วีรพงษ์ รามางกูร : การจราจรใน กทม.

เมื่อถึงหน้าฝนทีไร เราก็จะเห็นรัฐบาลออกมาสั่งการให้ตำรวจแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครอยู่เสมอ ทุกปีเป็นเช่นนี้มาตลอด 40-50 ปีแล้ว เพราะเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน ที่มีทั้งฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มาจากทะเลอันดามัน ฝนจากลมใต้ฝุ่นที่มาจากทะเลจีนใต้ ฝนตกหนักน้ำท่วมเริ่มจากญี่ปุ่น แล้วเคลื่อนต่ำลงเรื่อยๆ เข้าฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีนตอนใต้ เวียดนาม แล้วก็ไทย ก่อนลงใต้ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

ฝนตกหนักบ้างเบาบ้างจนทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเวลานานบ้าง ชั่วคราวบ้าง ถ้าท่วมอยู่นานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เรียกว่า น้ำท่วมจาก “ฝนพันปี” เพราะท่วมอย่างนี้ 1,000 ปี จึงจะมีครั้งหนึ่ง

แต่ถ้าฝนตกแล้วน้ำเจิ่งนอง ท่วมชั่วคราว ก็ไม่เรียกว่าน้ำท่วม แต่ผู้ว่าฯกทม.จะเรียกว่า “น้ำฝนรอระบาย”

ทุกครั้งที่ฝนพันปีตก หรือกรุงเทพฯมีน้ำรอระบายเจิ่งนอง ก็จะมีปรากฏการณ์การจราจรติดขัด หรือเกิดภาวะรถติดวินาศสันตะโร ผู้คนออกจากที่ทำงาน 16.30 น. หรือ 17.00 น. ก็ต้องผ่านถนนชั้นในกรุงเทพฯไม่ว่าถนนใด กว่าจะถึงบ้านบางทีก็เกือบ 21 น. หรือ 22 น. กล่าวคือต้องแกร่วอยู่บนถนนนานกว่า 4-5 ชั่วโมง เป็นเหตุให้รัฐบาลหงุดหงิดและมักจะมีคำสั่งให้ตำรวจจัดการปัญหาจราจรให้สำเร็จภายใน 3 เดือน 6 เดือน ทุกนายกรัฐมนตรีก็จะมีปฏิกิริยาต่อภาวะรถติดอย่างนี้ทุกคน แต่รถติดก็ยังเป็นปรากฏการณ์ของกรุงเทพมหานครเสมอมา

Advertisement

เมื่อตำรวจได้รับคำสั่งมาก็จะต้องทำท่าขึงขัง ออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้เป็นข่าว เพื่อจะเอาใจประชาชนและผู้บังคับบัญชา ส่วนมากก็จะเป็นมาตรการทางลบ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ทางหรือผู้ขับรถขับรามีความเดือดร้อนมากขึ้น เช่นถูกปรับเป็นจำนวนเงินมากขึ้นหากกระทำความผิดตามกฎจราจร ซึ่งออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเจ้าพนักงานตำรวจ โดยหวังว่าหากผู้กระทำผิดกฎหมายและกฎจราจรถูกจับถูกปรับในอัตราสูงๆ แล้ว ผู้คนก็จะปฏิบัติตามกฎจราจร การจราจรก็จะดีขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง รถติดไม่ใช่เพราะคนไม่เคารพกฎจราจรแต่ที่ไม่เคารพกฎจราจรเพราะรถติดมากกว่า

ถ้าสังเกตก็จะพบว่าปฏิกิริยาของประชาชนเป็นไปทางลบ คือแทนที่จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเพิ่มค่าปรับ ผู้ไม่มีใบขับขี่ ผู้ที่ใบขับขี่หมดอายุ ผู้ที่ลืมพกใบขับขี่จะถูกปรับในอัตราที่สูงถึง 50,000 บาท เพิ่มทั้งโทษจำและโทษปรับ ซึ่งไม่ทราบว่าความผิดเหล่านี้เกี่ยวโยงกับปัญหารถติดในกรุงเทพฯอย่างไร แต่ยังไม่ได้ยินว่าจะเพิ่มค่าปรับสำหรับคนขับผิดกฎจราจร หรือจอดรถในที่ห้ามจอด หรือจอดรถนานเกินกว่าจะส่งให้คนขึ้นลงหรือส่งของ

ในตรอกซอยซึ่งคับแคบอยู่แล้ว หลายแห่งเราจะเห็นคนเอารถที่เลิกใช้แล้วไปจอดทิ้งไว้เป็นการถาวร แทนที่จะเอารถมาลากไปทิ้ง แล้วไปเก็บเงินกับเจ้าของรถ หรือสามารถเอาซากรถเหล่านั้นไปขายเป็นเศษเหล็กได้ เจ้าของรถที่ไม่ใช้แล้วแทนที่จะเอาไปทิ้งหรือไปขายให้เป็นที่เป็นทางก็มักง่าย นำไปจอดทิ้งไว้ในตรอกซอกซอย ทำให้เสียพื้นที่การจราจรไปเปล่าๆ บางครั้งก็ได้ยินมาว่ายังนำไปทำลายไม่ได้ เพราะคดีความยังไม่เสร็จ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ใช้ได้ พอออกมากลายเป็นข่าวว่าเสนอมาตรการไปในทางลบหรือเป็นเรื่องแปลกๆ ก็จะหายไป

Advertisement

เมื่อหมดหน้าฝน แม้ว่ารถจะติดอยู่บ้างแต่ก็ไม่หนักหนาสาหัสเหมือนวันฝนตก ดังนั้นผู้ที่หมดธุระแล้วหรือไม่ต้องไปรับบุตรหลานจากโรงเรียน ก็ควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเดี๋ยวนี้พยากรณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะถ้าพยากรณ์ว่ากรุงเทพมหานครฝนตกถึงตกหนักเป็นบริเวณกว้างกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และถ้าดูโทรทัศน์เห็นกลุ่มเมฆฝนหนาทึบปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครก็เป็นอันว่า เตรียมเสื้อเตรียมร่มกันฝน เตรียมโดดงานออกจากที่ทำงานก่อน 16.00 น. หรือบ่าย 4 โมง จะได้ไม่ติดอยู่บนถนน 5-6 ชั่วโมงเท่ากับครึ่งทางไปเชียงใหม่ หรือครึ่งทางไปหาดใหญ่ หรือครึ่งทางไปหนองคาย

ถ้าจะพูดอย่างยุติธรรม ปัญหารถติดหรือปัญหาการจราจร เป็นปัญหาของเมืองหลวงและเมืองหลักของทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก เป็นอย่างนี้ทุกประเทศไม่มียกเว้น

ปัญหารถติดเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบต่างๆ ประชาชน ผู้เดินทางก็ยินดีที่จะช่วยสนับสนุน ไม่คัดค้านการลงทุนในระบบขนส่งมวลชน แม้ว่าเอ็นจีโอจะไม่ออกมาสนับสนุนแต่ก็ไม่ออกมาคัดค้าน ดังนั้นการจะเกิดระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นระบบล้อหรือระบบราง จึงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล แม้การลงทุนจะสูงแต่ระยะเวลาการใช้งานก็ยาวนาน มีอายุการใช้งานเกินกว่า 100 ปี แม้ระยะต้นจะขาดทุนในแง่กระแสเงินสดและการคืนเงินต้น แต่ระยะยาวก็คุ้ม เพียงแต่ขอให้รอบคอบพอสมควร ไม่ใช้ลงทุนในทางด่วน หรือทางรถไฟ “สายเปลี่ยว” เท่านั้น

ยิ่งขณะนี้ฐานะการเงินการคลังอยู่ในระดับที่มั่นคงแข็งแรงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินยังเกินดุล สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติยังต่ำกว่าร้อยละ 60 กล่าวคืออยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะสร้างปัญหาทำให้เงินบาทแข็งขึ้น อันจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะตัดสินใจ เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เวลานานในการดำเนินงานก่อสร้าง ส่วนรูปแบบของการดำเนินการจะเป็นของท้องถิ่นเช่นกรุงเทพมหานคร หรือจะเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่ควรจะแข่งขันกันทำ ไม่ควรมีการผูกขาดแต่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวในการลงทุนและเป็นเจ้าของ ส่วนการบริหารจัดการเพื่อการดำเนินการ บริหารการเดินรถ การจัดซื้อจัดจ้างการซ่อมบำรุง เอกชนน่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าภาครัฐบาล

การแก้ปัญหารถติดหรือปัญหาการจราจรโดยการมีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ จึงเป็นเครื่องหมายสำคัญอันหนึ่งของระดับการพัฒนาประเทศ ปัญหาจึงอยู่ที่ความคุ้มทุนของโครงการ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ตและหาดใหญ่ อาจจะไม่มีปัญหา แต่รถไฟความเร็วสูงอย่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย หรือกรุงเทพฯ-หัวหิน อาจจะมีปัญหาไม่คุ้มทุน แต่อยากทำเพราะต้องการเอาใจประเทศจีน ด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นสิ่งไม่น่าทำ

ถ้าจีนอยากได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road จีนก็ควรเป็นผู้ลงทุนและรับภาระการขาดทุนเอง เช่นเดียวกับที่จีนทำในประเทศลาว ที่จีนให้เงินกู้ระยะยาว 50 ปีและอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลาวก็เก็บเงินค่าผ่านทางจากรถไฟจีนไปใช้หนี้จีน เพราะลาวบอกกับจีนว่าลาวไม่มีเงินตราต่างประเทศจะจ่ายหนี้คืน ต้องเก็บเอาจากค่าบริการการใช้ทางรถไฟที่จีนก่อสร้าง ไม่ใช่ให้ประเทศไทยออกเงินให้จีนสร้างและแบกรับการขาดทุนให้จีน เพื่อให้จีนมีรถไฟตามที่ต้องการให้มี

การสั่งการแบบศรีธนญชัย ให้ตำรวจแก้ไขปัญหาจราจรให้ได้ภายใน 3 เดือน จึงเป็นเพียงให้เป็นข่าวสำหรับประชาชนได้เสพ แม้ว่าจะทำให้ประชาชนผู้เสพข่าวสบายใจขึ้นบ้าง เหมือนได้เสพกัญชา แต่ก็ไม่สู้จะมีประโยชน์ ควรจะติดตามออกข่าวให้ประชาชนทราบว่าโครงการขนส่งมวลชน ทั้งทางล้อและทางราง บนดินใต้ดิน ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว จะเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ การปิดการจราจรเพื่อการก่อสร้างระบบขนส่งทางล้อและทางรางก็เป็น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถติด จะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางยังไง ประสานงานเพื่อการก่อสร้างและใช้เส้นทางกันอย่างไร จึงจะมีผลบรรเทาปัญหาความหนาแน่น

ปีนี้ฝนมาเร็วและหนักทั้งมรสุมและพายุไต้ฝุ่น มาเร็วและอยู่นาน เมืองเพชรบุรีและเมืองที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเกิดภาวะน้ำท่วมไปแล้ว กรุงเทพฯก็มีโอกาสจะประสบกับภัยจากน้ำฝน 1,000 ปี หรือจากน้ำฝนรอระบายอยู่มาก ปัญหารถติด จราจรติดขัดก็ย่อมจะต้องมีเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก เป็นธรรมดา

การปิดถนนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่นทางด่วน รถไฟฟ้า บนดินใต้ดิน ก็คงจะอยู่กับเราต่อไป ทำให้ “รถติด จราจรเป็นอัมพาต” เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ได้ให้อ่านอยู่เสมอ เป็นของธรรมดาของชาวกรุงเทพฯ

เตรียมตัวเตรียมใจรับกันไว้ให้ดีจะดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image