อิทธิพลอเมริกันในเมืองไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คนรุ่นผมคือคนที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลอเมริกันยิ่งกว่าคนไทยรุ่นใด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นก่อนหรือรุ่นหลัง

ผมรู้ความเมื่อสิ้นสงครามโลก พอดีกับที่อเมริกันกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก แม้กองทัพอเมริกันไม่ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย แต่ก็คงฝากขนมนมเนยและของเล่นเด็กมากับทหารอังกฤษที่ต้องเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นด้วย เพื่อให้อังกฤษสามารถปฏิบัติการทางจิตวิทยาได้ผลดี

จิตวิทยาอังกฤษเป็นผลให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าในตลาดที่กำลังหิวโหยของไทยพอดี ผมได้ของเล่นอเมริกันที่พ่อซื้อให้อยู่สองสามชิ้น ประทับใจมาตั้งแต่นั้นว่า อะไรที่มีตราว่า Made in U.S.A.แล้วล่ะก็ ทนชิบเป๋งเลย เล่นแรงอย่างไรก็ไม่เสีย ความประทับใจอย่างนั้นยังอยู่สืบมาจนทุกวันนี้ แม้ไม่มีสินค้าอเมริกันอะไรเหลืออยู่ในตลาดแล้ว ที่ยัง Made in U.S.A.อยู่

ผมอยากเตือนผู้อ่านไว้ด้วยว่า คนรุ่นพ่อแม่ผมไม่มีความประทับใจกับสินค้าอเมริกันนะครับ คนรุ่นนั้นบอกว่าของดีจริงทนจริงก็ต้องสินค้าเยอรมันสิ

Advertisement

เพราะฉะนั้นความชื่นชมสินค้าอเมริกัน จึงเป็นคุณสมบัติของคนรุ่นผมโดยเฉพาะ

แต่อิทธิพลอเมริกันในเมืองไทยไม่ได้จำกัดอยู่กับคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียวดังเยอรมัน เพราะในไม่กี่ปีต่อมา รัฐบาลไทยก็นำประเทศไปผูกกับอเมริกันในฐานะมหามิตร สินค้าอเมริกัน, เงินช่วยเหลืออเมริกัน, ที่ปรึกษาอเมริกัน, ทุนการศึกษาอเมริกัน, สำนักข่าวสารอเมริกัน, สื่ออเมริกัน ฯลฯ หลั่งไหลเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง

อะไรที่เด็กซึ่งกำลังโตเป็นหนุ่มรุ่นผมรู้สึกว่าคือความก้าวหน้า ไม่ว่าสิ่งนั้นจะจับต้องได้หรือไม่ ล้วนมีตราธงชาติไทย-อเมริกันเหนือมือที่จับกันอยู่เสมอ แม้ตัวตราอาจไม่มีให้เห็น แต่เราก็เห็นอยู่หลัง
ลูกกะตาเราจนได้

ทุนการศึกษาอเมริกันซึ่งแจกจ่ายกระจายไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ผมและคนรุ่นผมอีกมากสามารถเข้าถึงความเป็นนักเรียนนอกได้ง่าย โดยพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องมีเงินถุงเงินถัง

ไม่มีใครในเมืองไทยที่เป็นมิตรกับอเมริกันยิ่งกว่าคนรุ่นผมอีกแล้ว ครับ… ผมหมายความว่าแม้ในอนาคตที่มองเห็นได้ ก็จะไม่มีคนไทยรุ่นใดตกอยู่ใต้อิทธิพลอเมริกันยิ่งไปกว่าคนรุ่นผมอย่างแน่นอน

แต่ความจำเป็นที่อเมริกันต้องเป็นมหามิตรของไทยได้หมดไปนานแล้ว หลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น แม้กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอเมริกันพร้อมจะมีบทบาทในประเทศไทย (และอาเซียน) เท่ากันกับประเทศมองโกเลีย, บัลแกเรีย, หรือลิทัวเนีย อย่างน้อยก็เพราะเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เป็น “เพื่อนบ้าน” คืออยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ซ้ำยังเป็นภูมิภาคที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อย่างไรเสียอเมริกันก็ต้องมีสถานะและบทบาทอันหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ (หากอเมริกันยังอยากรักษาสถานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของตนไว้)

อเมริกันตั้งใจจะมีสถานะและบทบาทอย่างไรบ้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมไม่ทราบ ได้แต่สงสัยว่าไม่ชัดนักแก่รัฐบาลอเมริกันเองด้วย แต่ที่พอจะคาดเดาได้ก็คือ 1.อเมริกันต้องมีอิทธิพลในภูมิภาคพอ “ได้ดุล” กับจีนบ้าง อาจไม่เท่าจีน แต่ไม่ใช่เป็นคนนอกที่ไม่เกี่ยวอะไรเอาเลย 2.อเมริกันต้องมีส่วนแบ่งผลประโยชน์กับความเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคบ้าง ในแง่การลงทุน, หรือเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกป้อนตลาดอเมริกัน, หรือใช้เป็นแหล่งโยกย้ายฐานการผลิตมาแทนจีนได้, หรือเป็นตลาดซื้อสินค้าคุณภาพของอเมริกันได้บ้าง 3.ผู้คนในภูมิภาคควรคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอเมริกัน ทั้งเพื่อขายของ และเพื่อไม่ให้อเมริกันเป็นคนแปลกหน้าจนเกินไป

แต่อเมริกันไม่เห็นว่าความเป็นไปทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาค จะกระทบถึงผลประโยชน์ของสหรัฐ เป็นประชาธิปไตยได้ก็ดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เป็นมิตรทางอุดมการณ์กับอเมริกา แต่เป็นอย่างอื่นก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้อเมริกาไม่พร้อมจะผูกพันทางทหารกับประเทศใด เพราะเพื่อรักษาสถานะและบทบาทของตนในภูมิภาคนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้าสงครามกับใคร สหรัฐคงไม่ยอมรับรองบูรณภาพของจีนเหนือหมู่เกาะที่พิพาทกันในทะเลจีนเหนือและใต้ไปอีกนาน แต่อเมริการะวังที่จะแสดงให้เห็นว่าไม่รับรองเป็นทางการ (เช่น ส่งเครื่องบินล่วงล้ำน่านฟ้าเป็นครั้งคราว) เท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การลดลงของอิทธิพลอเมริกันเห็นได้ดีในประเทศไทย ไม่ใช่เพราะอเมริกัน “แพ้” จีน หากไม่คลั่งชาติจนเกินไป ใครๆ ก็รู้ดีว่า ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีนปัจจุบัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องกลับไปเป็นดินแดนในเขตผลประโยชน์จีน อย่างที่เคยเป็นมายาวนานในประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อเมริกันจึงไม่คิดจะ “สกัด” (contain) จีนเหมือนพยายาม “สกัด” คอมมิวนิสต์ในสมัยก่อน

ไม่นานมานี้เอง ผมได้อ่านบทความที่คนอเมริกันเขียน ระบุว่าอิทธิพลอเมริกันที่ยังเหลืออยู่อย่างแข็งแกร่งในเมืองไทยนั้นคืออิทธิพลด้านวัฒนธรรม

ผมไม่แน่ใจว่าเขาหมายความว่าเหลืออยู่มากน้อยเพียงไร แต่หากนำเอาไปเปรียบเทียบกับอิทธิพลด้านอื่น เช่น เศรษฐกิจ, การเมืองระหว่างประเทศ, การทหาร, การเมืองภายใน ฯลฯ ก็คงจริง แม้กระนั้น หากดูเฉพาะด้านวัฒนธรรม ก็จะเห็นว่าเหลืออยู่ไม่สู้จะมากนัก อีกทั้งกำลังเสื่อมทรุดลงเกือบทุกด้าน

ผมแบ่งวัฒนธรรมอเมริกันในเมืองไทยออกเป็นสามด้านคือการศึกษา (ในความหมายกว้าง), วัฒนธรรมการบริโภค และวัฒนธรรมประชาธิปไตย

อิทธิพลด้านการศึกษา “ในแบบ” ของอเมริกันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผมอยากเดาว่าเวลานี้ไม่มีครูอเมริกันตามโครงการให้ความช่วยเหลืออยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอีกแล้วกระมัง ทั้งนี้รวมไปถึงการวางแผนด้านการศึกษา ก็ไม่มี “ผู้เชี่ยวชาญ” อเมริกันเป็นที่ปรึกษาด้วย แม้ว่าฐานะเศรษฐกิจของคนชั้นกลางไทยดีขึ้น จึงส่งลูกหลานไปเรียนในอเมริกาอยู่ต่อไป แต่ส่วนใหญ่เรียนทางด้านเทคโนโลยี (รวมทั้งเทคโนโลยีการจัดการด้วย) จึงย่อมเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยดีนัก

งานแปลจากหนังสืออเมริกันคือพวก how to ทั้งหลาย ซึ่งแม้ยังขายได้จนถึงขายดี ก็ไม่น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีนักของวัฒนธรรมอเมริกัน ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ หนังสือแปลขายดี (อย่างไม่น่าเชื่อ) กลับเป็นนวนิยายยุโรป, งานวิชาการของนักวิชาการออสเตรเลียบ้าง ยุโรปบ้าง นวนิยายของเฮมมิงเวย์ที่แปลไทยเล่มสุดท้าย พิมพ์หลายปีมาแล้ว ในขณะที่สงครามและสันติภาพของตอลสตอยซึ่งนำมาพิมพ์ใหม่กลับขายได้ดีพอสมควร นวนิยายของคัฟกากำลังได้รับความสนใจจากนักอ่านไทยเพิ่มขึ้น คนไทยกำลังถูก westernized ลึกขึ้นจากงานแปล แต่ไม่ใช่จากต้นฉบับนักเขียนอเมริกัน

เด็กไทยถูกส่งไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, เยอรมนี, ประเทศสแกนดิเนเวีย, ฯลฯ มากกว่าถูกส่งไปสหรัฐ

แน่นอนว่าวัฒนธรรมการบริโภคของไทยเคยได้รับอิทธิพลจากอเมริกันสูงมาก แต่จำนวนของหนังฮอลลีวู้ดที่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ในปัจจุบันลดลง ส่วนหนึ่งก็เพราะธุรกิจโรงภาพยนตร์กำลังจะผ่านไปในสังคมไทย เหมือนกับที่ผ่านไปในสังคมอื่น น่าประหลาดที่หนังซีรีส์ ซึ่งพูดถึงกันมากในเมืองไทย แม้ว่าฉายในทีวีบอกรับอเมริกัน แต่ผู้สร้างและบางครั้งรวมนักแสดงส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ

ร้านอาหารแดกด่วนของอเมริกันมีลูกค้าลดลงในเมืองไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะสินค้าเหล่านั้นถูกลอกเลียนทั่วไป วิถีชีวิตที่คนชั้นกลางไทยดำเนินอยู่เวลานี้ หลายอย่างมีต้นกำเนิดในวัฒนธรรมอเมริกัน เช่น การแต่งกายที่เรียบง่ายในที่สาธารณะ แต่บัดนี้มันกลายเป็นวัฒนธรรมของคนทั้งโลกไปแล้ว จึงไม่เหลือความเป็นอเมริกันอยู่ในกางเกงยีนส์ หรือรองเท้าผ้าใบอีกต่อไป (นอกจากยี่ห้อ ซึ่งก็ลดความสำคัญลงไปมากแล้วในเมืองไทย)

ทางด้านประชาธิปไตยนั้นเล่า ว่าที่จริงแล้ว หลังหมอแบรดลีย์ อเมริกันก็แทบไม่มีบทบาทด้านประชาธิปไตยในประเทศไทยเอาเลย ในระหว่างสงครามเย็น อเมริกันสนับสนุนรัฐบาลอะไรก็ได้ที่สามารถรักษาเสถียรภาพของประเทศไว้ได้ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านนโยบายต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลไทยที่อเมริกันสนับสนุนอย่างแรงกล้าจึงล้วนเป็นรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น พันธมิตรของอเมริกันในประเทศไทยที่ไว้วางใจได้ จึงล้วนเป็นเผด็จการ, สมุนเผด็จการ, หรือผู้ได้รับประโยชน์จากเผด็จการเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น แม้สิ้นยุคสงครามเย็นไปแล้ว ถึงอเมริกันอยากส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงใจ ก็คงทำได้ยากมาก เพราะอเมริกันก็ไม่มีพันธมิตรคนไทยที่น่าไว้วางใจอยู่เลย

แม้มีเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่พูดไทยได้คล่องปร๋อ ก็ไม่รู้จะพูดกับใคร นอกจากสมัครพรรคพวกหรือเส้นสายของสมัครพรรคพวก ซึ่งมักนิยมเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย

ฉะนั้น ที่ว่าอเมริกันยังมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอยู่ในประเทศไทย เอาเข้าจริงก็ไม่สู้จะมากนัก หรืออาจร่อยหรอไปจนแทบไม่เหลืออีกแล้ว

แต่อเมริกันไม่มีวัน “เสีย” ประเทศไทยแน่ ถึงไม่มีอิทธิพลอะไรเหลืออยู่มากนัก

แม้ว่าอเมริกาไม่ได้ลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นอันดับต้นๆ แม้ตลาดอเมริกาไม่ได้ซื้อสินค้าส่งออกไทยเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ยังคงเป็นอันดับสอง ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าอันดับหนึ่งนิดเดียวเอง “พี่เบิ้ม” ของอาเซียนทั้งหมด (อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และไทยเอง) ล้วนต้องการเก็บอเมริกาไว้ถ่วงดุลกับจีน

ดังนั้น ถึงไม่ทำอะไรเลย อเมริกาก็มีความสำคัญแก่รัฐบาลไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารกับอเมริกันอาจดูตึงเครียดบ้าง แต่อย่าห่วง ต่อให้ไร้เดียงสาขนาดไหน ทหารไทยก็รู้ขีดจำกัดว่าจะปล่อยให้ความสัมพันธ์กับอเมริกาตึงเครียดเกินขีดนั้นไปไม่ได้

ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัฐประหารเสียอีก ที่อเมริกาได้มิตรใหม่จำนวนมาก ซึ่งอเมริกันไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน (ในขณะที่มิตรเก่าของอเมริกันหันไปสนิทสนมกับจีนหมดแล้ว) คนกลุ่มนี้คือผู้ผลักดันประชาธิปไตยในเมืองไทย ซึ่งอเมริกาไม่เคยมีส่วนร่วมมาก่อนเลย ผมทำนายไม่ถูกหรอกว่ามิตรใหม่กลุ่มนี้จะได้ส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหนในอนาคต แต่มั่นใจว่าพวกเขาจะได้ส่วนแบ่งที่มีนัยสำคัญทางการเมืองไว้ส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน ไม่มีระบอบปกครองอะไรในเมืองไทยจะมีเสถียรภาพได้ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ของคนกลุ่มนี้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image