกกฎหมายรับรอง

โดยเฉพาะจังหวัดสตูลที่มีการค้นพบจากงานวิจัยข้างต้นเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เป็นทางออกของการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัยที่มีการแอบทำของโรงเรียนอนุบาลสตูล โดยผู้อำนวยการสุทธิ สายสุนีย์ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในมิติของการเรียนเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการหรือเรียนเพื่อแข่งขันเพียงมิติเดียวเท่านั้น หากแต่ยังตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพนักเรียน เชื่อมโยงความรู้สู่ชุมชน ความต้องการของผู้เรียน หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่พัฒนาทักษะชีวิตอีกด้วย จึงเกิดแนวคิดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย (research based learning: RBL)

ผลจากการจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย ปรากฏชัดเจนว่าผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ผู้เรียนที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ และคิดเชื่อมโยงได้ มีความผูกพันกับท้องถิ่น
มีจิตสาธารณะ และกล้าทำกล้าแสดงออกได้อย่างก้าวกระโดด กระบวนการเรียน การสอนลักษณะนี้ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน โรงเรียน และผู้เรียนไว้ด้วยกัน โดยการทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากองค์ความรู้ในชุมชนและยังเป็นการปลูกฝังความรู้สึกหวงแหนและรักบ้านเกิดให้กับผู้เรียน

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนมีการพัฒนาและเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจังหวัดสตูลมีต้นทุนโอกาสการจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรม เช่น การประกาศให้สตูลเป็นเขต Geo Park มีภาพลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายในสังคมพหุวัฒนธรรม

ในทางกลับกันแม้โรงเรียนอนุบาลสตูลจะเป็นต้นแบบของโรงเรียนจัดการตนเอง การพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ เกิดความรู้ ทักษะ สมรรถภาพอย่างโดดเด่น นักเรียนสามารถศึกษาต่อในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เกิดนวัตกรรมการศึกษา โครงงานฐานวิจัยทุกระดับชั้น ได้มีการวางแผนขยายสู่โรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดสตูล แต่กลับประสบปัญหาทุกขั้นตอน นับแต่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาบ่อยครั้ง ขาดการร่วมมืออย่างจริงจังในผู้ที่เกี่ยวข้อง กฎระเบียบไม่เอื้อต่อการตัดสินใจ ยังคงปฏิบัติแบบเดิม ผู้บริหารการศึกษาและครูจำนวนไม่น้อย มองเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น ผลงานไม่สามารถนำไปใช้ประกอบเลื่อนขั้นตำแหน่งวิทยฐานะ และอื่นๆ ได้

นับเป็นปัญหาข้อจำกัด อุปสรรคในระดับล่าง สภาวะของโรงเรียนส่วนใหญ่จึงนิ่งอยู่กับที่ ติดกรอบนโยบายและระบบราชการมาโดยตลอด (Comfort Zone)

จากปัญหาดังกล่าวคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้เล็งเห็นปัญหานี้ทำให้มีการเปิดเวทีทางการระหว่างผู้ปฏิบัติและผู้สั่งนโยบายทำให้เกิดประเด็นและทางออกของการปฏิบัติ มีการปลดล็อกหลายเรื่อง ได้แก่ 1) อัตราทดแทนกำลังครูเกษียณล่าช้า สำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 250 คน จะได้รับอัตราทดแทนได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม แต่โรงเรียนใดที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ยังไม่สามารถให้อัตราทดแทนได้ 2) การบรรจุครูไม่ตรงตามสาขาวิชาที่โรงเรียนต้องการ

3) การลดภาระงานเอกสารที่ไม่จำเป็นจากการประเมินโครงการ การขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 4) การปรับหลักสูตร ต้องทำให้โครงสร้างเวลาเรียนมีความยืดหยุ่น สามารถสร้างตัวชี้วัดของหลักสูตรอย่างลดน้อยลง ยุบ รวมได้ แต่ต้องสามารถวัดสมรรถนะของผู้เรียนได้จริง

5) การขออัตราตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน พัสดุเฉพาะทาง ลดภาระงานครู สามารถดำเนินการจัดหาเจ้าหน้าที่ได้ทันที อาจมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เจ้าหน้าที่ 1-2 คน ใช้ร่วมกันเป็นกลุ่มโรงเรียน 6) การปรับระบบประเมินวิทยฐานะ มีระบบการประเมินแบบใหม่ไม่เน้นเอกสาร เน้นชั่วโมงการปฏิบัติงานของครู โดยให้ครูศึกษาเพิ่มเติม ว 20, ว 21 หรือจัดทำข้อเสนอแนะหรือเสนอรูปแบบการประเมินวิทยฐานะที่เหมาะสมกับพื้นที่

7) การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามความจำเป็นของโรงเรียน สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้การใช้งบประมาณมีความคล่องตัว จำเป็นกับพื้นที่ โดยอาจกำหนดในลักษณะมาตรฐานครุภัณฑ์ เป็นต้น เน้นหลักธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ ยังมีการขยายการดำเนินการโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอีก 10 โรงเรียนในจังหวัดสตูล ด้วยการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ คือ ภาคเช้าเรียนวิชา 8 กลุ่มสาระ ภาคบ่ายลงชุมชน โครงงานฐานวิจัย บ่ายวันศุกร์ทำ PLC เป็นต้น โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาในจังหวัดสตูล ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และภาคเอกชน ร่วมกันประกาศให้จังหวัด
สตูลเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในลักษณะโรงเรียนจัดการตนเอง ตลอดจนเป็นแนวทางผลักดันให้เกิดเป็น พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในที่สุด

นวัตกรรมการศึกษานำมาใช้ทดลองนำร่องเริ่มการทดลองขับเคลื่อนในโรงเรียนที่มีอัตลักษณ์จัดการตนเอง ได้พื้นที่ตัวอย่าง ภาคีเครือข่ายระดับล่าง นวัตกรรมคัดสรร กลุ่มบุคคลที่กล้าคิดนอกกรอบได้ร่วมกันประสานเชิงนโยบายทุกระดับ เปิดพื้นที่พิเศษ โรงเรียนจัดการตนเอง ลดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ระเบียบทางราชการให้ลดน้อยลง การคิดริเริ่มจัดการการศึกษาด้วยพลังจากทุกฝ่าย ศึกษาเรียนรู้ในเขตพื้นที่ที่ได้รับการยินยอมจากทุกฝ่ายด้วยการดำเนินการวิจัยอย่างมีคุณภาพจากส่วนเล็ก ขยายเติบโตค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้มองเห็นแสงสว่างของการปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image