ภาพเก่าเล่าตำนาน : กลายเป็นเรื่องใหญ่…ถ้าจดหมายไปไม่ถึง : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เปิดเผยเกร็ดประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันในสมรภูมิยุโรป ขาดการติดต่อกับครอบครัว คนรัก เพราะงานไปรษณีย์ในสนามรบ “หยุดชะงัก”….. ผมอ่านข่าวต่างประเทศจากข่าวสด ฉบับ 15 สิงหาคม 2561… “ไล่ออกบุรุษไปรษณีย์อินเดีย” ซุกจดหมาย 6,000 ฉบับ นานกว่าสิบปี หลังจากพบว่าเขาไม่ยอมนำส่งจดหมายหลายพันฉบับในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ปฏิบัติหน้าที่…

กองจดหมายและพัสดุที่ซ่อนเก็บไว้ ถูกพบโดยบังเอิญตอนที่เด็กนักเรียนเข้าไปเล่นในที่ทำการไปรษณีย์หลังเก่าในหมู่บ้านโอดังกา (Odhanga) ในรัฐโอริสสาของอินเดีย

เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ นายจากันนาท ปูฮาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์ประจำสาขาดังกล่าวมานานราว 10 ปี ถูกสั่งพักงาน ฐานเพิกเฉยและละเลยหน้าที่

อาบัง ปูฮาน คือ 1 เดียวที่รับผิดชอบดูแลไปรษณีย์เล็กๆ ประจำหมู่บ้านแห่งนี้มานาน 10 ปี แกจะเลือกส่งจดหมายเฉพาะฉบับที่พอใจจะส่ง ที่เหลือ (กู) ไม่ไปส่งราว 1,500 ฉบับที่ยังมีสภาพดี แต่มากกว่าครึ่งของจดหมายกว่า 6,000 ฉบับ เปียกชื้นและโดนปลวกแทะเสียหาย….

Advertisement

ข่าวลักษณะนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่น่าตกใจกับเหตุการณ์ที่อาบังแกขี้เกียจ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ

ผมเคยอ่านบทความภาษาอังกฤษ พบเหตุการณ์ที่กลับตาลปัตร ในทิศทางตรงข้ามกับเรื่องในอินเดีย…เป็นเหตุการณ์ที่กองทัพจะต้องจัดการเด็ดขาด ให้จดหมายและพัสดุต้องไปถึงมือทหารในสนามรบให้ได้…

Advertisement

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอนำเหตุการณ์งานไปรษณีย์ที่กำลังล้มเหลวของกองทัพสหรัฐในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาพูดคุยกันครับ….

8ธันวาคม พ.ศ.2484 เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เป็นช่วงเวลาที่สังคมอเมริกันมีความเหลื่อมล้ำ เรื่อง “สีผิว” อย่างเข้มข้นเข้ากระดูกดำ มีมาตรการกีดกัน แบ่งแยกสีผิวระหว่างคนขาว-คนดำแบบน้ำกับน้ำมัน

คนดำเองก็พยายามดิ้นรนต่อสู้ในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม โรงเรียนบางแห่งในอเมริกา รับเฉพาะนักเรียนผิวขาว ร้านค้าบางร้านไม่ต้อนรับคนผิวดำ ในกองทัพสหรัฐที่กำลังจะเข้าสู่สมรภูมิ ผู้บังคับหน่วยต้องเป็นคนผิวขาวเท่านั้น คนดำไม่มีสิทธิ

นักบินในกองทัพอากาศสหรัฐ ถ้าจะเป็นนักบินรบ นักบินขับไล่ นักบินไอพ่นต้องเป็นอเมริกันขาว ส่วนอเมริกันดำจะต้องไปบินเครื่องบินลำเลียง ในงานโลจิสติกส์ (ส่งกำลังบำรุง) บินเครื่องบรรทุกสัมภาระ เรื่องราวที่แสนจะสะเทือนใจของการเหยียดผิวขาว-ดำ ในกองทัพอากาศสหรัฐ ถูกเปิดเผยในภายหลัง ถึงขนาดนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ The Red Tails ที่ออกฉายทั่วโลกในปี พ.ศ.2555

สหรัฐเข้าสู่สงครามแบบนักมวยกล้ามใหญ่ ที่กำลังสดชื่น มีพละกำลังเต็มพิกัด ฟิตซ้อมมาอย่างดี ในขณะที่ชาติพันธมิตรญาติสนิท คือ อังกฤษ เกือบหมดแรง มองหามุมเพื่อเดินกลับไปหาพี่เลี้ยง เพราะกองทัพนาซีเยอรมันของฮิตเลอร์ รบชนะทุกสมรภูมิทั้งบนบก ในน้ำ และในอากาศ

กองทัพนาซีเยอรมัน รบราฆ่าฟัน ทั้งทหารและพลเรือน โดยเฉพาะการไล่ล่า สังหารพลเรือนชาวยิวนับล้านคนโดยการจับเข้า “ห้องแก๊สพิษ” เป็นเหตุการณ์ที่โลกไม่มีวันลืม

เมื่อประกาศสงคราม เด็กหนุ่มอเมริกันนับแสนต้องพักการเรียนจากวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เข้ารับการฝึกเป็นทหาร ถูกส่งเข้าสู่สนามรบ ที่ไหนมีกองทัพนาซี กองทัพอิตาลี กองทัพญี่ปุ่น ทหารอเมริกันจะถูกส่งไปทำศึกอย่างดุเดือด

คน คือ ทรัพยากร เมื่อรัฐบาลระดมผู้ชายส่วนใหญ่ไปสงครามนอกประเทศ สงครามดำเนินไปไม่นาน ก็ขาดแคลนแรงงานด้านการสนับสนุน ปัญหาที่นึกไม่ถึง คือ กิจการไปรษณีย์ทหารในยุโรปที่กำลังกลียุค ทหารอเมริกันในยุโรปที่กำลังสู้รบไม่ได้รับจดหมาย ขาดการติดต่อกับทางบ้านเป็นเวลานานนับเดือน

กองทัพสหรัฐผ่านกฎหมายให้มีทหารผิวหญิงดำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2485 กองทัพแต่งตั้งผู้บังคับหน่วยทหารหญิงผิวดำคนแรก ชื่อ ชาริตี อดัมส์ เออร์ลีย์ ซึ่งเธอกำลังศึกษาปริญญาโทด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งในยุคนั้นมีผู้หญิงผิวสีในอเมริกาไม่ค่อยมีโอกาสมากนักที่จะได้รับการศึกษาสูงระดับนี้

ในปี พ.ศ.2487 แมรี เอ็ม. บีธูน (Mary McLeod Bethune) ไปเสนอความเห็นกับเอเลนอร์ รูสเวลท์ สตรีหมายเลข 1 ภรรยาของประธานาธิบดีรูสเวลท์ เพื่อแก้ปัญหากิจการไปรษณีย์ในสมรภูมิยุโรป โดยจะมอบหน้าที่ให้หน่วยทหารหญิงผิวดำไปจัดการงานไปรษณีย์ในยุโรป

ความกินแหนงแคลงใจเรื่องสีผิวที่คุกรุ่น ทำให้สื่อในอเมริกากระตุ้นให้สังคมยกย่องเรื่อง “ใช้สตรีผิวดำในกิจการกองทัพ”

สตรีผิวดำจำนวนมากมาสมัครเป็นทหารไปเพื่อทำงานในกองทัพ

พวกเธอทั้งหมดถูกส่งไปฝึกทหารเบื้องต้นที่ศูนย์การทหารราบ ฟอร์ตเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย (ทหารไทยคุ้นเคยกับค่ายทหารแห่งนี้จำนวนไม่น้อย)

กองทัพบกสหรัฐเร่งจัดตั้งกองพันไปรษณีย์สนาม ปรับย้ายทหารหญิงผิวดำเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการในหน่วย เช่น อลิซ ดิกสัน ที่ทำงานในเพนตากอนมาก่อน

กองพันไปรษณีย์สนาม 6888 (6888th Central Postal Directory Battalion) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยบรรจุทหารหญิงทั้งหมดและต้องเป็นคนผิวดำ

กองพันนี้มีกำลังพลทหารหญิง 855 นาย ทั้งนายทหารสัญญาบัตร นายสิบ พลทหาร ล้วนสมัครใจที่จะรับใช้กองทัพสหรัฐในยามสงคราม

ผู้บังคับกองพัน คือ พันตรีหญิง ชาริตี อดัมส์ เออร์ลีย์ (Maj Charity Adams Earley)

เมื่อฝึกเสร็จ กองพันทหารหญิงผิวดำ 6888 ถูกส่งไปทำงานในยุโรปเพื่อทำหน้าที่ “ไปรษณีย์ทหาร” ที่ทหารอเมริกันกำลังกระจายกันอยู่ในทวีปยุโรป

ขอเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพครับ… จดหมายจากครอบครัวที่อยู่แนวหลังในอเมริกา และจดหมายจากทหารในแนวหน้า ที่จะต้องส่งข่าวติดต่อกันไป-มา ให้กำลังใจกัน รู้ข่าวคราว “มีคุณค่าสูงส่ง” เกินบรรยาย

ผู้นำหน่วยทหารจะต้องใส่ใจกับเรื่องของการไปรษณีย์แบบเข้มงวด ต้องมีหลักประกันเรื่องของจดหมาย เพราะมันคือ “อำนาจกำลังรบ” ชนิดหนึ่ง

อำนาจกำลังรบแบบมีตัวตน เช่น ปืน กระสุน รถถัง ปืนใหญ่ เสื้อผ้า อาหาร รองเท้า ฯลฯ

อำนาจกำลังรบแบบไม่มีตัวตน คือ “ขวัญ” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Morale” ที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับทหารในสมรภูมิ ทหารจะกล้าหาญชาญชัย ฮึกเหิม ห้าวหาญ วิ่งเข้าหาข้าศึก มีวินัย วินัยเสื่อม ทหารจะขี้ขลาดตาขาวยกธงขาวยอมแพ้ มี “ขวัญ” เป็นตัวกำหนด

ความสามารถดำรงการติดต่อด้วยจดหมาย รู้เรื่องภายในครอบครัว พ่อ แม่ ภรรยา ลูก เพื่อนฝูง เป็นเรื่องที่พิสูจน์ฝีมือการทำงานของกองทัพ ต้องมีคนรับผิดชอบชัดเจน

กิจการไปรษณีย์สนามที่กองท่วมหัว กำลังพลขวัญเสียเรื่องไม่ได้รับจดหมาย จดหมายส่งผิดที่ ส่งล่าช้า กองทัพระส่ำระสายไม่น้อย ขวัญตก

คำขวัญของหน่วยทหารหญิงนี้ คือ “ไม่ได้รับจดหมาย ขวัญหาย” (No mail, no morale)

กองพันนี้ประกอบด้วย 5 กองร้อย คือ ร้อย บก. กองร้อย A B C และ D กำลังพลทำหน้าที่เป็นเสมียนไปรษณีย์ แบ่งทหารหญิงไปทำอาหาร ดูแลซ่อมบำรุงเครื่องจักร และงานสนับสนุน

ประวัติและผลงานของหน่วยนี้ คือ

คัดแยกจดหมายจำนวนมหาศาลหลายแสนฉบับที่ตกค้าง พวกเธอต้องทำงานในสภาพที่หนาวจัด แบ่งเป็น 3 ผลัด ทำงาน 24 ชั่วโมง แต่ละผลัดจะต้องคัดแยกจดหมายให้ได้ 65,000 ฉบับ

มีทหารและพลเรือนอเมริกันในยุโรปใช้บริการไปรษณีย์จากหน่วยนี้เหล่านี้ราว 7 ล้านคน

3 กุมภาพันธ์ 2488 บรรดาทหารหญิงผิวดำทั้งกองพันออกเดินทางจากอเมริกาด้วยเรือโดยสาร

14 กุมภาพันธ์ กองพันไปรษณีย์สนามไปขึ้นบกที่เมืองกลาสโกว์ ในอังกฤษ ที่ใช้เวลาเดินทางนานหน่อยเพราะระหว่างเดินทางในมหาสมุทรแอตแลนติก เรืออเมริกันที่บรรทุกทั้งกองพันต้องหลบเลี่ยงเรือดำน้ำเยอรมันตลอดทาง

กองพันทหารหญิงผิวดำต่อรถไฟไปเมืองเบอร์มิงแฮม

ไม่ผิดหวังแม้แต่น้อย ในที่สุดกองพัน 6888 ของพวกเธอก็ได้พบภาพของอาคารเก่าหลังหนึ่งที่แปะป้ายเก่าๆ ว่า “ที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว” ในอาคารคือ กองจดหมายขนาดมหึมาที่สูงเกือบถึงเพดาน

กองทัพตระหนักดีว่า ถ้ากิจการไปรษณีย์ชะงัก มันคือการทำร้ายจิตใจทหาร

บรรดาจดหมายและพัสดุที่กองท่วมหัวนับแสน นับล้านชิ้น ล้วนแล้วแต่ “ไม่ปกติ” เพราะบางชิ้นใช้ชื่อแรก ไม่มีนามสกุล บางชิ้นไม่ระบุนามหน่วย ระบุนามหน่วยผิด ฯลฯ

เหล่านี้คือ ปัญหาที่ถูกหมักหมมไว้ หมดปัญญา ไม่มีคนที่จะมานั่งเพ่งพิจารณาหาผู้รับจดหมายในสนามรบที่แสนจะสับสน

ทหารหญิงในกองพันนี้ทำงานหนัก สะสาง แยกแยะ ควานหาผู้รับจดหมายสุดความสามารถ สืบหาด้วยบัญชีกำลังพล ทำเนียบกำลังรบ ชื่อผู้รับบางคนเสียชีวิต บางคนบาดเจ็บอยู่ในโรงพยาบาล ย้ายหน่วยไปแล้ว

เมื่อคำนวณแล้ว หน่วยทหารนี้น่าจะจัดการกับจดหมายและพัสดุตกค้างกองมหึมาให้เสร็จใน 6 เดือน แต่เมื่อเจอกับความจริงจัง การทุ่มเทแบบมืออาชีพของทหารหญิง ภารกิจนี้สำเร็จลงภายใน 3 เดือน ภารกิจจบลงในพฤษภาคม 2485

ทหารอเมริกันที่กระจายกันอยู่ในสนามรบในทวีปยุโรปได้รับจดหมาย ได้รับพัสดุที่ตกค้าง มีรายงานว่า ทหารทั้งหลายมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น

มีบันทึกที่ไม่น่าปลื้มว่า ทหารหญิงผิวสีกองพันนี้ต้องทำงานในอาคารที่ไม่ได้ปรับอุณหภูมิ ไม่มีเครื่องทำความร้อน ขาดแคลนเครื่องนอนในหน้าหนาวของอังกฤษที่แสนทารุณ แน่นอนที่สุดคือ ต้องแยกที่ทานอาหารกับทหารผิวขาว

ประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาเปิดเผยภายหลัง ตอกย้ำถึง “การเหยียดชนชั้น” ของคนผิวขาวอย่างน่ารังเกียจ พวกเธอทั้งหมดต้องพักรวมกันในอาคารของโรงเรียนแห่งหนึ่ง

ในขณะที่ทหารผิวขาวไปขอพักในบ้านของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง…เรื่องห้องน้ำสำหรับผู้หญิงคงลำเค็ญไม่น้อย

ลำบาก ตรากตรำ ย่ำแย่ขนาดนี้ ทหารหญิงผิวดำในหน่วยนี้ยังมีน้ำใจเปิดเผยในภายหลังกล่าวว่า “ชาวยุโรปในชนบทยังมีน้ำใจ ดูแลพวกเราดีกว่าตอนที่เราอยู่ในอเมริกาซะอีก”

เมื่อสะสางงานไปรษณีย์ในเบอร์มิงแฮมเสร็จเรียบร้อย ยังมีกองจดหมายพะเนินเทินทึกในฝรั่งเศส กองพันไปรษณีย์ 6888 ถูกส่งไปปารีส

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเร้าใจสำหรับทหารหญิงอเมริกันผิวดำที่จะมีโอกาสได้ไปปารีส เพราะที่พักที่พวกเธอทำงานมาราว 3 เดือนเศษ มันแสนจะอัตคัด แออัด ทารุณ คราวนี้กำลังพลได้เข้าพักในโอเต็ล เอตาซูนี (Htel tats-Unis) สะดวกสบายมากขึ้น เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีคำสั่งจากวอชิงตันให้ส่งกำลังพลบางส่วนกลับอเมริกา

ผู้บังคับกองพันหญิงจึงต้องไปร้องขอชาวปารีสให้เข้ามาช่วยงานต่อไป ซึ่งชาวเมืองน้ำหอมที่สะบักสะบอมจากการโจมตีของนาซีเยอรมันก็อาสาเข้ามาช่วยงานด้วยความเต็มใจ

เมื่อจบภารกิจในปารีส ทหารหน่วยนี้เดินทางกลับอเมริกา ไม่มีพิธีต้อนรับ ไม่มีการสดุดี ทุกอย่างเงียบหายไปกับกาลเวลา

วีรกรรมของเหล่าทหารหญิงผิวดำทำหน้าที่ไปรษณีย์ในสนามรบถูกนำมาเปิดเผยในนิวยอร์กไทม์ส ฉบับ 6 สิงหาคม 2488 ชาวอเมริกันต่างชื่นชม ปลื้มกับ “งานเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” จึงมีการบริจาคเงินเพื่อช่วยเป็นทุนการศึกษาให้กับ “คนแอฟริกันอเมริกัน” ได้เงินทั้งสิ้น 4,504 ดอลลาร์ เข้า “กองทุนวิทยาลัยนิโกร” (United Negro College Fund)

ต้องขอเรียนท่านผู้อ่านอีกครั้งนะครับ สังคม ที่พักอาศัย และการเล่าเรียนในอเมริกายุคโน้น แบ่งแยกโรงเรียน วิทยาลัยกันเด็ดขาดตามสีผิว เงินจำนวนนี้มอบให้สถานศึกษาคนผิวดำ

ในยุคต่อมา คำว่า “นิโกร” เปลี่ยนเป็น “คนผิวสี” และพัฒนาเป็น “แอฟริกันอเมริกัน”

เรื่องราวที่ผมนำเล่าสู่กันนี้ถูกนำมาตีแผ่เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ กองทัพบกสหรัฐจัดพิธี “เทิดเกียรติ” อดีตทหารหญิงเหล่านี้ใน เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ณ สุสานอาร์ลิงตัน กรุงวอชิงตัน

พันเอก เดวิด กริฟฟิธ กล่าวในพิธีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ว่า “สำหรับทหารในสนามรบ.. จดหมายจากทางบ้าน คือ ปัจจัยที่สำคัญกว่า ที่นอน ที่กินของทหาร.. ภาพถ่าย โปสการ์ด จดหมาย พัสดุ ล้วนมาจากญาติ เพื่อนฝูงของทหารที่มีความหมายยิ่งนัก..”

1 สัปดาห์ต่อมา สตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐ มิเชล โอบามา มาเป็นประธานกล่าวยกย่องสดุดีอดีตทหารหญิงผิวดำกองพันไปรษณีย์สนาม 6888 ที่สุสานทหารหญิงที่อาร์ลิงตัน

นางอลิซ ดิกสัน อดีตทหารในหน่วย อายุ 101 ปี แมรี คลอฟอร์ด อายุ 81 ปี เกลดิส คาร์เตอร์ อายุ 87 ปี ได้มีโอกาสเข้าร่วมการเทิดเกียรติในครั้งนั้น กำลังพลที่เหลือเสียชีวิตไปหมดแล้ว

ที่แปลและเรียบเรียงบทความมานี้ ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น ขนลุก ขนพอง แม้แต่น้อย หากแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความซื่อตรงต่อหน้าที่ ความรับผิดชอบอันสูงส่ง ซื่อสัตย์ มีหลักการในการแก้ปัญหา กล้าตัดสินใจใช้คน

ถ้าจะป่าวประกาศว่า จดหมาย พัสดุนับแสนชิ้นสูญหายบ้าง โดนระเบิดบ้าง โดนน้ำท่วมบ้าง เอาไปโยนทิ้ง เอาไปเผา ให้มันจบๆ กันไป ในยามสงคราม ก็คงไม่มีใครรู้

อีกทั้งวัฒนธรรมอันงดงามของสังคมที่ให้การยกย่อง-ให้เกียรติ “ผู้ที่เสียสละ” เพื่อส่วนรวมเสมอ จะสร้างความเจริญให้สังคมทุกหมู่เหล่า….

ข้อมูลจาก : https://armyhistory.org/6888th-central-postal-directory-battalion/

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image