บางเรื่องเกี่ยวกับกองทัพกับความรุนแรง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กองทัพกับความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรงที่เราเรียกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในกองทัพและความรุนแรงที่กองทัพกระทำต่อสังคม

เรื่องมันยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีกเพราะกองทัพไม่ใช่องค์กรธรรมดาองค์กรหนึ่ง แต่กองทัพเป็นส่วนสำคัญของรัฐและการใช้อำนาจของรัฐ ในหลายกรณีกองทัพก็อาจควบคุมรัฐทั้งหมดโดยปราศจากการตรวจสอบของสังคมและการคานอำนาจจากภาคส่วนอื่่น เช่นในกรณีของการที่รัฐถูกยึดอำนาจโดยกองทัพ

ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเป็นสิ่งที่เลวร้ายและน่ารังเกียจแต่อย่างใด และวิวาทะว่าด้วยเรื่องบทบาทของกองทัพเป็นเพียงเรื่องว่าสังคมควรมีกองทัพหรือควรยกเลิกกองทัพไปเสียเลย  การอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในเรื่องของบทบาทของกองทัพและการปฏิรูปกองทัพ แสดงให้เห็นถึงระดับความเข้าใจและเอาใจใส่ในเรื่องของการจัดวางความรุนแรงในสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระดับจิตใจและอารยธรรมของสังคมนั้น

กองทัพไม่ใช่กองโจร แต่กองทัพคือบทสะท้อนให้เห็นว่าในสังคมต่างๆ จัดวางการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงอย่างไร

Advertisement

หัวใจของการมีกองทัพสมัยใหม่ ข้อหนึ่ง ก็คือการจัดวางระบบระเบียบให้กับการใช้ความรุนแรง และนั่นคือส่วนหนึ่งของการเข้มงวดกวดขันกับการฝึกทหาร และการเน้นย้ำถึงการที่ทหารต้องมีวินัย เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ภารกิจในการปกป้องประเทศชาติและประชาชนเกิดขึ้นได้

อย่าลืมว่ารัฐสมัยใหม่เป็นรัฐที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรง ต่างจากรัฐในอดีตที่อำนาจในการควบคุมประชาชนนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องแบ่งปันอำนาจกันระหว่างผู้มีอิทธิพลและอำนาจในท้องถิ่น เช่น ระบบขุนศึกท้องถิ่น ระบบศักดินา หรือระบบเจ้าพ่อ

Advertisement

ย้อนไปในอดีต กองทัพไม่มีระบบเกณฑ์ทหารและระบบกลาง หรือระบบประจำการ (อิงจากประวัติศาสตร์ของโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตก) กองทัพเป็นเรื่องของการเกณฑ์ผู้คนในแต่ละท้องถิ่นให้ขึ้นตรงต่อผู้มีอิทธิพลในท้องที่และการสวามิภักดิ์ตามลำดับขั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ทั้งหมดที่ใช้ควบคุมทุกคนจึงไม่มี แต่อีกด้านหนึ่งการใช้อำนาจเกณฑ์ผู้คนก็มีการต่อรองสูง มีการเข้าเดือนออกเดือน ระเบียบวินัยต่ำ การหนีศึกสงครามก็มีปรากฏ

ในโลกสมัยใหม่การสร้างกองทัพประจำการและการเกณฑ์ทหารเพื่อสร้างกองทัพประจำการนั้นกลายเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปกองทัพในอดีต สะท้อนถึงความก้าวหน้าและประสิทธิภาพของกองทัพ

เป้าหมายของการฝึกทหาร เมื่อการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มจึงเป็นเรื่องของการฝึกฝนให้กำลังพลของกองทัพมีประสิทธิภาพในการรบ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการทหาร และ การวางแผนยุทธการแล้ว การเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาและการมีวินัยจึงเป็นส่วนสำคัญในการจัดเตรียมกำลังพลให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ค่อยสนใจแม้จะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เช่นกัน นั่นก็คือการฝึกฝนในกองทัพนั้นมีเป้าหมายของการยกระดับชีวิตจิตใจของบุคลากรในกองทัพให้มีคุณธรรมและอุดมการณ์รักชาติและประชาชนด้วย เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นตัวแบบสำคัญเมื่อเขาปลดประจำการและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์ว่าคุณธรรมที่กองทัพต้องการมอบให้สังคมอาจจะเป็นเรื่องของการเชื่อฟังคำสั่งมากกว่าเรื่องของเสรีภาพ ชาตินิยมที่ไม่ต้องตั้งคำถาม การปกครองสังคมโดยผู้ชายเป็นใหญ่ และการทำให้สังคมตกอยู่ในวิธีคิดและการปฏิบัติของทหาร (militarization) ในทุกเรื่อง

การเกณฑ์ทหารสมัยใหม่เป็นเรื่องที่ทรงเกียรติ เนื่องจากเป็นเรื่องของการบังคับให้คนทุกคนในรัฐเข้ามารับใช้และดูแลบ้านเมืองร่วมกัน ทหารที่ถูกเกณฑ์ถูกฝึก แม้ว่าด้านหนึ่งจะต้องอดทนต่อการฝึกและการบังคับบัญชา แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาเป็นพลเมืองของรัฐเช่นกัน การเกณฑ์ทหารโดยหลักการจึงเป็นเรื่องที่เท่าเทียมและข้ามพ้นชนชั้น แม้ว่าความเป็นจริงชนชั้นที่มีอำนาจและทรัพยากรจะหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารได้ง่ายและเป็นระบบกว่าชนชั้นล่าง ตัวอย่างเช่น การผ่อนผันที่มีต่อเรื่องของวุฒิการศึกษา หรือเรื่องการทุจริตต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังกันมา

การฝึกทหารสมัยใหม่ นอกจากเป้าหมายของประสิทธิภาพในการรบ วินัย และฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงจะต้องมีมิติของการส่งเสริมคุณธรรมที่ดีให้กับผู้รับการฝึก และการสร้างบรรยากาศที่ดีในหน่วยทหารเพื่อให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดีเมื่อพวกเขาปลดประจำการไปอยู่ในโลกพลเรือน

แม้ว่าปัจจุบันการเกณฑ์ทหารจะถูกยกเลิกในหลายพื้นที่ในโลก โดยเปลี่ยนเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาบรรจุเป็นทหาร ทั้งในฐานะเป็นอาชีพที่มั่นคง หรือเข้ามาฝึกฝนเป็นช่วงเวลา แต่การให้ความสำคัญกับการมีกองทัพและการฝึกทหารก็ยังดำรงอยู่ และในเรื่องดังกล่าวนั้นการให้ความสำคัญกับความรุนแรงกับกองทัพก็เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และต้องเน้นย้ำว่าการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นคนละเรื่องกับการยกเลิกกองทัพ และไม่ให้ความสำคัญกับกองทัพในฐานะสถาบันหลักของชาติ

เราอาจมีวิธีพิจารณาเรื่องความรุนแรงกับกองทัพเป็นสัก 3 ประเด็นใหญ่ๆ

หนึ่งคือ ระดับของการใช้ความรุนแรงของกองทัพต่อข้าศึกศัตรู เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนหนึ่งของการยอมรับของการมีกองทัพในโลกไม่ใช่เรื่องของการที่คนในโลกนี้มีธรรมชาติของการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และบ้าคลั่งการเอาชีวิตกัน ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ของการเข้าฝึกทหาร และเข้าใจภารกิจของกองทัพ จะพบถึงระเบียบขั้นตอนที่มากมาย รวมทั้งสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศอีกมหาศาลที่กำกับดูแล และสร้างระบบระเบียบขั้นตอนในการใช้ความรุนแรง และให้เหตุผลของการใช้ความรุนแรง

ดังนั้น การที่สังคมถกเถียงกันในเรื่องการทรมานและฐานทัพลับต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และทหารไม่ต้องใช้เงื่อนไขการแก้ตัวหรือตวาดใส่ผู้สื่อข่าวเมื่อเจอคำถามแบบนี้เพื่อหลบเลี่ยงการตอบคำถาม และบทบาทของตัวแทนพลเรือนในการตรวจสอบเรื่องแบบนี้จึงเป็นเรื่องอันเป็นปกติ

สองคือ การใช้ความรุนแรงของทหารในเรื่องนอกฐานทัพ ตัวอย่างที่สำคัญในโลกตะวันตกก็คือ การมีหน่วยงานจำนวนไม่น้อยที่รับร้องเรียน และพยายามศึกษาวิจัยว่าครอบครัวของทหารมีระดับการใช้ความรุนแรงมากกว่าครอบครัวพลเรือนไหม และเหยื่อในครอบครัวทหารจะได้รับการปกป้องดูแลอย่างไร รวมทั้งต่อตัวของทหารเอง เพราะแรงกดดันจากการรบอาจส่งผลต่อประเด็นทางจิตวิทยาของพวกเขาเอง เช่น การฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

อีกประการสำคัญในหัวข้อนี้ก็คือ การพยายามทำความเข้าใจว่าทหารที่ปลดประจำการเมื่อกลับเข้าสู่สังคมแล้วเขามีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเกี่ยวพันกับความรุนแรงอย่างไร เมื่อสัก 100 ปีที่แล้วมีกรณีในอังกฤษเองที่มีข้อค้นพบว่าระดับอาชญากรรมในสังคมเกิดขึ้นสูงหลังสงคราม และผู้กระทำความผิดเป็นทหารที่กลับจากสงครามและปลดประจำการ อีกทั้งสวัสดิการของคนเหล่านั้นก็ไม่ดีพอ

เรื่องเหล่านี้ต้องนำมาพิจารณาประกอบเช่นกัน กล่าวคือ จะพบว่าในปัจจุบันอาชญากรรมส่วนหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับทหารปลดประจำการบางกลุ่มเช่นกัน เช่น มือปืนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใต้ดินจำนวนไม่น้อย หรือมีการทะเลาะวิวาทระหว่างบุคลากรของกองทัพกับผู้คน หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่

สามคือ การใช้ความรุนแรงในหมู่ทหาร โดยเฉพาะในฐานทัพเอง เรื่องเหล่านี้มีตั้งแต่การปกครองประจำวัน การฝึกฝนและการลงโทษ การซ้อมทหารเกณฑ์ การลงโทษทหารเกณฑ์ และไปถึงข่าวคราวของความรุนแรงแม้แต่กับนักเรียนเตรียมทหารเอง ทำให้เราเห็นว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในกองทัพ

หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญในเรื่องของความรุนแรงกับกองทัพทั้ง 3 ประเภทก็คือ เรื่องของการที่สังคมรับรู้และตรวจสอบในเรื่องนี้ได้น้อย เมื่อสังคมตรวจสอบและรับรู้เรื่องนี้ได้น้อยก็กลับจะยิ่งสร้างความรู้สึกและความเชื่อที่ว่า ข่าวที่ปรากฏในเรื่องของความรุนแรงกับกองทัพทั้ง 3 แบบนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงที่กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกิดการเรียกร้องจากสังคมต่อความรุนแรงของกองทัพคือ ท่าทีของกองทัพและผู้บริหารประเทศที่มีต่อประเด็นของความรุนแรงของกองทัพที่มีทั้งต่อข้าศึก ต่อครอบครัวและสังคม และต่อบุคลากรในกองทัพเอง การเรียกร้องเป็นเรื่องของการทำให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลต่างๆ และกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และให้สังคมตรวจสอบได้ในเรื่องของการลดความรุนแรงในมิติต่างๆ ของกองทัพ แต่ไม่ลดประสิทธิภาพของกองทัพเอง เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ตัวประสิทธิภาพเอง แต่การควบคุมความรุนแรงให้ได้ต่างหากที่สะท้อนประสิทธิภาพของกองทัพ รัฐและสังคมนั้นๆ ให้ได้

ยิ่งเมื่อกองทัพเข้ามาปกครองประเทศเสียเอง คำถามและข้อสงสัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของกองทัพต่อสังคมและต่อกำลังพลของตัวเองก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะอย่าลืมว่ากองทัพมีธรรมชาติของการจัดการกับภัยและศัตรู แต่ถ้ากลไกของสังคมอ่อนแอขนาดที่ปล่อยให้กองทัพสามารถกำหนดศัตรูได้เอง ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นก็จะขาดมิติการควบคุมได้ง่าย กองทัพก็มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงโดยปราศจากการตรวจสอบทั้งกับศัตรู กับโลกนอกกองทัพ และโลกในฐานทัพของพวกเขาเองได้ง่าย

เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมองกันโดยสายตาที่ไม่ไว้วางใจกันเมื่อมีข้อห่วงใยและข้อกังวลต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยที่กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ปัญหานี้ และกองทัพควรจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ จากข้อมูล การสอบสวน และทรรศนะของผู้นำทหารหลายคนที่พยายามอธิบายความรุนแรงต่างๆ ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เคยผ่านมาก่อน หรือมองว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ลามไปจนถึงเรื่องของการมองว่าคนที่ตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้เป็นพวกที่ไม่หวังดีกับกองทัพและชาติบ้านเมือง

ผมเชื่อว่าบุคลากรในกองทัพเองจำนวนมากแม้อาจจะไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรออกมาในที่สาธารณะ แต่เขาย่อมจะมีความมุ่งหมายที่จะทำให้องค์กรของพวกเขามีประสิทธิภาพและมีเกียรติภูมิ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคม

และคนในสังคมจำนวนมากก็คาดหวังที่จะมีกองทัพที่ทรงประสิทธิภาพและมีเกียรติภูมิเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image