สมหมาย ปาริจฉัตต์ : 4 เคารพ 2 รับผิดชอบ

พ ล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างความสามัคคีปรองดองออกมายืนยันว่า ขณะนี้กำลังพยายามร่วมกันประคองนำพาประเทศเดินทางไปข้างหน้าด้วยความสงบและมั่นคง ผ่านสัญญาประชาคมที่ร่วมกันจัดทำขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย

ครับ ฟังแล้วอดคิดไม่ได้ว่าหลายฝ่ายแทบลืมกันไปแล้วถึงเรื่องสัญญาประชาคม เพราะตั้งท่ารำกันมาเป็นเวลานานเกือบ 4 ปีเต็ม จนป่านนี้ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ยิ่งเข้าสู่บรรยากาศรอปลดล็อกห้ามชุมนุมเกิน 5 คนเพื่อรับการเลือกตั้ง สัญญาประชาคมที่ว่านี้ยิ่งถูกลดความสนใจลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากประเด็นพื้นฐานความไม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความสมานฉันท์ปรองดองได้สำเร็จจริงแล้ว

สาระสำคัญของสัญญาประชาคมที่ว่าก็คือ
หลักการ 4 เคารพ 2 รับผิดชอบ ประกอบด้วย

เคารพความแตกต่างจากความเป็นจริงของคนและสังคมที่มีความหลากหลายโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
เคารพความเสมอภาค เท่าเทียมกันในวิธีประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นเจ้าของและต่างยึดมั่น

Advertisement

เคารพสิทธิผู้อื่นโดยไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

เคารพกติกาหรือกฎหมาย โดยไม่ใช้อารมณ์หรือกำลังแก้ปัญหา และต้องยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย

รับผิดชอบต่อตนเองโดยรู้หน้าที่และเรียนรู้ที่จะพัฒนาพึ่งตนเอง

Advertisement

รับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสมาชิกของสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและใช้สิทธิเสรีภาพ โดยมีความรับผิดชอบ

“ความเคารพและความรับผิดชอบดังกล่าวเป็นพื้นฐานสังคมประชาธิปไตยและแกนของสาระในสัญญาประชาคมทั้ง 10 ข้อ” ประธานอนุประชาสัมพันธ์ย้ำ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติ

หลักการสวยหรู แต่ตอบโจทย์ได้ครบถ้วนทุกด้านและทุกฝ่าย จนทำให้ความปรองดองสมานฉันท์เป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่ ยังต้องติดตาม

เพราะไม่ว่าสังคมใดจะแบ่งผู้คนออกเป็นกี่กลุ่มกี่ฝ่ายก็ตาม สรุปรวมแล้วก็แค่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองหรือฝ่ายปกครอง กับฝ่ายผู้ถูกปกครอง

การปฏิบัติตามข้อตกลงพันธสัญญาประชาคมที่ว่านี้ต้องเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย ปัญหาของสังคมถึงจะแก้ไขลุล่วงไปได้ การเรียกร้องให้ฝ่ายหนึ่งปฏิบัติ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเช่นกัน หลักการ 4 เคารพ 2 รับผิดชอบก็ไร้ความหมาย เพราะเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม

รากเหง้าของปัญหาไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม ที่เป็นต้นเหตุให้สังคมไม่สงบสุข สมานฉันท์ สามัคคี ก็คือ ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม กดขี่ข่มเหง รังแก เอารัดเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ฝ่ายหนึ่งทำ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทำ นั่นเอง

ดีแต่เรียกร้องต่อฝ่ายอื่น ไม่เรียกร้องเข้มงวดกับตัวเอง

ฉะนั้นไม่ว่าใครจะพยายามแก้ไข ทำให้โครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวเกิดความเป็นธรรมอย่างไรก็ตาม โดยไม่ขจัดเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำให้ลดลงและเกิดความเท่าเทียมกันจริง ก็อย่าหวังเลยว่า ความสงบสุข ร่มเย็น เรียบร้อย น่าอยู่ ปรองดองสมานฉันท์ ยึดมั่นในสัญญาประชาคม จะเกิดขึ้น

ดังกรณีตัวอย่าง ฝ่ายสนับสนุนผู้มีอำนาจเคลื่อนไหวในนามกลุ่มไม่ใช่พรรคการเมือง ผู้มีอำนาจบอกว่าทำได้ ไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่เข้าข่ายเป็นพรรคการเมือง แต่ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งไม่ได้เป็นพรรคการเมืองเช่นกัน เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมกลับถูกจับกุมดำเนินคดี

การเลือกปฏิบัติ สอง สามมาตรฐาน ทำให้เกิดความลักลั่น เหลื่อมล้ำ คำพูดกับการกระทำไม่ไปด้วยกัน การเรียกร้องให้ผู้อื่นปฏิบัติ กับการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างก่อนจึงต้องเกิดคู่ขนานกันไป ข้อเรียกร้องเชิญชวนต่างๆ ถึงจะศักดิ์สิทธิ์ได้ผล ผู้คนยอมรับปฏิบัติ

ในขณะที่เรียกร้องให้เคารพกติกาหรือกฎหมายโดยไม่ใช้อารมณ์หรือกำลังแก้ปัญหา แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติก็คือ การใช้กำลังเป็นฐานในการแก้ปัญหา สัญลักษณ์ของความรุนแรงยังดำรงอยุู่อย่างเหนียวแน่น ใช่หรือไม่

ก่อนหน้านี้จึงเกิดเสียงเรียกร้องว่าหลังรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สลายตัว นั่นเท่ากับยุติแนวทางแก้ปัญหาด้วยกำลัง ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักการ 4 เคารพ 2 รับผิดชอบ จึงเป็นการเรียกร้องฝ่ายเดียว พูดความจริงครึ่งเดียว

เมื่อความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม การเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐานหรือหลายมาตรฐานยังดำรงอยู่ การกล่าวโทษไปที่คนอื่นเป็นหลัก มองทบทวนตัวเองเป็นรอง การเรียกร้องเชิญชวนต่างๆ นานา ไปก็เท่านั้น

4 เคารพ 2 รับผิดชอบ จึงมีค่าเสมอเพียงวาทกรรมไว้เตือนใจ แต่ไร้การปฏิบัติเป็นรูปธรรม จนกว่าความยุติธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นให้เห็นก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image