Future perfect คะแนนแห่งความเชื่อใจชีวิตคุณขึ้นกับตัวเลข โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ใช่! ชีวิตคุณขึ้นกับตัวเลข, ตัวเลขหน้าตาใสซื่อ เต็มสิบบ้าง เต็มร้อยบ้าง เป็นเปอร์เซ็นต์บ้าง มีจุดทศนิยมบ้าง, ตัวเลขที่มีชื่อดูไร้พิษสงว่าคะแนน

คะแนนตัดสินชีวิตคุณตั้งแต่ประถม การสอบได้ศูนย์เต็มสิบหมายความถึงไม้เรียวหรือการอดได้เครื่องเล่นเกม การสอบได้ร้อยเต็มร้อยหมายถึงการที่พ่อแม่จะโบกโบยแผ่นกระดาษคำตอบพร้อมตัวเลขอันหรูหรานั่นให้คนข้างบ้านดู คะแนนตัดสินโอกาสที่คุณจะเข้ามหาวิทยาลัย เข้าเรียนคณะต่างๆ ระหว่างคุณใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีอะไรที่ปกครองคุณมากไปกว่าระบบคะแนนของแต่ละวิชา “ตัดตามเคิร์ฟไหมครับอาจารย์” คือสิ่งที่เพื่อนคนหนึ่งยกมือถามคนหน้ายุ่งๆ หน้าชั้น เมื่อคุณเรียนจบ – คิดว่าจะรอดพ้นจากตัวเลขหนึ่งหรือสองตัวนี้ คุณก็กลับพบว่า บริษัทต่างๆ ก็ใช้ระบบที่พิจารณาใบสมัครของพนักงาน – ตีออกมาเป็นคะแนนเช่นกัน เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือรถ คุณก็พบเช่นเดียวกันว่า ธนาคารทั้งหลายต่างมีวิธีตีคะแนนผู้ยื่นขอกู้ออกมาว่า “เชื่อใจที่จะให้คนนี้กู้ยืมเงินได้แค่ไหน, มีโอกาสแค่ไหนที่เขาจะไม่เบี้ยวชำระหนี้”

คะแนนแห่งความเชื่อใจ (Trustworthiness score) ไม่ได้ถูกใช้ในแวดวงธนาคารเท่านั้น – มันกำลังจะถูกใช้บนสิ่งที่ใครบางคนอาจจ้องมองอยู่ทุกวัน – อย่างเฟซบุ๊ก!

เฟซบุ๊กพัฒนาระบบ “คะแนนความน่าเชื่อใจ” นี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว คะแนนนี้จะถูกคำนวณและแปะปะให้กับผู้ใช้แต่ละคน โดยเริ่มจาก 0 ไปถึง 1 ยิ่งใกล้เคียงกับ 1 มากเท่าไร ยิ่งแปลว่าผู้ใช้งานคนนั้นน่าเชื่อใจมากเท่านั้น – เหตุผล? นี่คือความพยายามของพวกเขาในการต่อสู้กับ “ข่าวปลอม”

Advertisement

เทสสา ไลออนส์ (Tessa Lions) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Washington Post ว่าเดิมที เฟซบุ๊กใช้ระบบให้ผู้ใช้รายงานเข้ามาหากพบเจอข่าวปลอมที่จะสร้างความเสียหายได้ แต่เมื่อใช้ระบบเช่นนั้น ผู้ใช้บางคนก็เริ่มรายงานว่าข่าวที่พวกเขาไม่ชอบเป็น “ข่าวปลอม” ไปด้วย (ทั้งๆ ที่มันอาจจะจริงก็ได้) ถึงแม้จะใช้ระบบว่าต้องมีคนรายงานเท่านั้นเท่านี้ครั้ง ก็ไม่ช่วย ในโลกที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างหลากหลาย แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย – มันง่ายเสมอที่คุณจะตั้งกองทัพเพื่อรุมรีพอร์ตใครสักคน

ไลออนส์บอกว่า “การที่จะมีใครมารุมรีพอร์ตข่าวข่าวหนึ่งว่าเป็นเท็จ เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับข่าวนั้น ถือเป็นเรื่องปกติมาก”

เมื่อระบบเดิมมีปัญหา – พวกเขาจึงต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา และระบบที่ว่าก็คือ “คะแนนความเชื่อใจ” นั่นเอง – เดิมทีเฟซบุ๊กก็มีข้อมูลและ “การประเมิน” ต่างๆ มากมายกับผู้ใช้งานอยู่แล้ว คะแนนความเชื่อใจเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จะเพิ่มเข้ามา

Advertisement

ไลออนส์ให้สัมภาษณ์กันเหนียวไว้ว่า คะแนนตัวนี้ไม่ใช่ตัวเดียวที่เฟซบุ๊กจะนำมาพิจารณาว่าคนนั้นน่าเชื่อใจหรือไม่ เขาบอกว่าจริงๆ แล้วเฟซบุ๊กใช้ตัวแปรอีกมากในการพิจารณาครั้งหนึ่งๆ รวมไปถึงจำนวนครั้ง (หรือความน่าจะเป็น) ที่ผู้ใช้งานคนหนึ่งจะกดรีพอร์ตสำนักข่าวหนึ่งๆ ว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวแห่งนั้นก็จะถูกนำมาคิดด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ความพยายามนี้จะเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่ดี แต่ก็มีผู้ทัดทานหรือตั้งข้อสงสัยกับโครงการดังกล่าวไม่น้อย หนึ่งในข้อทัดทานหลักก็คือ “ตัวคะแนนความน่าเชื่อถือนี้จะเชื่อถือได้แค่ไหน” จริงไหมที่คนที่มีคะแนน 0.8 จะน่าเชื่อถือมากกว่าคนที่มีคะแนน 0.5 เฟซบุ๊ก “ใช้อะไรวัด” และผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้ไหมว่าคะแนนตัวเองเป็นเท่าไร และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้คะแนนของตนเองเพิ่มขึ้น

คำถามที่สำคัญที่สุดคือ “เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการตัดสินใจของเฟซบุ๊กเป็นการตัดสินใจที่ดี”

ในวันที่เฟซบุ๊กเป็นมากกว่าแค่เว็บไซต์หนึ่ง มันเป็นดังศูนย์กลาง, เป็นเมืองหลวงของอินเตอร์เน็ต, การตัดสินใจแต่ละครั้งของเฟซบุ๊กส่งผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไปของสังคม หากเฟซบุ๊กมองว่าค่านิยมอันหนึ่งๆ ดี ค่านิยมนั้นก็จะได้รับอนุญาต ทำให้มีการส่งต่อค่านิยมเช่นนั้นไปเรื่อยๆ ในทางกลับกัน หากเฟซบุ๊กมองว่าค่านิยมหนึ่งเป็นภัย (เช่น รูปโป๊เด็ก) ค่านิยมนั้นก็จะถูกแบนออกจากแพลตฟอร์ม ถึงแม้ว่าในบางกรณีค่านิยมนั้นจะ “มีเหตุผลดีทุกประการ” (เช่น รูปโป๊เด็กที่เป็นการถ่ายจากสนามรบเพื่อสื่อให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงคราม ไม่ได้สื่อเพื่อความเย้ายวน) ก็ตาม

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image