น้ำแข็งหนา3ฟุตมิใช่หนาววันเดียว : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

และแล้วก็ไม่เกินความคาดหมาย การเจรจาแก้ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน รอบที่ 4 วันที่ 22-23 สิงหาคม ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกานั้น
ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

ไม่มีผลออกมาอย่าง “เป็นชิ้นเป็นอัน”

และแม้ “เศษเนื้อข้างเขียง” ก็ยังหายาก

ค่อนข้างไร้สาระ

Advertisement

จึงไม่แปลกที่โฆษกทำเนียบขาวออกมาแถลงอย่างเสียไม่ได้ว่า

“ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาถึงความยุติธรรม และความสมดุลแห่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการแก้ปัญหาทางด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย”
ส่วนโฆษกรัฐบาลจีนอ่านตามสคริปต์ว่า “การเจรจาระดับรองรัฐมนตรีมีความสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความจริงใจ ทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาหารือกันถึงงานขั้นต่อไป”

ฝ่ายจีนนำโดย “หวัง โส่วเหวิน” รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายสหรัฐนำโดย “เดวิด มัลพาส” รองรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

Advertisement

การเจรจาปัญหาการค้าสหรัฐ-จีน เริ่มต้นตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพาณิชย์ จนกระทั่งถึงปัจจุบันลดลงเหลือระดับรองรัฐมนตรี

ระดับของคู่เจรจาลดลงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ายิ่งเจรจายิ่งแข็งกร้าว แข็งกร้าวจนร้าวฉาน

ฉะนั้นการเจรจาระดับล่างรอบนี้จึงไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม เป็นการ “หยั่งเชิง” มากกว่า

ก่อนหน้าการประชุม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คำรามว่า ในกรณีที่จีนไม่อาจเสนอสนธิสัญญาที่สหรัฐสามารถรับได้ และถ้าสหรัฐไม่ได้รับการตอบสนองที่ยุติธรรม
ไม่ว่าผลอันใดจะเกิดขึ้นมิได้เป็นอันขาด

ชัดเจนยิ่งว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ไม่อาจยุติในเวลาอันสั้น

มีแนวโน้มย้ำรอยประวัติศาสตร์สงครามเกาหลีสมัย 1950-1970 ที่มีการเจรจาระดับเอกอัครราชทูตจีน-สหรัฐ พลางเจรจาพลางรบกัน เป็นเวลาอันยาวนาน
สงครามเกาหลีเปิดการเจรจากันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1951-27 กรกฎาคม 1953

จึงได้เซ็นสัญญาหยุดยิง ท่ามกลางบรรยากาศเจรจาไปและรบกันไปเป็นเวลาถึง 2 ปีเต็ม

การเจรจาระดับเอกอัครราชทูตระหว่างจีน-สหรัฐประจำยุโรปเริ่มขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม 1955 ณ กรุงเจนีวา หลังจากนั้นได้ย้ายไปเจรจาที่เมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ จนกระทั่งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1970 ร่วม 15 ปี รวมจำนวน 136 ครั้ง ถือเป็นการเจรจา “มาราธอน”

การเจรจาปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-23 สิงหาคม รวม 4 ครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งทางด้านโครงสร้างการค้าระหว่างสองประเทศ
ล้วนเป็นปัญหาที่สะสมมานานเหมือน “ดินพอกหางหมู”

เข้าทำนองสำนวนจีน “น้ำแข็งหนา 3 ฟุต มิใช่เกิดจากอากาศหนาวเพียงวันเดียว”

หรือพูดอีกนัยหนึ่ง อากาศหนาวเพียงวันเดียว ไม่สามารถทำให้มีน้ำแข็งหนาถึง 3 ฟุต

ฉะนั้นการที่ “ระดับรองรัฐมนตรี” ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
จึงมิใช่เรื่องแปลก

รัฐบาลจีนยืนยันก่อนการประชุมว่าการเจรจาครั้งนี้ก็เพราะได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐ

อีกทั้งยืนยันว่า “รัฐบาลจีนคัดค้านลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิอนุรักษนิยมทางการค้า และไม่ยอมรับมาตรการอันเกี่ยวกับลัทธิฝ่ายเดียวทางการค้า” หวังเพียงว่า “การเจรจาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ยุติธรรม และซื่อสัตย์”

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การเจรจาก่อนหน้านี้หลายครั้ง จีนได้รับบทเรียนกับความ “ตระบัดสัตย์” ของสหรัฐ จึงเข็ดหลาบ เข็ดหลาบจน “ปักกิ่ง” ต้องระมัดระวังอย่างสุดสุด

ทว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เตือน “ปักกิ่ง” อย่าประเมิน “การตัดสินใจ” ของสหรัฐต่ำเกิน

การที่ “ทรัมป์” ส่ง “เดวิด มัลพาส” รองรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก็เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการคลัง การค้า สามารถให้คุณให้โทษ จึงได้ส่งมาประเมินสถานการณ์และพื้นฐานของจีนก่อนเพื่อหาแนวทางในการต่อสู้

อนึ่ง ภายในรัฐบาลของ “ทรัมป์” เองก็มีปัญหาความแตกแยกกันอย่างต่อเนื่อง อุปมาเหมือน “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” เป็นเหตุให้การเจรจาเดินหน้าลำบาก

ความจริงคู่สนทนาของ “หวัง โส่วเหวิน” ครั้งนี้มิใช่กระทรวงพาณิชย์ หากเป็น “สตีเวน มนูชิน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นเสนาธิการของสงครามการค้า ซึ่งเป็นพวกพิราบหัวรุนแรง กระหายสงคราม เป็นต้นความคิดที่ให้มีการเจรจาในรอบใหม่นี้ คือตัดสินใจก่อนเพียง 1 วัน ที่สหรัฐจะทำการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน 2 แสนล้านเหรียญ

ฉะนั้น การเจรจารอบใหม่นี้จึงดำเนินภายใต้บรรยากาศที่ขมุกขมัว

บัดนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจีนตกต่ำ ในขณะที่สหรัฐแข็งแกร่งขึ้น สงครามการค้า สหรัฐเป็นผู้รุก จีนเป็นผู้รับ

การเจรจารอบนี้สหรัฐเป็นผู้ “ถือไพ่” เหนือกว่าจีน บีบได้คลายได้

“แลร์รี่ คุดโลว์” ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจจีนไม่ดี เป็นขาลง การลงทุนล้มเหลว คนจีนกำลังขายทิ้งซึ่งพันธบัตร นักลงทุนในจีนกำลังถอยทัพกลับไป

เป็นที่ประจักษ์ว่า ตลาดหุ้นในแผ่นดินใหญ่ดำรงอยู่ในสภาพไม่สู้ดี ทั้งนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงกันข้ามตลาดหุ้นสหรัฐกลับรุ่งเรืองงอกงาม การเลือกตั้ง “มิดเทอม” ของสหรัฐ “ทรัมป์” จะได้รับอานิสงส์อย่างเต็มๆ

สหรัฐเปิดศึกการค้ากับจีนครั้งนี้ไม่เพียงความขัดแย้งทางการค้า หากเป็นการ “โยนหินถามทาง” อันเกี่ยวแก่ “ยุทธศาสตร์สกัดจีน” อีกด้วย เพราะว่าขอบเขตแห่งความขัดแย้งทางการค้านั้นได้เกินเลยไปในทางการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เป็นต้น

เป็นอุปสรรคขัดขวางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

สงครามการค้ารอบนี้ยังเป็นสัญญาณแจ้งให้สังคมโลกรับทราบว่า การที่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรับ “favorable offered” บางประการนั้น
บัดนี้สิ้นสุดลงแล้ว และสหรัฐ-จีนได้เข้าสู่สนามแข่งขันชิงชัยอย่างเต็มตัวแล้ว

อดีตกาลเมื่อ 2002 พลันที่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ขอบเขตเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ของจีนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของญี่ปุ่น และไม่ถึงเศษ 1 ส่วน 5 ของสหรัฐ

และยังเล็กกว่าพันธมิตรตะวันออกอีกด้วย

บัดนี้จีนใหญ่กว่าญี่ปุ่น 3 เท่าตัว และเกือบเท่ากับเศษ 2 ส่วน 3 ของสหรัฐ

ย้อนไปสมัย 1980 “เติ้ง เสี่ยวผิง” เคยสอนว่า เริ่มต้นการพัฒนาประเทศให้อยู่อย่างวิเวก เติบโตท่ามกลางความวิเวก ขณะนั้นจีนเป็นเพียงกระต่ายน้อยตัวหนึ่ง แต่วันนี้จีนเป็นช้างใหญ่หนึ่งเชือก ในทางตรรกะจะหลบซ่อนภายใต้ความวิเวกไม่ได้อีกแล้ว

ดังนั้นจีนต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพื่อความอยู่รอด ดังคติพจน์ของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ “ชาลส์ ดาร์วิน” ที่ว่า “It is not the strongest species that survive, nor the most intelligent, but the ones most responsive to change.” (สิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ได้ มิใช่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด หากสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้)

แม้จีนทราบดีว่าการทำสงครามการค้ามีความเสี่ยง แต่ก็ต้องกัดฟันสู้

ดูจากเปลือกนอก ภาวะเศรษฐกิจของจีนยังถือว่ามั่นคง มีกำลังและมีพื้นที่จะรับศึกได้

รัฐบาลจีนควรต้องแปลง “วิกฤต” ให้เป็น “โอกาส”

เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศในเชิงลึกต่อไป

นอกจากนี้ต้องยกระดับตลาดการค้าในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพ เที่ยงตรง ยุติธรรมและมีเหตุผล
ในเวลาเดียวกัน ต้องผลักดันการปฏิรูปประเทศอย่างแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน พัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ปรับปรุงโครงสร้างทรัพย์สินอย่างเร่งรีบ เพิ่มพูนมาตรฐานธุรกิจไฮเทคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และต้องไม่หวั่นไหวต่อผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามการค้า

ถ้าจีนทำได้ ก็น่าจะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า สหรัฐจะบังคับให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด

มิใช่เรื่องง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image