บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในร่างกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา :โดยนพดล ปกรณ์นิมิตดี

ด้วยผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … ล่าสุดประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2561 จากเว็บไซต์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งพาดหัวในคอลัมน์ไว้ว่า ประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …

สิ่งแรกสำหรับผู้เขียนในฐานะนักวิชาการธรรมดาคนหนึ่งเมื่อเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว จึงเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าหาดูว่ามีอะไรบ้าง ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่เป็นเรื่องใหม่ และเป็นคุณประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบ้าง จากการใช้โปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจสอบเอกสารจำนวน 33 หน้า ปรากฏถ้อยคำ “สถาบันอุดมศึกษาเอกชน” จำนวน 18 ตำแหน่ง หรือหากคำนวณแบบสมมุติเฉลี่ยเป็นสัดส่วนง่ายๆ หากหน้าละ 1 ตำแหน่ง ก็ปรากฏเพียง 18 หน้า จากจำนวนเอกสารทั้งหมด 33 หน้า (หมายเหตุ บางหน้ามีมากกว่า 1 ตำแหน่ง)

ที่กล่าวมาข้างต้นก็เพียงเพื่อต้องการแสวงหาที่ยืน หรือจุดยืนในการทำหน้าที่ตามบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา (“สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน-นิยามจากร่างกฎหมาย มาตรา 4) ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่ ได้วางกรอบกติกา หรือบทบาทใหม่ และรวมถึงการให้สิทธิอะไรแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตรับใช้สังคมเฉกเช่นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … มาตรา 8 ความว่า “การอุดมศึกษา มีหลักการสำคัญในการจัดการอุดมศึกษา ดังต่อไปนี้ (1) หลักความรับผิดชอบต่อสังคม (2) หลักเสรีภาพทางวิชาการ (3) หลักความเป็นอิสระ (4) หลักความเสมอภาค (5) หลักธรรมาภิบาล”

Advertisement

หากได้นำร่างมาตรา 8 ดังกล่าวไปศึกษาเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 จะพบว่ากฎหมายอุดมศึกษาเอกชน มิได้มีการกล่าวถึงหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษา แต่มีการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์เดิมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดูเหมือนจะน้อยเกินไปสำหรับหลักการใหม่ของการอุดมศึกษา ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … มาตรา 8 ทำให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องมีบทบาทใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การวางแนวปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือหลักความผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ซึ่งไม่ได้แสดงชัดในกฎหมายสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

แต่ความเป็นจริงในอีกแง่มุมหนึ่ง บางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยการกำหนดพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มากกว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดมานานแล้ว เช่น University Social Responsibility ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมหรือโครงการเกี่ยวกับ USR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดหลายปีแล้ว
ในเรื่องหลักเสรีภาพทางวิชาการ ตามร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. … สร้างความท้าทายใหม่ต่อบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่งที่มีต่อผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ดังความในร่างมาตรา 12 ดังนี้

มาตรา 12 บุคลากรสายวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการสอน และการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการตามหลักวิชาการ

Advertisement

เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย หน้าที่ของปวงชนชาวไทย และศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

ในร่างกฎหมายใหม่นี้ มีการกำหนดนิยาม บุคลาการสายวิชาการไว้ให้หมายความว่า ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ นักวิจัย หรือบุคลากรสายวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
แม้อาจมีความคิดต่าง ที่มองว่าความเสมอภาคระหว่างผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ควรมีเหมือนกัน เพราะถือเป็นผู้ปฏิบัติงาน ต่างกันเพียงตำแหน่งเท่านั้น คงไม่สามารถเปรียบเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากร่างกฎหมายนี้ได้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วจริง ความแตกต่างระหว่างบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ก็ย่อมต้องมีต่อไปในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในลักษณะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา
ตามร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …
มาตรา 38 สถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินการให้คณาจารย์และบุคลากรอื่นมีความรู้เท่าทัน ความก้าวหน้าทางวิชาการในโลก พัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยให้ทันสมัยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ทางวิชาการ ความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม และส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตผลงานทางวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ

คำว่า สถาบันอุดมศึกษาตามร่างมาตรา 38 นี้ ย่อมหมายความรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วย คำว่า “ต้อง” หากพูดคุยแบบภาษากฎหมายบางคนจะบอกว่าคือสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ทำนะ ไม่ทำไม่ได้
คุณประโยชน์ของร่างมาตรา 38 สำหรับผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น น่าจะแสดงให้เห็นได้ว่า การผลิตผลงานวิชาการ ย่อมไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือประโยชน์ส่วนตัวของคณาจารย์ ผู้ที่ทำ แต่เป็นบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำครับ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ถนัดงานสายวิชาการบางคน อาจแสดงความไม่เห็นด้วย กับการให้ค่าน้ำหนักงานกับผลงานทางวิชาการ เวลาประเมินผลงาน โดยมองเรื่องการผลิตผลงานวิชาการเป็นเรื่องที่เจ้าของผลงาน ได้ประโยชน์มากกว่า …?

อีกประเด็นที่น่าจะท้าทายบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาก็คือ “การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นหารายได้ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเป็นหลักจะกระทำมิได้ ในกรณีที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาเห็นว่าหลักสูตรใดมีลักษณะดังกล่าว อาจมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาแก้ไขหรือ ยุติการกระทำดังกล่าวได้” (ร่างมาตรา 39 วรรคท้าย) คำถามก็คือ ลักษณะเช่นใดที่เข้าข่ายมุ่งเน้นหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือเอกชน มีการเก็บค่าหน่วยกิตจากนักศึกษา ในบางหลักสูตรเช่น ป.เอก จะของรัฐหรือเอกชน ตัวเลขจำนวนเงินที่นักศึกษาต้องชำระ เกือบจะไม่แตกต่างกันด้วยซ้ำ กรณีร่างมาตรา 39 วรรคท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ จะมีปัญหาเรื่องของการใช้ดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน หากจะบอกว่ามีกำไรได้ จะกำไรได้เท่าไรถึงจะถือว่าไม่มุ่งเน้นหารายได้ ตรงนี้คงจะเป็นคำถามต่อด้วยคำถามได้อีกเยอะนะครับ

ท้ายสุดนี้ ไหนๆ จะมีกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษาฉบับใหม่กันแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งในการเรื่องการจัดการอุดมศึกษา ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนน่าจะมีที่ยืนในการแสดงบทบาทในการจัดการศึกษาของเยาวชนไทย ที่ไม่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนะครับ

นพดล ปกรณ์นิมิตดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image