กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม (20) อิน-จัน ได้รับเชิญไปพบประธานาธิบดีลินคอล์น

อับราฮัม ลินคอล์น ทนายความผู้ซื่อสัตย์ ของรัฐอิลลินอยส์จากแดนไกลโพ้น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งใน 4 มีนาคม พ.ศ.2404 ซึ่งแฝดอิน-จันเป็นพลเมืองสหรัฐ มีครอบครัวใหญ่ มีลูกรวมกัน 2 ท้อง 21 คน ปักหลักอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา บรรพบุรุษสยามคู่นี้และลูกชาย 2 คนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองตรงนี้เต็มตัวครับ

ผู้เขียนขออนุญาตแทรกประวัติศาสตร์อันโศกสลดของอเมริกาที่เรียกว่า “สงครามพี่น้องฆ่ากันเอง” เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ครับ

หลังจากสหรัฐอเมริกาชนะสงครามกับอังกฤษ ประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในปี พ.ศ.2324 บรรดารัฐต่างๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มรัฐที่ไม่ส่งเสริมการมีทาสซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรม

Advertisement

กลุ่มรัฐที่ส่งเสริมการใช้ทาสซึ่งอยู่ทางตอนใต้ มีรายได้หลักจากการเกษตร ที่ต้องใช้ทาสเป็นหลัก

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มรัฐทางภาคเหนือและกลุ่มรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกามีมาต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ กรณีทาสเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งในความขัดแย้งเชิงนโยบาย ระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ทันทีที่ทราบผลการนับคะแนนว่าลินคอล์นได้รับเลือกไปนั่งเป็นเบอร์หนึ่งของทำเนียบขาว กระแสต่อต้านประธานาธิบดีที่ไม่สนับสนุนการมีทาสคนนี้ปะทุขึ้นเฉียบพลันทันใจ

แฝดอินจัน

20 ธันวาคม พ.ศ.2403 สภาแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนาลงมติเป็นเอกฉันท์ เป็นรัฐหัวหมู่ทะลวงฟัน ประกาศขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐแรก รีบจัดตั้งกองทหารของรัฐ ต่อมารัฐจอร์เจีย รัฐมิสซิสซิปปี รัฐเท็กซัส รัฐฟลอริดา รัฐอลาบามา และรัฐลุยเซียนา ที่อยู่ทางใต้อีก 6 รัฐ รวมเป็น 7 รัฐที่มีนโยบายต้องการมีทาส รวมตัวกันประกาศแยกตัวจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America หรือ Confederacy) เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2404

พูดง่ายๆ คือ 7 รัฐนี้จับมือกันตั้งเป็นประเทศใหม่ มีเจฟเฟอร์สัน เดวิส (Jefferson Davis) เป็นประธานาธิบดี

ส่วนรัฐทางเหนือที่มีลินคอล์นเป็นประธานาธิบดี เรียกว่าสหภาพ (Union)

12 เมษายน พ.ศ.2404 กองทหารของรัฐเซาท์แคโรไลนาที่เพิ่งตั้งมา 2 สัปดาห์ก็เข้าตีค่ายทหารฝ่ายเหนือที่ฟอร์ตซัมเตอร์ (Fort Sumter)ในรัฐเซาท์แคโรไลนา ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง

ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศระดมพลฝ่ายเหนือสร้างกองทัพให้ได้ 150,000 นาย และประกาศว่ารัฐทางใต้เป็นกบฏ

รัฐทางใต้อีก 4 รัฐที่ยังเก้ๆ กังๆ ยังไม่ได้เลือกข้างคือ รัฐเวอร์จิเนีย รัฐนอร์ธแคโรไลนา รัฐเทนเนสซี และรัฐอาร์คันซอ ตัดสินใจเลือกข้างกระโดดเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐ หรือ Confederacy

สรุปแล้วรัฐทางใต้ 11 รัฐทำสงครามกับรัฐทางเหนือ 23 รัฐ

รัฐฝ่ายใต้ 11 รัฐประกาศชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับรู้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐทางใต้ที่จะขอแยกตัวออก เพราะความเป็นรัฐมีความเก่าแก่กว่าความเป็นสหรัฐ (Union) และการเลิกทาสมิใช่สาเหตุของสงคราม

ปู่ทวดอิน-จันของสยามที่ไปเป็นพลเมืองสหรัฐอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา มีทาสนิโกรใช้งานในไร่ยาสูบราว 30 ชีวิต และสนับสนุนการมีทาส เป็นพลเมืองสังกัดรัฐนอร์ธแคโรไลนาเลยต้องเข้าไปมีเอี่ยว มีส่วนได้ส่วนเสียกะเค้าด้วย

เกิดความสับสนอลหม่าน เพราะคนทางใต้ไปเป็นทหารฝ่ายเหนือ คนทางเหนือลงมาเป็นทหารในกองทัพฝ่ายใต้

ทหารฝ่ายเหนือมีใจให้กับฝ่ายใต้ ส่วนทหารฝ่ายใต้ปันใจให้ทหารฝ่ายเหนือ รู้หน้าไม่รู้ใจ

ช่วง 2 ปีแรกของสงครามกลางเมืองในอเมริกา ครอบครัวบังเกอร์ไม่ได้รับผลกระทบอะไร สนามรบอยู่ห่างออกไปไกลโข ประชาชนทั้งหลายมีหน้าที่อย่างเดียวคือให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่กองทัพฝ่ายใต้ ต้องซื้อพันธบัตร เสียภาษีเพิ่มแบบโหดระห่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ผู้คนทางใต้ต้องอยู่แบบฝืดเคือง อดอยาก ขาดแคลนแบบไม่เคยประสบมาก่อน

นี่เป็นสงครามที่คนอเมริกันรบกันเองนะครับ ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เป็นตำนานก้องโลกพี่น้องฆ่ากันเอง

14 กันยายน พ.ศ.2406 การระดมพลเด็กหนุ่มของกองทัพฝ่ายใต้มีชื่อคริสโตเฟอร์ เร็น บังเกอร์ (Christopher Wren Bunker) ลูกชายคนโตอายุ 18 ปีของแฝดจันมีชื่อเข้าไปอยู่ในบัญชีเรียกพลด้วย โดยเขาได้รับการบรรจุในกองร้อยทหารม้าที่ 1 กองพันทหารม้าที่ 37 ในรัฐเวอร์จิเนีย ทหารม้าขี่ม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกันคนแรก เข้าทำการรบในหลายสมรภูมิ

15 มีนาคม พ.ศ.2407 คริสโตเฟอร์กลับมาพักที่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่เมาท์แอรี่ ออกจากบ้านอีกครั้งกลับไปที่หน่วยในแนวหน้า ขาดการติดต่อไม่มีใครทราบว่าไปอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร

4 สิงหาคมปีเดียวกัน เพื่อนคริสโตเฟอร์นำม้าของคริสโตเฟอร์กลับมาที่บ้านโดยไม่มีเจ้าของขี่มาด้วย นักรบหนุ่มทหารม้าลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน หายไปไร้ร่องรอย ไม่ทราบชะตากรรม

ทุกคนที่บ้านหัวใจแตกสลายฟูมฟายโดยไม่ต้องอธิบาย ความโศกเศร้าเข้าครอบคลุมครอบครัวบังเกอร์

ในขณะที่ยังเสียใจกับคริสโตเฟอร์ที่สาบสูญ อีก 3 เดือนต่อมา สตีเฟ่น เดคาเตอร์ บังเกอร์ (Stephen Decartur Bunker) ลูกชายของแฝดอินมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์พอดี จึงถูกเรียกเข้าประจำหน่วยทหารม้าอีกคน ตามหลังคริสโตเฟอร์พี่ชายที่หายไปในสนามรบ

ตระกูลบังเกอร์ส่งลูกชาย 2 คนเป็นทหารม้า ควบม้ายิงปืน ใช้ดาบเข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายใต้

ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ เข้าสู่สนามรบ แต่งเครื่องแบบสวยสด ตีกลองเป็นจังหวะ มีนายทหารสัญญาบัตรถือกระบี่นำแถวนักรบแบบองอาจ ทหารเดินแถวหน้ากระดานเข้าหากันทั้งสองฝ่าย เล็งปืนเข้าใส่กันยิงกันคนละนัด แล้วต้องรีบบรรจุกระสุนใหม่ทันทีเพื่อจะยิงนัดต่อไป ใครตายก็ทิ้งอยู่ตรงนั้น ที่เหลือเดินหน้าต่อไป ยิงกันแบบไม่ต้องหมอบ ไม่ต้องหลบ ทหารทั้งสองฝ่ายตายในสนามรบเหมือนมดเหมือนปลวกชีวิตช่างไร้คุณค่า คิดอย่างเดียวคือฆ่ามันให้หมด เพื่อชาติอันเป็นที่รัก

ส่วนทหารม้า ชายชาติทหารทั้งสองฝ่ายนั่งบนหลังม้า ควบม้าศึกเข้าหากัน ยิงปืนใส่กันแบบห่าฝน ใครดีใครอยู่ แล้วรีบชักดาบออกมาแทนปืน พุ่งเข้าใส่กันดุเดือดเลือดพล่าน ไม่มีการถอยหนี ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร

 

แฝดสยาม

ท่านผู้อ่านลองหาภาพยนตร์ดูนะครับ คนรุ่นหลังสร้างหนังเหตุการณ์ตรงนี้ไว้หลายเรื่อง เพื่อเรียนรู้ความพินาศ ความสูญเสีย เป็นบาดแผลในชีวิตของชนชาติอเมริกัน เหวอะหวะเกินคำบรรยาย

ท่ามกลางความทุกข์ ห่วงหาลูกชาย 2 นักรบที่เข้าสู่สงคราม อยู่มาวันหนึ่งโดยไม่คาดฝัน ครอบครัวบังเกอร์ได้รับจดหมายจากคริสโตเฟอร์เล่าว่า ตอนนี้เขาโดนทหารฝ่ายเหนือจับเป็นเชลยอยู่ที่ค่ายเชส (Chase Camp) ห่าง 4 ไมล์ทางตะวันตกของเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ (Ohio) ขอให้ที่บ้านส่งเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า อาหาร และยารักษาโรคให้ด้วย มีนักโทษเสียชีวิตจำนวนมากจากโรคฝีดาษ อหิวาต์ และคมกระสุน

5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2408 ในช่วงปลายสงคราม มีการประกาศแลกเปลี่ยนตัวเชลยนับพันคนระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ หนึ่งในนั้นคือคริสโตเฟอร์ ที่ได้รับการปล่อยตัว และต่อมาก่อนสงครามเลิก คริสโตเฟอร์ได้กลับบ้านที่เมาท์แอรี่ คริสโตเฟอร์ไม่ตาย

4 เมษายน พ.ศ.2408 สงครามกลางเมืองในอเมริกาที่ดำเนินมา 4 ปีสงบลงเมื่อนายพล โรเบิร์ต อี. ลี แม่ทัพของฝ่ายใต้ยอมแพ้ต่อนายพลยูลิซิส เอส.แกรนท์ ณ Appomattox Court House ในรัฐเวอร์จิเนีย

ข่าวดีต่อมา สตีเฟ่น ลูกชายคนโตของแฝดอินเป็นอีกคนที่เข้าไปเป็นทหารของฝ่ายใต้ และขาดการติดต่อกับทางบ้านก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเช่นกัน ในระหว่างทำสงคราม สตีเฟ่น ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง มีบันทึกว่าเขาบาดเจ็บจากคมกระสุนขนาด .44 ที่หัวไหล่

ครอบครัวบังเกอร์กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกกันอีกครั้ง สภาพเศรษฐกิจ การทำมาหากินแสนจะฝืดเคือง บ้านเมืองป่นปี้

ในระหว่างสงคราม ครอบครัวบังเกอร์ต้องช่วยสนับสนุนในการตัดเย็บ ซ่อมแซมเสื้อผ้าให้กับทหารฝ่ายใต้ ข่าวร้ายคือ ลูกสาวคนที่ 2 ของแฝดอินชื่อจูเลียเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย

หนังสือ The two: A Biography by Irving Wallace and Amy Wallace บันทึกชัดเจนเลยว่า หลังสงครามจบลง ประชาชนทั้งผองเกลียดขี้หน้ากัน อาฆาตมาดร้าย เป็นปรปักษ์ต่อกันทุกหมู่เหล่า รัฐบาลต้องเร่งหาทางเยียวยาฟื้นฟูจิตใจ

แฝดอิน-จัน คนตัวติดกัน ที่กำเนิดจากเมืองแม่กลองสยามประเทศได้รับเชิญให้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าพบประธานาธิบดี ลินคอล์นเพื่อสร้างสัญลักษณ์ของความ ปรองดอง เอื้อเฟื้อ และการให้อภัยในสังคมอเมริกา ประธานาธิบดีลินคอล์นเล่าให้อิน-จัน ฟังเรื่องการทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิดของตนในรัฐอิลลินอยส์

นักการเมืองในอเมริกาใช้คำว่า Siamese Twins เป็นวาทกรรม เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์เชิงบวกของการอยู่ร่วมกัน

14 เมษายน พ.ศ.2408 สังคมอเมริกันต้องตกตะลึงสุดขีดเมื่อประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบยิงเสียชีวิตในโรงละคร Ford Theater โดยมือปืนชื่อ John Wilkes Booth เป็นผู้ลั่นกระสุนสังหารในโรงละคร และแอนดรูว์ จอห์นสัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนถัดมา

29 พฤษภาคม พ.ศ.2408 รัฐบาลสหรัฐประกาศนิรโทษกรรมการกระทำของรัฐทางใต้ทั้งปวงที่เป็นกบฏ

สงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้องฆ่ากันเอง ตายไปราว 620,000 คน บาดเจ็บอีกนับล้านคน บ้านเมืองรัฐทางใต้กลายเศษเป็นซาก เป็นบาดแผลที่ยังค้างอยู่ในใจของคนอเมริกันจวบจนทุกวันนี้

ครอบครัวบังเกอร์ได้รับผลกระทบทางการเงินไม่น้อย เนื่องจากเพื่อนบ้านหลายรายมาขอหยิบยืมเงินระหว่างสงครามพากันหายหน้ากันไป ธนบัตรที่ฝ่ายใต้พิมพ์ใช้ระหว่างสงครามกลายเป็นเศษกระดาษไปในพริบตา ฝรั่งถ้ายืมเงินก็มีฤทธิ์หายตัวได้เช่นกัน

สงครามเลิก ฝ่ายเหนือชนะ อิน-จันต้องปลดปล่อยทาส

สงครามกลางเมืองในอเมริกา ที่แฝดอิน-จันอยู่ในอเมริกาและลูกชายทั้ง 2 คนเข้าร่วมรบด้วยนั้น ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4 ของสยาม ซึ่งชาวสยามบางส่วนที่อ่านหนังสือออก โดยมีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกชื่อ Bangkok Recorder ที่หมอบรัดเลย์ชาวอเมริกันลงทุนผลิตเป็นรายแรกในสยาม

ผู้เขียนขอแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ให้คนไทยรุ่นหลังได้รับทราบอีกเรื่องนะครับว่า ในสมัยนั้นสยามไม่ได้โดดเดี่ยว สยามเป็นประเทศที่มีวิสัยทัศน์ มีไมตรีต่อเพื่อนร่วมโลกเสมอ

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปสุดขอบฟ้ากำลังทำสงครามกลางเมือง ในหลวง ร.4 ทรงทราบข่าวการสู้รบจากชาวต่างชาติที่ทำงานในสยาม โดยเฉพาะแพทย์และบาทหลวงชาวอเมริกัน จึงทรงปรารถนาดี มีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน เสนอที่จะส่งช้างสยามไปอเมริกา โดยทรงอธิบายเป็นจดหมายภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองถึงพระราชประสงค์ที่จะมอบช้างสยามให้อเมริกานำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่ง ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะใช้ช้างเป็นเครื่องทุ่นแรง ช่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics) แบบที่สยามใช้

ต่อมาในปี พ.ศ.2405 รัฐบาลสหรัฐได้มีสาส์นตอบแสดงความซาบซึ้งในน้ำพระทัย โดยแจ้งว่าสภาพอากาศในอเมริกาไม่เหมาะสมกับช้างสยาม ประกอบกับสหรัฐมีเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่ง และใช้ทำงานภายในประเทศอยู่แล้ว

และต่อมาหลังสงคราม นายพลยูลิซีส แกรนท์ ผู้นำกองทัพฝ่ายเหนือที่นำทัพชนะกองทัพฝ่ายใต้ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี พ.ศ.2412-2420 หลังหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว แกรนท์ออกเดินทางไปรอบโลก และในปี พ.ศ.2422 ท่านแวะมากรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวง ร.5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเครื่องดนตรีไทยเป็นของที่ระลึกหลายชิ้น นายพลแกรนท์นำของดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

วกกลับมาที่เรื่องของปู่ทวดอิน-จัน ในอเมริกาครับ

หลังสงครามกลางเมือง ผู้คนฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้มีความชิงชังซึ่งกันและกัน ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความอาฆาตพยาบาทต่อกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คำว่า “แฝดสยาม หรือ Siamese Twins” ถูกรัฐบาลนำไปเป็นสัญลักษณ์ “ของการอยู่ร่วมกันแม้แตกต่าง การแบ่งปัน ความยุติธรรม” เพื่อเร่งฟื้นฟูความปรองดองของสังคมที่เป็นซากแหลกละเอียด

น่าภูมิใจนะครับที่คำว่า Siam หรือสยาม คือประเทศสยาม ไปเป็นสัญลักษณ์ในเชิงสร้างสรรค์ในสังคมอเมริกา ในขณะที่ชาวสยามแทบไม่รู้จักอเมริกา

สงครามเลิก ทาสนิโกรผิวดำชักแถวเดินออกจากไร่ของอิน-จัน บังเกอร์ เช่นเดียวกับทาสทั่วอเมริกา การเกษตรกรรมในไร่หยุดลงโดยอัตโนมัติทั่วพื้นที่รัฐตอนใต้ของอเมริกา ครอบครัวใหญ่ต้องใช้เงินมาก

บุญเก่าที่พ่อแม่ให้มา คือการเป็นแฝดตัวติดกัน ซึ่งมาถึงวันนี้ อิน-จัน อายุอานามมากโขแล้ว จะต้องหาเงินมาประทังชีวิต

แฝดสยามตัดสินใจกัดฟันกลับไปเปิดการแสดงโชว์ตัวอีกครั้ง โดยเลือกให้นายเอช.พี.อิงกอลล์ (H.P.Ingalls) เพื่อนเก่าทำหน้าที่ผู้จัดการ คราวนี้ต้องปรับแผน โดยเอาภรรยา ซาร่าห์และอาดีเลดที่ยังไม่เคยปรากฏตัวบนเวทีมาก่อน พร้อมบุตรชาย 2 คนคือแพทริก และอัลเบิร์ตร่วมเดินทาง

ผู้เขียนต้องขอบูชาในความเป็นนักสู้ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆ บรรพบุรุษ 2 ท่านนี้ยิ่งใหญ่ ไม่รู้จักความเหนื่อยยาก

นายอิงกอลล์เป็นมือใหม่หัดขับ ไม่มั่นใจว่าตนเองจะนำพาคณะการแสดงไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ จึงตัดสินใจพาแฝดและลูกๆ ไปพบกับเจ้าพ่อแห่งวงการแสดงเจ้าเดียวที่ยืนหยัดตลอดการ คือ นายพี.ที.บาร์นัม (P.T.Barnum)

ในราวกลางปี พ.ศ.2411 เหมือนราชรถมาเกย นายบาร์นัมดีดนิ้วเป๊าะ ตอบตกลงโดยจะให้แฝดแสดงที่นิวยอร์กก่อนแล้วจะพาคณะไปลุยในยุโรป ในช่วงนั้นนายบาร์นัมเองก็ถังแตก เนื่องจากในระหว่างสงครามกลางเมือง อาคารพิพิธภัณฑ์การแสดงของเขาถูกไฟไหม้เกลี้ยง

กลยุทธ์เรียกคนดูที่มีมนต์ขลังของพ่อมด บาร์นัมคือ ป่าวประกาศว่านี่จะเป็นการแสดงตัวครั้งสุดท้ายของแฝดสยามตัวติดกัน ก่อนเดินทางไปผ่าตัดแยกร่างในอังกฤษ

ผลการโหมโฆษณาของยอดนักขายบาร์นัมได้ผลอีกตามเคย ผู้คนแห่กันเข้ามาชมการแสดงไม่น้อยกว่าสมัยแรกๆ ทำเงินได้พอสมควร ทั้งๆ ที่อเมริกายังไม่ฟื้นจากบาดแผลสงครามกลางเมือง

5 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 คณะการแสดงประกอบด้วย อิน-จัน และแคเธอรีน สาวสวยวัย 24 ลูกสาวของแฝดอิน และแนนซี่ ลูกสาว หน้าหวานสยาม-อเมริกัน วัย 21 ปี พร้อมด้วย นายอิงกอลล์ ออกเดินทางจากท่าเรือนิวยอร์กด้วยเรือชื่อไอโอวา (Iowa) หันหัวเรือไปเมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษ

ตลอดการเดินทางเจอคลื่นลมตลอดทาง ผู้โดยสารเมาเรืออาเจียนเจ็บป่วยร้องระงม แต่แฝดอิน-จันลูกทะเลจากแม่กลองกลับเล่นหมากรุก ดื่ม กินอาหาร สูบบุหรี่ กินลมชมทะเลอย่างมีความสุขยิ่งนัก

18 ธันวาคม ปีเดียวกัน คณะทั้งหมดขึ้นฝั่งที่เมืองลิเวอร์พูล

ครอบครัวบังเกอร์มาอังกฤษคราวนี้มีวาระซ่อนเร้นในใจหลายเรื่องที่ล้วนสะสมความร้อนรุ่มท่ามกลางความหนาวเหน็บ แคเธอรีนลูกสาวคนสวยของแฝดอินป่วยเป็นวัณโรคที่รักษาในอเมริกามานานไม่ดีขึ้นเลย ภาวนาขอให้เจอแพทย์ในอังกฤษที่จะช่วยรักษาเธอให้หาย

แฝดอิน-จันที่ตัวติดกันมานานราว 57 ปี เกิดความคุกรุ่นในใจ ที่อดทนและทนอดกันมา ช่วงหลังแฝดจันกลายเป็นนักดื่มคอทองแดงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ทำเอาแฝดอินต้องทุกข์ระทมไปด้วยนานนับปี และการที่พ่อของลูกๆ ต้องแยกกันอยู่บ้านละ 3 วัน มันเป็นความอึดอัดสะสม

ความคิดเรื่องการผ่าตัดแยกร่างในวัย 57 ปียังเป็นความคิดที่ไม่สายเกินไป

จะเกิดอะไรขึ้น การตัดสินใจครั้งสำคัญบนแผ่นดินอังกฤษ

โปรดติดตามตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image