เขต พระตำหนักวิลล่า วัฒนา : โดย บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช

3 พระองค์ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา (ที่มา นิตยสาร Life)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เขตวัฒนา เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตของกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะครอบคลุมพื้นที่เพียงสิบสองตารางกิโลเมตร แต่ก็เป็นเขตที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพฯ และประเทศไทย ด้วยเป็นที่ตั้งของกิจการค้า โรงแรม และสำนักงาน และเป็นย่านพักอาศัยของผู้สืบราชสกุล ผู้บริหารประเทศ ข้าราชการระดับสูง เจ้าของกิจการ ผู้จัดการบริษัท และชาวต่างชาติ

เดิมทีนั้นเขตวัฒนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเขตคลองเตย แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น เขตคลองเตยซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางเกินการดูแลจัดการให้ทั่วถึง กรุงเทพฯจึงได้จัดตั้งสำนักงานเขตคลองเตยสาขา 1 ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยแบ่งเป็น 3 แขวงย่อย ได้แก่ แขวงคลองเตยเหนือ แขวงคลองตันเหนือ และแขวงพระโขนงเหนือ ต่อมากระทรวงมหาดไทยประกาศยกระดับสาขาเขตเป็นเขต โดยกรุงเทพฯได้รับพระราชทานให้ใช้นาม เขตวัฒนา ตามชื่อ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 ที่ในเวลานั้น เพิ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ในพื้นที่ของเขตที่จะจัดตั้งใหม่

พระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองปุยยี สวิตเซอร์แลนด์ (ที่มา นิตยสาร Life) 

เขตวัฒนามีแนวเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตราชเทวีและเขตห้วยขวาง เริ่มจากแนวเขตทางรถไฟสายช่องนนทรี กับคลองแสนแสบฝั่งเหนือไปทางทิศตะวันออก ตามแนวคลองแสนแสบ จนถึงคลองตันฝั่งตะวันออก ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตสวนหลวง และเขตพระโขนง เริ่มจากจุดบรรจบระหว่างคลองแสนแสบฝั่งเหนือ กับคลองตันฝั่งตะวันออกทางทิศใต้ ตามแนวคลองตันบรรจบคลองพระโขนง คลองบางนางจีน ถึงซอยสุขุมวิท 81 ทิศใต้ ติดต่อกับเขตคลองเตย จากซอยสุขุมวิท 81 ด้านตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวขอบทางถนนสุขุมวิทฟากเหนือ ถึงแนวเขตทางรถไฟสายช่องนนทรีตะวันออก และทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตปทุมวัน เริ่มจากแนวขอบทางถนนสุขุมวิทฟากเหนือ กับแนวเขตทางรถไฟสายช่องนนทรีตะวันออก จนถึงแนวคลองแสนแสบฝั่งเหนือ

ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ตั้งอยู่ในเขตวัฒนานั้น ประกอบด้วย พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ซอยสุขุมวิท 47 เป็นอาคาร 6 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2540 เป็นสถานที่สำหรับทรงงานและรับรอง โดยตั้งชื่อตามพระตำหนักวิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เมืองปุยยี ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ รวมทั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงตั้งชื่อพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ตามพระนามสว่างวัฒนา ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพ้องกับพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

Advertisement

ส่วน พระตำหนักเลอดิส (Le Dix Palace) นั้น ตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยสุขุมวิท 43 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นามของพระตำหนักในภาษาฝรั่งเศสหมายถึงเลข 10

โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (ที่มา University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

นอกจากนี้ยังมีอารามหลวง วัดธาตุทอง ที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นวัดที่สร้างขึ้นจากการผาติกรรม วัดหน้าพระธาตุและวัดทอง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงคลองเตย วัดหน้าพระธาตุเป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา ส่วนวัดทองล่างเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลัง โดยมีตำนานเล่าว่า เมื่อนายทองได้รับมรดกที่ดินผืนใหญ่ ที่มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ด้วยธรรมเนียมคนโบราณไม่นิยมให้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ในพื้นที่บ้าน นายทองจึงอุทิศที่ดินบริเวณรอบต้นโพธิ์ก่อสร้างวัดนามว่า วัดโพธิ์สุวรรณาราม หรือวัดโพธิ์ทอง ชาวบ้านมักจะเรียกขานกันว่าวัดทองล่าง เพราะตั้งอยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา (แต่ในแผนที่ พ.ศ.2455 ยังปรากฏนามวัดต่างๆ บริเวณนี้นอกจากวัดทอง ได้แก่ วัดเงิน วัดไก่เตี้ย วัดนาคะราด และวัดคลองเตย)

ต่อมาเมื่อมีประกาศเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองเตยเพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพขึ้น พ.ศ.2480 รัฐบาลได้ขอผาติกรรมวัดทั้งสองที่อยู่ในพื้นที่ท่าเรือ และสร้างวัดขึ้นแทนบริเวณริมถนนสุขุมวิท โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในเวลานั้นคือ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ รับเป็นองค์อุปถัมภ์และทรงนำนามเดิมทั้งสองวัดมารวมกันเป็น วัดธาตุทอง ในเขตวัฒนายังมีสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่มีชื่อพ้องกับชื่อเขตคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ผู้เขียนยังค้นคว้าไม่พบที่มาของชื่อ เพราะเดิมทีโรงเรียนนี้มีชื่อเรียกขานว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตามสถานที่ตั้งที่อยู่ในบริเวณพระราชวังหลัง (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช) และเป็นโรงเรียนสตรีประจำแห่งแรกของประเทศที่จัดการเรียนการสอนสำหรับกุลสตรีสมัยนั้น มิชชันนารีอเมริกัน คณะเพรสไบทีเรียน เป็นผู้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2417 โดยมีมิสซิสแฮเรียต เอ็มเฮาส์ เป็นครูใหญ่คนแรก ครั้นเมื่อกิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้า สถานที่เดิมไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นได้

Advertisement

พ.ศ.2464 มิสเอ็ดน่า เซระโคล์ ครูใหญ่ จึงจัดซื้อที่ดินจำนวน 25 ไร่ และย้ายโรงเรียนมาอยู่ริมคลองแสนแสบ ชานเมืองทางทิศตะวันออกของบางกอก ทำให้การเดินทางไปโรงเรียนในตอนแรกนั้นนักเรียนต้องอาศัยเรือแจวบ้าง หรือเรือติดเครื่องยนต์ที่เรียกว่าเรือเมล์ของบริษัทนายเลิศบ้าง ผ่านประตูน้ำคลองแสนแสบ

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ และพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) ณ เมืองบอสตัน ราว พ.ศ.2464 พระองค์ทรงแนะนำให้พระพิศาลสุขุมวิทเรียนต่อทางด้านการช่าง จนเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ M.I.T.

ในปี พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเพลินจิตต่อจากถนนปทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1) ที่ในเวลานั้นไปถึงถนนราชดำริ และถนนราชประสงค์ ยาวไปจนถึงถนนวิทยุที่จะไปสถานีวิทยุโทรเลข ตามแนวถนนที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดำริจะตัดไปถึงปากน้ำสมุทรปราการ เพียงแต่ว่ากรมสุขาภิบาลยังไม่มีเงินงบประมาณในการก่อสร้าง นายเอ.อี.นานา พ่อค้าชาวอินเดีย ร่วมกับเจ้าของที่ดินอื่นในย่านบางกะปิจึงช่วยกันออกทุนให้กรมสุขาภิบาลขุดคลองเพื่อเอาดินพูนขึ้นเป็นถนน เริ่มจากจุดตัดของถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุไปจนถึงทางเข้าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ช่วยให้การเดินทางไปยังโรงเรียนสะดวกขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2479 มีการปรับต่อขยายถนนสายดังกล่าวไปจนถึงปากน้ำ สมุทรปราการ ผู้คนจึงเรียกขานว่า ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ครั้นรัฐบาลประกาศโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะเป็นเครือข่ายคมนาคมครอบคลุมทั่วประเทศ ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ จึงเป็นทางหลวงสายหลักของภาคตะวันออก โดยขยายจากสมุทรปราการ ผ่านชลบุรี ระยอง ไปจนถึงตราด และมีชื่อเรียกใหม่ว่า ถนนกรุงเทพฯ-ตราด ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2493 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด เป็น ถนนสุขุมวิท ตามราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) อธิบดีกรมทางหลวง ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้เคยมีดำริในการสร้างถนนสายนี้

ถนนสุขุมวิท ประมาณปี พ.ศ.2521 อาคารสูงที่กำลังก่อสร้างคือตึกโชคชัย มีความสูง 26 ชั้น ซึ่งสูงที่สุดในประเทศไทยและเอเชียในขณะนั้น 
ซอยนานา ในปี พ.ศ.2517
น้ำท่วมถนนสุขุมวิท พ.ศ.2526

สิ่งที่เกิดคู่ขนานไปกับการต่อขยายและยกระดับจากทางดินไปยังโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จนเป็นทางหลวงแผ่นดินในปัจจุบันนั้น คือการขยายตัวของชุมชนไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ และความเจริญของหัวเมืองในภูมิภาคตะวันออกของประเทศ กลายเป็นกระแสผู้คนพากันโยกย้ายเข้าอยู่อาศัย ปลูกสร้างบ้านสมัยใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน และมีสนามหญ้าหน้าบ้านแบบตะวันตก

พ.ศ.2473 โดยนายเอ.อี.นานา (อาหมัด อิสราฮีม นานา) ทายาทรุ่นที่สามของสกุลนานา ที่เริ่มจากนายอาลีสาย อะหะหมัด เทปาเดีย พ่อค้าอินเดียมุสลิมสุหนี่ จากเมืองแรนเดอร์ (Rander) ในรัฐกุจราต ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหลายอย่าง รวมทั้งการค้าที่ดิน เริ่มแบ่งขายที่ดินเป็นแปลงๆ ทั้งสองฝั่งของถนนสุขุมวิท นอกจากการขยายถนนให้กว้างขึ้นยังมีการตัดซอยแยกทางทิศเหนือและทิศใต้ของถนน ตั้งแต่ริมทางรถไฟเป็นซอยแรก (สุขุมวิท ซอย 1) ไปจนถึงซอยเข้าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (สุขุมวิท ซอย 19) รวมทั้งหมด 27 ซอย ซึ่งในตอนแรกนั้น นายเอ. อี. นานา ตั้งชื่อซอยตามชื่อลูกๆ เช่น ซอยอีสรอฮีม ซอยมะห์มูด เป็นต้น ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อซอยใหม่ นายเอ. อี. นานานำชื่อของคนรู้จักมาตั้งเป็นชื่อซอยแทน ได้แก่ ซอยใจสมาน (สุขุมวิท 6) ตามชื่อภรรยานายแพทย์เอื้อม ศิลาอ่อน ซอยปรีดา (สุขุมวิท 8) ตามชื่อพระยาปรีดานฤเบศร์ ซอยไชยยศ (สุขุมวิท 11) ตามชื่อพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) ฯลฯ

การแบ่งแปลงที่ดินที่ทำกำไรให้นายห้างเอ. อี. นานามากที่สุด คือ ซอยแดงอุดม (สุขุมวิท 33) และ ซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23) เป็นการแบ่งที่ดินแปลงสุดท้าย ก่อนที่นายเอ. อี. นานาจะเสียชีวิต ขณะกำลังอยู่ระหว่างแสวงบุญที่เมืองมักกะห์ ปัจจุบันทายาทของนายห้างเอ. อี. นานา ยังคงดำเนินธุรกิจที่ท่านวางรากฐานไว้สืบมา

นอกจากนายเอ. อี. นานาแล้ว ยังมีการแบ่งแปลงที่ดินบริเวณใกล้เคียง อย่างเช่น ม.ร.ว.พร้อมใจ สนิทวงศ์ บุตรชายคนโตของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (พร้อม สนิทวงศ์) อธิบดีกรมศุลากร ระหว่าง พ.ศ.2436-2472 ที่ได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้ไว้ได้รับคำแนะนำจากนายเอ. อี. นานา ให้แบ่งเป็นซอยย่อย และจัดสรรที่ดินเป็นแปลงเล็กๆ ขายตารางวาละ 8 บาท ผ่อนเดือนละ 100 บาท ใน ซอยพร้อมพงษ์ ซอยพร้อมศรี ซอยพร้อมจิตร ซอยพร้อมศักดิ์ ซอยพร้อมพันธ์ ตั้งตามนามบุตรธิดา ได้แก่ ม.ล.พร้อมศรี (พิบูลสงคราม) ม.ล.พร้อมจิตร (ยมะสมิต) ม.ล.พร้อมศักดิ์ ม.ล.พร้อมพันธ์ และ ม.ล.พร้อมพงษ์

เช่นเดียวกับ ซอยอโศก (ซอยสุขุมวิท 21) ที่พระอโศกมนตรี (เรียม เศวตเศรณี) ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้อุทิศที่ดินร่วมกับเจ้าของที่ดินรายอื่นให้เทศบาลนครกรุงเทพฯสร้างถนนอโศก

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ทำเรื่องเสนอให้กรุงเทพมหานครเปลี่ยนชื่อเป็นถนนอโศกมนตรี เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป

สําหรับ ซอยทองหล่อ (สุขุมวิท 55) ที่เดิมเป็นถนนสายเล็กและมีคลองขนาบทั้งสองข้างทาง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2523 มีการขยายเพิ่มเป็นหกช่องจราจร ที่มาของชื่อซอยนั้นมาจากชื่อเดิมของ พลเรือโททหาร (ทองหล่อ) ขำหิรัญ อดีตนายทหารนาวิกโยธิน อดีตนักการเมือง และหนึ่งในคณะราษฎรสายทหารเรือ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และในสมัยสงครามโลก ซอยทองหล่อเป็นสถานที่ที่กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนผ่านและตั้งฐานทัพขึ้น

ทุกวันนี้ทุกพื้นที่ของเขตเล็กๆ ที่ชื่อวัฒนา เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนหลังเล็กและใหญ่ อาคารสูงระฟ้า ทั้งที่เป็นอาคารชุดพักอาศัย สำนักงาน และโรงแรม รวมทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ผู้คนอาศัยหรืออยู่ในอาคารเหล่านี้ทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากคนไทยแล้วยังมีคนเทศที่เป็นคนเดินทางท่องเที่ยว คนทำงาน และคนที่มาตั้งถิ่นฐานถาวร อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จนเป็นพื้นที่ที่การจราจรติดขัดตลอดเวลา แต่ก็เป็นเขตที่มีชื่อเสียง ผู้คนรู้จัก และอยากจะแวะมาเยือน ดังคำขวัญของเขตวัฒนาที่ว่า เศรษฐกิจฟูเฟื่อง ร้านอาหารเลื่องชื่อ การท่องเที่ยวระบือ ธ ประทานชื่อเขตวัฒนา

เรื่องราวความเป็นมาของเขตวัฒนาที่เล่าขานมาโดยสังเขปนี้ สื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปรท้องนาแห่งทุ่งบางกะปิ มาเป็นย่านธุรกิจและพักอาศัยที่หนาแน่นและราคาแพง อีกทั้งสะท้อนภาพการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาเมืองของไทยอย่างชัดเจน

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยเอกสารและแผนที่ประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image