กฎหมาย BANGSAMORO (BANGSAMORO BASIC LAW) เขตปกครองพิเศษภาคใต้ของฟิลิปปินส์ : โดย สีดา สอนศรี

เป็นที่น่ายินดีของพี่น้องชาวมุสลิมภาคใต้ของฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่ง ที่กฎหมาย BANGSAMORO ได้ผ่านความเห็นชอบของทั้งสองสภา คือ สภาสูง (Senate Bill No.1646) และสภาล่าง (House Bill No.6475) และประธานาธิบดีดูแตร์เต ได้ลงนามเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2018 หลังจากที่ได้แถลงนโยบายประจำปี (State of the Nation Address-SONA) แล้วในวันที่ 23 กรกฎาคม พร้อมทั้งได้เชิญผู้เจรจาและบุคคลสำคัญของกลุ่มผู้เจรจาทางภาคใต้ และฝ่ายรัฐบาล มารับทราบที่ทำเนียบมาลากันยังในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเวลาร่วมครึ่งศตวรรษของการเจรจาไกล่เกลี่ย

ปัญหาภาคใต้เกิดขึ้นเมื่อสเปนได้เข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 1521 เป็นต้นมาจนถึงปี 1898 ในระหว่างนั้นสเปนได้รุกล้ำที่ทำกินของชาวมุสลิม ซึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ก่อนที่สเปนจะเข้ามาครอบครอง แต่ไม่สามารถกล่อมเกลาและกลมกลืนชาวมุสลิมได้ และเมื่อสหรัฐเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ในปี 1899 ก็ได้ส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนอีกมากมายเพราะทางใต้มีทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ

และเมื่อฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชจากสหรัฐในปี 1946 รัฐบาลทราบปัญหาดี ได้พยายามเจรจาไกล่เกลี่ยและพัฒนาภาคใต้ในหลายรัฐบาล เช่นในสมัยประธานาธิบดีการ์เซีย ปี 1957 ได้พยายามจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาภาคใต้แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสภาไม่เห็นชอบ

มาในสมัยมาคาปากัล ได้ออกกฎหมาย Republic Act 1387 ปี 1961 จัดตั้งมหาวิทยาลัยมินดาเนา (Mindanao State University) ในเมืองมาราวีเพื่อพัฒนาการศึกษาและให้ทุนแก่เยาวชน อีกทั้งได้หยั่งเสียงประชามติว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ต้องการเป็นเขตปกครองตนเอง ปรากฏว่ามีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่ต้องการคือ ลาเนา เดลซูร์ โคตาบาโต และบาซิลัน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเขตมุสลิมส่วนใหญ่

Advertisement

มาในสมัยประธานาธิบดีมาร์คอส ปี 1972 นูร์ มิซูอาริ ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (UP) ได้จัดตั้งกลุ่ม MNLF (Moro National Liberation Front) เพื่อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนบางส่วนในมินดาเนา และนี่เป็นการเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาล ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ร่วมเจรจา 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลมาร์คอส ที่ประชุมองค์การมุสลิม (Organization of Islamic Conference-OIC ในขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Organization of Islamic Cooperation) โดยมี อินโดนีเซียเป็นตัวกลางการเจรจา ซึ่งได้บรรลุข้อตกลง ตริโปลี ที่ลิเบีย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1976 ว่ารัฐบาลมาร์คอสจะพัฒนาในเขตมุสลิมให้เจริญ แต่มาร์คอสไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลง อีกทั้งได้มีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมอีกด้วย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มุสลิมกลุ่มนี้โจมตีค่ายทหารเป็นระยะๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมที่อยู่ใกล้ค่ายทหารเหล่านั้น ทำให้ภาคใต้บางส่วนไม่ได้รับการพัฒนา

มาในสมัยประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน ในปี 1986 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และได้เพิ่มส่วนของเขตปกครองตนเองในบางจังหวัดและเทศบาลของมินดาเนา ในมาตรา 10 ตอนที่ 16-21 ว่าด้วย Autonomous Region in Muslim Mindanao ว่าเมื่อมีความพร้อมก็สามารถมีกฎหมายปกครองตนเองได้ภายใต้รัฐบาลกลาง โดยต้องผ่านทั้ง 2 สภาและลงนามโดยประธานาธิบดี และหยั่งเสียงประชามติจากประชาชนในเขตที่กำหนด

Advertisement

ในสมัยประธานาธิบดีรามอสได้มีการไปพัฒนาภาคให้กลุ่มคริสเตียนและมุสลิมทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้หลักสูตร สันติศึกษา (Peace Education) และเชิญองค์กรพัฒนาเอกชนจากหลายประเทศเข้ามาสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับทหารและตำรวจ อีกทั้ง รามอสได้เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มอนุภูมิภาค BIMP (Brunei, Indonesia, Malaysia Philippines) เพื่อพัฒนาภาคใต้โดยร่วมกับทั้ง 3 ประเทศ

มาในสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย มีกลุ่มมุสลิมอีกกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากกลุ่ม MNLF คือกลุ่ม MILF (Moro Islamic Liberation Front) ซึ่งต้องการดินแดนบรรพบุรุษเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ในช่วงนี้มีการเจรจากันหลายรอบโดยมี มาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาก็มาถึงสมัยเบนิกโน อาคีโน ที่ 3 ได้ดำเนินการอย่างจริงจังตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 1987 โดยให้ 2 กลุ่มยอมรวมกัน มีผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย MILF มีมาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา มีผู้สังเกตการณ์จากหลายประเทศ มีการทำกรอบความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพ มีการร่างกฎหมายหลัก และได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยอาคีโน

กฎหมายฉบับนี้ได้นำเข้าการพิจารณาในสภา สมัยดูแตร์เต ถึง 2 ปี จึงได้รับอนุมัติ นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทั้ง 2 รัฐบาล จากนี้ไปอีกประมาณ 3-5 เดือน ตัวแทนของทั้งรัฐบาลและเขตบังซาโมโร จะไปทำความเข้าใจมาตราต่างๆ กับประชาชนในเขตที่ระบุไว้ในกฎหมายและสุดท้ายคือการหยั่งเสียงประชามติ

ซึ่งมีอยู่ 2 คำถามคือ เห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่ และต้องการรวมอยู่ในเขต บังซาโมโรหรือไม่

กฎหมาย Bangsamoro มีทั้งหมด 18 มาตรา ประกอบไปด้วย คำนำ ชื่อและวัตถุประสงค์ เขตแดน นโยบาย อำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับเขตบังซาโมโร การปกครองของบังซาโมโร สิทธิขั้นพื้นฐาน ระบบยุติธรรม ความเรียบร้อยและความปลอดภัย ความเป็นอิสระทางการเงินการคลัง การพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูและการพัฒนา การหยั่งเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจการเปลี่ยนผ่าน การแก้ไขกฎหมาย และบทบัญญัติสุดท้าย

ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเพราะความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ต้องการเห็นความสงบทางภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงแม้การสู้รบมีเฉพาะบางส่วนก็ตาม แต่กระทบกับการพัฒนาโดยส่วนรวม (ทั้งนี้ไม่รวมกลุ่มอาบูไซยาฟ ซึ่งรัฐบาลถือเป็นผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ) นอกเหนือไปจากนั้นความไว้วางใจของกลุ่ม MILF และกลุ่ม MNLF ต่อรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

การจัดตั้งเขต Bangsamoro จึงน่าจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย

สีดา สอนศรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image