แรงงานไทย ผิดกฎหมายในเกาหลี : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

แรงงานไทยคงเหลือในประเทศเกาหลีใต้, 2555-2560 ที่มา: สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน

บทความวันนี้มาจากงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง “แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี: สาเหตุและแนวทางแก้ไข” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดี
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกรุณาส่งให้ผู้เขียนเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.กิริยานับได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติท่านหนึ่ง ผู้เขียนจึงไม่ลังเลที่นำมาถ่ายทอดต่อ

ปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศปีละ 7-9 หมื่นคน โดยประเทศที่คนไทยเดินทางไปทำงานกันมากในภาคพื้นเอเชียคือ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี (ขอเรียกสั้นๆ ว่าเกาหลี) และญี่ปุ่น

สำหรับเกาหลีจำนวนแรงงานไทยที่เข้าเมืองและทำงานถูกกฎหมายมีแนวโน้มลดลงในระยะหลังๆ แต่กลับมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายมากขึ้นจนรัฐบาลเกาหลีต้องจับส่งกลับ ทั้งนี้มาตรการของเกาหลีในการแก้ไขแรงงานไทยผิดกฎหมายมี 2 อย่าง คือ การส่งกลับและการปฏิเสธการเข้าเมืองหากตรวจพบว่าเอกสารการเข้าเมืองเพื่อทำงานไม่ถูกต้อง

ในช่วงปี 2555-2560 แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3,700 คนในปี 2555 เป็น 67,500 คนในปี 2560 และจากในปี 2558 คนไทยเป็นกลุ่มที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายในเกาหลีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 2 (53,950 คน ณ เดือนมีนาคม 2558) รองจากประเทศจีน (70,000 คน) และเวียดนาม (26,000 คน) แต่คนไทยมีสัดส่วนคนผิดกฎหมายเมื่อเทียบกับคนไทยทั้งหมดในเกาหลีสูงที่สุด โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 61,300 คน มีคนไทยอยู่เกินระยะเวลาอนุญาต 90 วันถึง 50,700 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 82.6 (มีนาคม 2558)

Advertisement

การลักลอบทำงาน อย่างผิดกฎหมายของแรงงานไทยในเกาหลีส่งผลเสียไม่เฉพาะแต่ตัวแรงงานเอง แต่ยังส่งผลต่อประเทศชาติอีกด้วย กล่าวคือ แรงงานผิดกฎหมายมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และต้องจ่ายให้กับนายหน้าในอัตราสูง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย กล่าวคือ การที่มีแรงงานไทยผิดกฎหมายจำนวนมากและรัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จะทำให้เกาหลีปรับลดจำนวนโควต้าแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตลง ทำให้แรงงานไทยมีโอกาสน้อยลงในการไปทำงานอย่างถูกกฎหมายและยังทำให้สำนักตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจคัดกรองเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน (ปลายเดือนพฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานไทยนิยมลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคเกษตร รวมทั้งมีผลทำให้นักท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะผู้หญิงไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางผ่านเข้าประเทศ และคนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศมีจำนวนมาก

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลียังมีภาระค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมาย โดยปี 2560 ให้เงินกู้ยืมเพื่อช่วยเหลือกว่า 3 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเจ็บป่วยเนื่องจากแรงงานผิดกฎหมายไม่มีประกันสุขภาพและส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ค่าทดรองค่าฌาปนกิจศพ ค่าจัดส่งอัฐิกลับประเทศไทยในกรณีแรงงานเสียชีวิต และในการส่งกลับแรงงานไทยผิดกฎหมาย โดยแรงงานที่ถูกส่งกลับจะต้องเซ็นสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาว่าจะคืนเงินให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งคืนได้ยาก ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จึงเป็นภาระทางการคลังของประเทศไทย

แรงงานไทยที่ทำงานในเกาหลี ในปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 85) อายุอยู่ในช่วง 18-40 ปี มีภูมิลำเนาอยู่อุดรธานี นครราชสีมา เชียงราย ขอนแก่น และหนองบัวลำภูตามลำดับ ส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 82.6) เกษตรกรรม (ร้อยละ 9.7) และก่อสร้าง (ร้อยละ 7.7) โดยสัดส่วนภาคเกษตรกรรมและก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2547-2560 โดยไม่มีการทำงานประมงหรือภาคบริการเพราะแรงงานไม่ประสงค์จะทำงานหรือเพราะไม่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ดีพอ รายได้ของแรงงานตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเกาหลีประมาณเดือนละ 5 หมื่นบาท

Advertisement

สาเหตุสำคัญ ที่สุดที่ทำให้แรงงานไทยไม่สามารถไปเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย คือ การที่ไม่สามารถสอบภาษาเกาหลีผ่าน โดยมีอัตราการสอบผ่านเพียงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ
ประเทศอื่นๆ โดยในปี 2557 มีแรงงานไทยสอบผ่านภาษาเพียง 4,119 คนจากผู้เข้าสอบประมาณ 20,000 คน ทำให้ไม่สามารถส่งแรงงานไปทำงานได้ตามโควต้าที่ได้รับจำนวน 5,400 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานไทยไม่มีความกระตือรือร้นที่จะฝึกฝนภาษาเพื่อเตรียมตัวสอบ แรงงานไทยใช้เวลาเตรียมตัวสอบเพียง 2 เดือน แตกต่างจากแรงงานเวียดนามและอินโดนีเซียที่ทุ่มเทเรียนภาษาเกาหลีเป็นระยะเวลาหลายเดือนและสามารถสอบได้คะแนนสูง ครูสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทยไม่ได้มีความรู้ภาษาเกาหลีลึกซึ้ง และแค่สอนให้ทำข้อสอบได้ แต่ไม่ได้สอนเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ประการต่อมา แม้แรงงานจะสามารถสอบภาษาผ่านก็ต้องรอการคัดเลือกจากนายจ้างเป็นเวลาค่อนข้างนานและอาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างเลยก็ได้ โดยเฉพาะแรงงานหญิงจะไม่ค่อยมีโอกาสได้รับคัดเลือกและต้องรอนานกว่าแรงงานชายเนื่องจากค่านิยมและลักษณะของงานที่ต้องไปทำ ส่งผลให้แรงงานหญิงลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายมีสัดส่วนสูงกว่าแรงงานชาย อีกทั้งโควต้านำเข้าแรงงานที่รัฐบาลเกาหลีกำหนดไว้ก็ต่ำกว่าความต้องการใช้แรงงานภายในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้แรงงานลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

ประการที่สาม คือกระบวนการส่งแรงงานของไทยที่ล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนของการออกหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องใช้ประกอบการขอรับการตรวจลงตรา ซึ่งบางกรณีใช้เวลานานถึง 1 เดือน

ประการที่สี่ ภายใต้ระบบ EPS (Employment Permit System) ของเกาหลี นายจ้างมีอำนาจต่อรองเหนือแรงงานในการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาจ้าง โดยแรงงานมีสิทธิเพียงตอบรับหรือปฏิเสธเพียง 2 ครั้งในการรับข้อเสนอการจ้างงาน แต่ไม่มีโอกาสเจรจาให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจ้างต่างๆ และการจะย้ายงานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างเซ็นยินยอมให้ย้ายได้เท่านั้น และมีหลายกรณีที่งานที่ไปทำไม่ตรงกับลักษณะงานตามที่ระบุในสัญญาจ้าง นอกจากนี้ การไม่อนุญาตให้คนไทยไปทำงานนวดภายใต้ระบบ EPS ทั้งๆ ที่มีความต้องการสูงภายในประเทศทำให้เกิดการลักลอบเข้าไปทำงานของอาชีพหมอนวดจำนวนมากจากประเทศไทยด้วย

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้กระบวนการจัดส่งแรงงานของไทยใช้เวลานานเป็นอันดับที่ 13 จาก 15 ประเทศที่จัดส่งแรงงานไปเกาหลีและส่งผลให้แรงงานไทยลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทั้งในการสอบภาษาและขั้นตอนต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การขอหนังสือรับรองความประพฤติ และการเข้ารับการอบรมและสอบภาษา โดยแรงงานใช้วิธีเดินทางเข้าเกาหลีด้วยตัวเองผ่านการแนะนำของญาติมิตรหรือผ่านบริษัทนายหน้าหรือบริษัททัวร์ที่นำพาเข้าประเทศในฐานะนักท่องเที่ยวโดยอาศัยการยกเว้นวีซ่าการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ทำให้สามารถพำนักอยู่ได้ 90 วัน โดยต้องเสียค่านายหน้าสูงถึง 50,000-300,000 บาท และต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่เกาหลี การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และการหลอกลวงของนายหน้า

สำหรับแนวทางแก้ไข รศ.กิริยากล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีโดยวิธีการประชาสัมพันธ์ทั้งช่องทางสื่อโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียผ่านเฟซบุ๊กของกระทรวง มีการถ่ายทอดการสัมภาษณ์แรงงานไทยที่กำลังทำงานในประเทศเกาหลีเพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และการทำงานที่ดีมีมาตรฐานและการเตือนไม่ให้ลักลอบไปทำงานที่เกาหลีอย่างผิดกฎหมาย โดยกล่าวถึงโทษที่จะได้รับและให้ข้อมูลขั้นตอนการไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รศ.กิริยาเห็นว่า กระทรวงแรงงานควรจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานให้ชัดเจน โดยกำหนดเป็นเป้าหมายว่าในแต่ละปีจะลดจำนวนแรงงานไทยผิดกฎหมายลงเป็นจำนวนเท่าไร จะลดระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งแรงงานให้เหลือไม่เกินกี่วัน และจะเพิ่มจำนวนแรงงานไทยที่จัดส่งเทียบเป็นสัดส่วนต่อจำนวนโควต้าแรงงานที่ได้รับจัดสรรเป็นเท่าไร โดยประกาศให้สังคมได้รับทราบโดยทั่วกัน

ประการต่อมา สถานเอกอัครราชทูตในเกาหลีควรร่วมกับสำนักงานฝ่ายแรงงานชักจูงให้แรงงานไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศไทยโดยสมัครใจ โดยให้แรงจูงใจพิเศษ เช่น อนุโลมประกาศยกเว้นโทษปรับและลดระยะเวลาห้ามไม่ให้กลับเข้าประเทศจาก 10 ปีเหลือ 2 ปี และเพื่อให้แรงงานไทยมีความพร้อมและสามารถใช้ภาษาเกาหลีในการสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพ รัฐบาลทั้งสองประเทศควรส่งเสริมการอบรมภาษาให้ได้มาตรฐาน โดยประสานกับสถานเอกอัครราชทูตในเกาหลีในการจัดส่งครูหรืออาสาสมัครมาสอนภาษาเกาหลีให้กับแรงงานไทย ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรู้ภาษาเกาหลี และกระทรวงแรงงานไทยควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งสถาบันจัดอันดับและตรวจสอบมาตรฐานโรงเรียนสอนภาษาในประเทศไทย เพื่อควบคุมมาตรฐานของสถาบันสอนภาษาให้มีคุณภาพ และกำจัดสถาบันสอนภาษาที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากระบบ

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการส่งแรงงานของภาครัฐไทย โดยเฉพาะการออกหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความล่าช้าและลดโอกาสในการเรียกสินบน อีกทั้งยังต้องปราบปรามขบวนการนายหน้า บริษัทจัดหางาน บริษัททัวร์ ทั้งในไทยและเกาหลีที่นำเข้าแรงงานโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างตำรวจไทยกับเกาหลีสืบหาข้อมูลผ่านช่องทางการโฆษณาชักจูงแรงงานทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรเจรจากับรัฐบาลเกาหลีให้อนุญาตนำเข้าแรงงานอาชีพหมอนวดจากประเทศไทยซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของคนเกาหลีอีกด้วย

ผู้เขียนคิดว่ายังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่อาจช่วยลดหรือแก้ปัญหาการไปทำงานต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน (พ.ศ.2528, พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2544) ตลอดจนการอุดช่องว่างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการแรงงานไทยไปต่างประเทศ เช่น สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์และให้ข้อมูลและข้อคิดที่ดีแก่รัฐบาลมากพอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image