บทนำมติชน : ใช้ม.44แก้ไพรมารี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องการจัดไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง โดยกล่าวว่า เรื่องไพรมารีโหวตที่กำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ ใช้ในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.จะต้องมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมายให้ทำได้ในระดับหนึ่ง ส่วนวันหน้าก็ควรจะทำได้ 100% ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ทุกอย่างเดินตามโรดแมปเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเหมาะสมแล้ว ทั้งที่เวลายังยืดออกไปอีกได้ แต่ตนก็ลดให้น้อยที่สุด ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เป็นอำนาจของตนเอง ก็จะใช้เพื่อแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างที่ทุกคนต้องการ หากยื่นมาเมื่อไหร่ก็จะเซ็นเมื่อนั้น

การตัดสินใจใช้มาตรา 44 แก้ปัญหานี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมถึงนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ที่กล่าวว่า แม้จะมีกระบวนการแก้กฎหมายที่อาจเร่งขั้นตอนได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาเพราะมีขั้นตอนต่างๆ โดยนายสุรชัยกล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องไม่ทิ้งหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือกตั้ง การทำไพรมารีโหวต หากไม่ทันอาจลดสัดส่วนเงื่อนไขของสาขาพรรค หรือลดสัดส่วนการเป็นเงื่อนไขของตัวแทนพรรคลง ขยายกรอบเวลาให้ยาวขึ้น จากรายเขตเป็นรายจังหวัดหรือรายภาค เป็นรายละเอียดที่ต้องนำมาศึกษากัน หากต้องแก้ไขตามกระบวนการกฎหมาย คงต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรา 77

สุดท้ายแล้ว คสช.และแม่น้ำ 5 สายจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นได้แก่ การเขียนและออกกฎหมาย โดยไม่ยึดโยงสภาพความเป็นจริงว่า ผู้ปฏิบัติจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันการกำหนดให้ปฏิบัติในกรอบเวลาหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่ให้เวลาในการปฏิบัติ ดังที่ทราบกันว่าคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ยังใช้บังคับตลอดเวลา แม้ว่ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติพรรคการเมืองแล้ว กลายเป็นสภาพที่ย้อนแย้งกันอยู่ในตัวเอง อันเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในการเมือง และอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image