นักล่าป่าเต็งรัง โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

เข้าหน้าฝน นกพาลูกออกจากรังมาสอนวิธีการดำรงชีวิตในถิ่นอาศัยที่อุดมด้วยอาหาร ฤดูกาลและสรีระการผสมพันธุ์ของนกเป็นผลของวิวัฒนาการที่หวังให้ลูกสัตว์มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด โดยผลักภาระไปที่พ่อและแม่นก

โดยเฉพาะในช่วงทำรัง วางไข่ และฟูมฟักจนกว่าลูกนกจะเป็นตัวออกมาจากไข่ จะเกิดขึ้นในปลายฤดูหนาวและฤดูแล้ง เพื่อให้ลูกนกไม่ต้องออกมาเผชิญกับสภาพถิ่นอาศัยที่แร้นแค้นตั้งแต่ยังไร้เดียงสา ด้อยประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาหย่ารัง ในช่วงนี้ ถิ่นอาศัยต่างๆ อาทิ ป่า ก็อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ แมลงและสัตว์ต่างๆ มากพอที่นกและสัตว์นานาชนิดจะหากินได้อีกนานจนกว่าจะถึงรอบใหม่ของฤดูผสมพันธุ์

ดังนั้น ปัจจัยเสริมที่สำคัญต่อความอยู่รอดของนก คือ ถิ่นอาศัย ซึ่งเป็นทั้งบ้าน ที่หลบภัย และแหล่งอาหารไปพร้อมกัน เช่น เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว เป็นเหยี่ยวปีกแหลมขนาดเล็ก ตัวขนาดนกเอี้ยงตามบ้าน แต่เพื่อหลบภัย ลดการแข่งขันกับนกชนิดอื่นๆ ในป่าเต็งรัง เหยี่ยวเลือกที่จะทำรังวางไข่ในโพรงไม้ ซึ่งหาได้ไม่ยากในป่าโปร่งประเภทเต็งรัง ที่ตามธรรมชาติมีไฟป่าเป็นประจำทุกปีในฤดูแล้ง ทำให้เนื้อไม้แตกออกเป็นร่อง อีกทั้งยังมีวิศวกรขุดโพรงที่ปันถิ่นอาศัยป่าเต็งรัง มีหน้าที่สร้างโพรงใหม่ให้นกโพรงทุกปี อาทิ นกหัวขวาน นกโพระดก

ในทางกลับกัน ความอยู่รอดของเหยี่ยวเล็กตะโพกขาวก็แขวนอยู่กับป่าเต็งรัง ถ้าป่าถูกทำลาย นกชนิดอื่นๆ ลดจำนวนลง โพรงหาได้ยาก ย่อมส่งผลต่อประชากรของเหยี่ยว เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสัตว์ในระบบนิเวศ หรือที่นิยมเปรียบเปรยว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ด้วยสรรพสิ่งผูกพันกัน ต่างมีหน้าที่ หาได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ ไม่

Advertisement

“เหยี่ยวเล็กตะโพกขาว” นับเป็นนกหายากในบ้านเรา เพราะป่าเต็งรังจะพบบนพื้นที่ราบหรือเชิงเขาระดับต่ำจึงถูกบุกรุกทำลายได้ง่าย แม้ว่าจะแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศแถบอาเซียน ตั้งแต่เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่ประชากรในทุกประเทศล้วนถูกคุกคาม ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้งที่เหยี่ยวชนิดนี้เป็นนกถิ่นเดียวของภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ไม่พบในประเทศหรือทวีปอื่นบนโลกนี้

ความโดดเด่นของเหยี่ยวเล็กตะโพกขาว คือมีความแตกต่างระหว่างเพศที่เด่นชัดอย่างมาก เพศเมียสีสันฉูดฉาดกว่าเพศผู้ ด้วยขนสีส้มตั้งแต่กระหม่อมถึงท้ายทอย ส่วนเพศผู้มีแค่ลายสีเทา และเพศเมียมีหน้าที่ดูแลอาณาเขต หรือบริเวณบ้านของคู่ผสมพันธุ์ที่กว้างขวางเพียง 800 เมตร โดยประมาณ

เมื่อเหยี่ยวล่าเหยื่อจะเกาะบนกิ่งไม้ระดับกลาง ไม่สูงมากนัก เพียง 3-4 เมตร เหนือพื้นดิน แล้วมองหาแย้ กิ้งก่า ตั๊กแตน เมื่อเห็นเหยื่อก็จะบินลงไปจับด้วยกรงเล็บบนพื้น แล้วกินเลย หรือถ้าเหยื่อตัวใหญ่ อาจบินขึ้นมาฉีกกินบนกิ่งไม้ เพื่อจะเช็ดปาก ขัดถูจะงอยปากกับเปลือกไม้ ทำความสะอาดลบคราบเลือดออก ซึ่งพื้นป่าเต็งรังย่อมต้องโล่ง ปราศจากพุ่มไม้ เหยี่ยวจึงจะสามารถมองเห็นเหยื่อได้ง่าย ซึ่งจะพบได้ในป่าเต็งรังที่มีไฟป่าเกิดขึ้นในฤดูแล้ง ช่วยควบคุมมิให้ไม้พื้นล่างเจริญมากเกินไปและปกคลุมพื้นดินจนแน่นขนัดไป

Advertisement

ในแง่พลวัตของป่าเต็งรัง ไฟป่าจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนป่าให้มีชีวิตและเอื้อต่อความอยู่รอดของเหยี่ยวถิ่นเดียวแห่งอาเซียนชนิดนี้

(ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.birdsofthailand.org/node/172)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image