สงกรานต์/สงคราม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมคงไม่ได้เป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตในเรื่องของเทศกาลสงกรานต์ว่ามันเป็นสถานการณ์ที่เป็นเหมือนกับ “สถานการณ์พิเศษ” หรือสถานการณ์ยกเว้น (บทความของปราบต์ บุนปาน เมื่อหลายวันก่อน (สงกรานต์-คาร์นิวัล) และของมุกหอม วงษ์เทศ เมื่อหลายปีก่อน (สงกรานต์แห่งความแปลกแยก) ยังเป็นบทความที่นึกถึงอยู่เสมอ)

แต่อยากจะบอกว่าภายใต้สถานการณ์พิเศษในช่วงสามวันห้าวันนี้มีความน่าสนใจ เพราะมันเป็นสถานการณ์พิเศษที่อยู่ภายในสถานการณ์พิเศษอีกอันหนึ่งมาสองสามปีแล้วนั่นแหละครับ

สงกรานต์นั้นเป็น “วันหยุด” ที่พิเศษกว่าวันหยุดปกติ และมีความหมายที่หลากหลายกับผู้คนที่แตกต่างกัน

ส่วนใหญ่ก็คือ กลับบ้าน ไปเที่ยว หรือพักผ่อน

Advertisement

และที่สำคัญก็คือ มีเรื่องของการเล่นน้ำสงกรานต์ และการเฉลิมฉลองใหญ่ที่มีความมึนเมาประกอบกันเป็นปกติ หรือเป็นความไม่ปกติที่สุดแสนจะปกติ

ใช่ว่าทุกคนนั้นจะต้องเปียก เพราะหลายคนก็บอกว่าเราหลบอยู่ในบ้านก็ไม่เปียก หรือถ้าออกไปนอกบ้านก็จะไม่ถือโทษโกรธกัน เพราะรู้ว่ามันเป็นสถานการณ์ยกเว้น

จริงหรือเปล่าที่ไม่ถือโทษโกรธกัน? ผมคิดว่า ในวันนี้หลายๆ คนน่ะไม่ชอบ แต่รู้สึกว่าโกรธไม่ได้ โกรธไปก็ไม่มีประโยชน์ และพยายามหากิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับสงกรานต์ก็ยังพอได้อยู่ มากกว่าที่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องของการไม่ถือโทษโกรธกัน เพียงแต่รู้ว่าไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องเอาตัวรอดเสียมากกว่า เช่นมีบ้านก็หลบในบ้าน มีตังค์ก็ไปเที่ยวเมืองนอก อย่างนี้เป็นต้น

Advertisement

ส่วนหนึ่งเพราะว่า กิจกรรมสงกรานต์นั้นมันเป็นสถานการณ์พิเศษ และสถานการณ์ยกเว้นที่การอยู่รอดก็พอเป็นไปได้ แม้ว่าการต่อรองจะไม่ง่ายนักก็ตาม

กลับมาเรื่องสงกรานต์ในฐานะสถานการณ์พิเศษกันต่อครับ ลองนึกให้ขำเล่น ถ้าฝรั่งที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องเมืองไทยเลย เกิดจับพลัดจับผลูต้องเดินทางมาเมืองไทยในช่วงสงกรานต์ เขาคงจะตกใจไม่น้อย ว่ามีคนถือปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่เดินกันบนถนน ราวกับฉากแบบภาพยนตร์ไล่ล่าซอมบี้ หรือภาพยนตร์ดีสโทเปีย (ทั้งที่เป็นยูโธเปียของคนอีกจำนวนมาก)

ตรงข้ามกับอีกหลายความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่นับวันรอจะมาเมืองไทยในช่วงนี้ เพราะจะว่าไปแล้ว แม้ว่าความรู้ใหม่ๆ จะบอกให้เรารู้ว่าสงกรานต์ไม่ใช่ของไทย แต่คงไม่มีคนปฏิเสธว่าสงคราม เอ้ย สงกรานต์ในไทยนี่มันส์โคตรๆ ที่สุดในโลก

ปีนี้เลยเป็นอีกปีหนึ่งที่ผมออกไปตระเวนชมเหตุการณ์สงกรานต์ทั่วพระนคร แล้วก็พบความน่าสนใจอยู่หลายอย่าง

เช่น เห็นฝรั่งเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม เดินถือปืนฉีดน้ำไปตามท้องถนน เหมือนหนังซอมบี้ล้างโลกดังที่กล่าวถึงไปแล้ว ซึ่งทำให้ผมคิดว่า จะไปหาบรรยากาศแบบนี้ได้ที่ไหนอีกในโลก ที่สามารถฉีดน้ำใส่คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่บนท้องถนนได้

ทั้งที่ควรจะออกกฎกันได้แล้วว่าเราสามารถสาดน้ำหรือเล่นน้ำได้เฉพาะกับคนที่ประกาศเล่นน้ำกับเราด้วย หรือมีอาวุธด้วยเท่านั้น

ฮ่าๆ คิดไปก็ดูฟุ้งซ่าน บ้าอำนาจ และกฎหมายนิยมเอามากๆ เพราะความห่วงใยที่มากเกินเหตุแบบนี้เป็นเส้นที่บางเบาเข้าสู่อาการดัดจริตชนิดหนึ่งหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ

หรือประเภทที่ว่า ต้องเล่นน้ำในเขตที่กำหนดไว้ เช่นถนนที่ปิดแล้ว อย่างสีลม หรือถนนข้าวสาร

นั่นก็แบบหนึ่ง แต่ถ้าจะเอาสนุกอีกแบบ คงจำได้ว่าความสนุกของสงกรานต์ไทยนั้นไม่ใช่แค่ที่ถนนหรือในหมู่บ้านตามต่างจังหวัด แต่สงกรานต์ในกรุงเทพฯนั้น สีสันสุดๆ อีกแบบหนึ่งก็คือการปิดซอยเล่นสงกรานต์นั่นแหละครับ

“ซอย” คือความสนุกของสงกรานต์ไปอีกแบบ สนุกกว่าถนน เพราะมันมีความเร็วของการสาด และมีการคาดเดาและเจรจากันในการเล่นน้ำว่าตกลงจะต้องสาดทุกคนไหม

ใครที่เคยผ่านสงกรานต์ในกรุงเทพฯ จะพบว่าถนนใหญ่นั้นเล่นกันน้อย เว้นแต่จะให้ไปเล่นบางถนนที่ปิดหัวท้ายถนนแล้วมีตำรวจมาดูแล แถมมีคอนเสิร์ตและกิจกรรมอื่นๆ

อีกอย่างก็คือ ถนนนั้นมีหลายเลน ถ้าไม่มีการห้ามเล่นอยู่แล้ว (เท่าที่จำได้) ก็จะมีเลนให้หลบน้ำได้

แต่ซอยนั้นมันคือสถานการณ์บังคับ ว่าง่ายๆ ก็คือ ในวันธรรมดาก็อาจเจอด่านตำรวจ แต่ในช่วงสงกรานต์นี่เจอด่านน้ำครับ

ที่สนุกก็คือ ถ้านั่งสองแถว ตุ๊กตุ๊ก หรือมอเตอร์ไซค์นี่ รับรองว่าโดนแน่ๆ แต่อาจจะต่อรองกันได้ หรือไม่ก็ต้องทำใจ

ความสนุกว่าซอยนั้นทำไมมีคนเล่นสงกรานต์เยอะ ก็คงต้องตอบว่ามีบ้านเรือนที่เป็นตึกแถว (ต่อสายยางมาเล่นน้ำได้) ทำให้มีคนพักอาศัยอยู่มาก และที่สำคัญคือ มีร้านค้าที่มีลูกจ้างอยู่ไม่น้อยที่ไม่ได้กลับบ้าน เพราะเป็นธุรกิจบริการ จึงมีลูกจ้างไม่มาก บางทีก็ไม่อนุญาตให้กลับ หรือบางทีเดี๋ยวจะปิดหลังสงกรานต์แทน

ลูกจ้างเหล่านี้แหละครับ เป็นกำลังสำคัญในการเล่นสงกรานต์ในกรุงเทพฯ เคียงคู่กับเด็กๆ ที่ออกมาเล่นสงกรานต์

ที่สนุกคือ แม้ว่าตัวโตอาจจะละเว้นการสาดน้ำเราถ้าขอกัน แต่เจ้าตัวเล็กนี่ไม่มีทางยอมละครับ

โดยเฉพาะเจ้าตัวเล็กนี่จะสนุกกับการสาดรถยนต์เป็นพิเศษ ถ้าตัวโตสนุกกับการสาดน้ำมอเตอร์ไซค์

บางทีสัญญาณบางอย่างก็เป็นที่รับรู้กันนะครับ เช่นพวกถอดเสื้อขี่รถ ประแป้งมาแล้ว สวมเสื้อลายดอก ตัวเปียกมาแล้ว หรือไม่ใส่หมวกกันน็อก แล้วขี่ชะลอๆ มา อันนี้แน่ใจว่าสาดได้ครับ เพราะเขารับรู้กัน (มอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคันก็ใจดี จอดให้ลูกค้าถูกสาดตามจุดต่างๆ ในซอยครับ)

ดังนั้น การบังคับให้ใส่หมวกกันน็อกในช่วงสงกรานต์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะมันเป็นช่วงที่คนเปียกได้ แต่หมวกเปียกไม่ได้ครับ คนขี่รถเขาเข้าใจดีว่าการซักหมวกไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

ความแตกต่างในปีนี้กับสงกรานต์ทั่วๆ ไปเห็นจะมีอยู่ในเรื่องของการที่พยายามจะวางกฎระเบียบจำนวนมากให้กับการเล่นสงกรานต์ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ต้องมาถามว่าได้ผลจริงไหม และถ้าไม่ได้ผลนั้นเราจะปรับปรุงอย่างไร หรือนี่คือความปกติในสภาวะที่หลายคนมองว่ามันไม่ปกติ

ชาวบ้านบ่นว่าเล่นน้ำได้ไม่ดึกนัก เพราะมีทหารมาขอ แต่ไล่ถามดูแล้ว เขาก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนมากนัก เพราะว่าได้เล่นแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ได้เล่น (ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ต้นทุนในการลุกขึ้นมาโวยวายมันสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้โวยวายอะไร ส่วนหนึ่งเพราะเล่นกันมาตั้งสามวัน)

มีข่าวท่านผู้นำออกมากังวลใจเรื่องการแต่งตัวของผู้หญิงในช่วงการเล่นสงกรานต์ เพราะท่านอยากจะให้เกิดความสวยงาม แต่ข่าวเด็ดคือไปจับนักท่องเที่ยวชายถอดเสื้อเล่นสงกรานต์ และมีข่าวนักท่องเที่ยวหญิงต่างชาติแต่งตัวไม่เรียบร้อย แถมท้ายด้วยข่าวจับคนไทยแต่งตัวไม่เหมาะสมประปราย ไม่ใช่ข่าวใหญ่อะไร

ข่าวสถิติอุบัติเหตุก็รายงานเหมือนกันทุกปี มีการป้องกัน และก็มีอุบัติเหตุอยู่ในปริมาณไล่เลี่ยกันทุกปี จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หรือมันน่าจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าความประมาทและความมึนเมาเท่านั้น อาทิ ระบบการออกแบบถนน หรือระบบสัญญาณต่างๆ

คำถามก็คือ เราเคยมีองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะจากภาคประชาชนที่ริเริ่มตรวจสอบการติดตั้งสัญญาณจราจร และออกแบบถนน รวมทั้งตั้งกรวยกันเองของหน่วยงานย่อยตามถนนว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดนี้ถูกตามหลักสากลหรือไม่? รวมทั้งการออกแบบถนนนั้นได้ให้ความสำคัญกับสิทธิและความต้องการของชุมชนรายทางหรือไม่

หรือการออกแบบถนนนั้นให้หลักสำคัญไปอยู่ที่ผลประโยชน์ของคนที่ขับรถด้วยความเร็วข้ามผ่านชุมชนตามละแวกทางไปเรื่อยๆ มากกว่าเรื่องของคนแถวนั้นว่าเขาสามารถกลับรถได้ไหม เขาต้องไปกลับรถไกลเกินไปไหม

อย่างไรก็ดี ในปีนี้เรื่องการรณรงค์และปราบปราบการขับขี่ที่อันตรายนั้น เพิ่มประเด็นเรื่องของเมายึดรถ และส่งคนไปเฝ้าห้องดับจิต ซึ่งเสียงของการตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ขับขี่ และศพและญาติของคนตายนั้นก็เบาแสนเบา

เบาจนน่าตกใจว่า ถ้าเรามองว่า สภาพยกเว้นนั้นมันเป็นการสร้างอำนาจกดทับจากภายนอก เอาเข้าจริงแล้ว สภาพยกเว้นมันอยู่ได้เพราะการกดทับจากภายในเองด้วยหรือเปล่า?

ทำนองว่า เราก็รู้สึกว่าสภาวะยกเว้นมันก็คือ สภาวะยกเว้น ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปเอง ขณะที่บางคนก็เฝ้ารอให้สภาวะยกเว้นนี้กลับมาใหม่อีกในทุกๆ ปีตามวงรอบวัฏจักรของมัน และเมื่อถึงเวลาที่สภาวะยกเว้นนี้กลับมา หลายคนก็จะได้สนุกกับมันได้อีกระยะหนึ่ง

เหมือนกับที่เรารู้สึกว่า สงกรานต์คือวันหยุดที่ยาวที่สุด แต่ก็วุ่นวายในระดับหนึ่งเห็นจะมากที่สุดถ้าเทียบกับวันหยุดอื่นๆ

จนบางทีก็เหมือนเรานั่งดูสถานการณ์พิเศษบางอย่างนั่นแหละครับ มันง่ายที่จะอธิบายว่ามันเป็นสงครามกับบางอย่าง เพราะเวลาเราพูดเรื่องสงครามมันก็เต็มไปด้วยการยกเว้น และความพิเศษ หรือความไม่ปกติที่เกิดมาเสียจนเป็นปกติ จนบางทีเราก็รู้สึกว่าเราคงไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก สู้เอาตัวรอดไปวันๆ เห็นจะดีกว่า

ขณะที่บางคนนั้นเห็นว่า กฎเกณฑ์อะไรก็ไม่ต้องไปสนใจมัน เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง รวมกระทั่งบางคนอาจจะรู้สึกว่าสถานการณ์สงครามมันต้องสิ้นสุดลงด้วยอำนาจที่ใหญ่กว่า ซึ่งไปๆ มาๆ ก็อาจจะเป็นพวกที่เชื่อว่าสามารถสร้างสันติภาพและความสงบได้ด้วยอำนาจพิเศษที่หนักขึ้นไปอีก

แล้วสงกรานต์ก็ผ่านไปอีกปีหนึ่งครับ …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image