คูปองครู….หน้าที่หรือสิทธิประโยชน์

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาครู หรือคูปองพัฒนาครู เข้าเสนอผลงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับคำชื่นชมว่า นี่คือการปฏิรูปการศึกษาจริงๆ ทำให้ครูมีสิทธิได้รับคูปองเพื่อไปพัฒนาตนเอง เดิมกระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณพัฒนาครูปีละ 9,000 ล้านบาท โดยส่วนกลางเป็นผู้จัด ปัจจุบันโครงการนี้ใช้งบปีละ 2,000 ล้านบาท พัฒนาครูกว่า 3 แสนคน มีหน่วยจัดอบรมกว่า 276 หน่วย มีหลักสูตรกว่า 1,000 หลักสูตร อบรมทั่วประเทศใน 50 จังหวัด

“ครูที่เข้ารับการอบรมยืนยันกับนายกฯด้วยว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับสิทธิจากคูปองพัฒนาครูไปเปลี่ยนแปลงการสอน “นพ.ธีระเกียรติย้ำกับผู้สื่อข่าว

ครูเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก มีหลักสูตรจำนวนมาก เกิดหน่วยจัดอบรมจำนวนมาก ล้วนตัวชี้วัดเชิงปริมาณ โดยมีผลประโยชน์ที่ครูได้รับ นับชั่วโมงที่ผ่านการอบรมไปประกอบการยื่นขอวิทยฐานะ

เหตุจากการนำเอาหลักการอบรมพัฒนาซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติ ไปผูกกับวิทยฐานะ จึงทำให้กลายเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ ที่ควรได้รับเพื่อความเสมอภาค ตัวชี้วัดความสำเร็จเชิงคุณภาพคือผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนซึ่งควรเป็นประเด็นหลัก จึงกลายเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

Advertisement

ทั้งๆ ที่ตัวชี้วัดดังกล่าวนี้ต่างหากจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าหลังจากครูผ่านการอบรมพัฒนาแล้ว กระบวนการเรียนการสอน การจัดความสัมพันธ์กับนักเรียนเปลี่ยนไป ทำให้ครูรักเด็ก เด็กรักครูมากขึ้น เด็กมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตั้งคำถาม กล้าแสดงออก มีความสุขกับการเรียน อยากมาโรงเรียนและมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ตัวชี้วัดในทางวิชาการ ผลการประเมิน ทดสอบความรู้ ความสามารถทั้งระดับชาติ จากคะแนนเฉลี่ย O-NET, I-NET, N-NET, B-NET, V-NET, GAT/PAT จนถึงระดับนานาชาติ อย่าง PISA มีแนวโน้มเป็นอย่างไร หลังจากดำเนินโครงการพัฒนาครู คูปองครูต่อเนื่องมาแล้ว เพราะครูพูดเสมอใช่หรือไม่ว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเด็กคือความสุขที่แท้จริงของคนเป็นครู ส่วนผลที่เกิดขึ้นกับครู ได้ปรับวิทยฐานะไปแค่ไหนควรเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

เมื่อหลักการของโครงการเบี่ยงเบนกลายเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลต้องดำเนินการต่อเนื่องทุกปีหรือไม่ เพื่อความเสมอภาคของครูทุกระดับ ทุกประเภท ทุกคนต้องได้รับสิทธิประโยชน์นี้และใช้สิทธิตลอดไปทุกปี หรือกี่ปีควรพัฒนาครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่มีการกำหนดกรอบขอบเขตที่แน่นอนชัดเจน ขึ้นกับนโยบายและกำลังความสามารถทางการเงิน

ฉะนั้นควรมีการวางกรอบ ขอบเขต และทิศทางของโครงการเพื่อให้การพัฒนาตรงตามเป้าหมายและสภาพปัญหาที่แท้จริง ครูคนไหน สาขาใด ควรพัฒนา และพัฒนาเรื่องอะไร ระหว่างความรู้กับทักษะการเรียนการสอน และทักษะอื่นๆ ที่ควรมี กลุ่มครูที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอย่างไร รวมถึงจัดลำดับความสำคัญระหว่างความต้องการของครูเป็นหลัก กับความต้องการของโรงเรียน ของนักเรียนเป็นหลัก

ทิศทางการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นการตอบสนองความต้องการของครูเป็นรายบุคคล ซึ่งควรพิจารณาถึงการพัฒนาเชิงระบบ มีกระบวนการพัฒนารูปแบบอื่นที่ส่งผลถึงคุณภาพการเรียน คุณภาพนักเรียน ไม่น้อยไปกว่ากัน นำมาใช้ขยายผลคู่ขนานกันไปให้กว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่โรงเรียนนำร่อง ทดลองแล้วก็เลิก

อาทิ ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาครู ด้วย National Professional Teacher Platform (NPTP) ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนเครือข่ายครู เสริมพลังการพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งใช้งบประมาณสร้างระบบและนำมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนา เพียง 20 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณคูปองครูรายหัวปีละ 2,000 ล้านบาท ต่างกันลิบลับ

หรือรูปแบบการพัฒนาครูโดยใช้แนวทางโครงงานฐานวิจัยของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่กำลังจัดตั้งขึ้นใหม่หลายจังหวัด นำไปใช้ในการเรียนการสอน ผ่านการทดลองประเมินผลให้เห็นแล้วว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งครูและเด็กอย่างชัดเจน

หรือโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program) แนวทางที่จะช่วยพัฒนาครูเชิงระบบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้การสนับสนุนอยู่บ้างแล้ว

หรือโครงการพัฒนาการคิดชั้นสูง ที่สถาบันวิจัยพัฒนาวิชาชีพสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมชั้นเรียน วิธีการแบบเปิด ให้ครู นักศึกษาฝึกงาน ร่วมกันพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง

หากเจียดเงินบางส่วนจากโครงการคูปองครู หรือหาจากงบประมาณส่วนอื่นที่จำเป็นน้อยกว่า มาเพิ่มให้กับการพัฒนาครูเชิงระบบเหล่านี้ ของดีๆ ยังมีอีกหลายนวัตกรรมที่ควรจะได้รับการต่อยอด ล้วนน่าศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์กับแนวทางที่ดำเนินมา เพื่อกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาครูให้เกิดความยั่งยืนและได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปปีละหลายพันล้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image