การคลายล็อกทางการเมือง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วงปลายเดือนสิงหาฯที่ผ่านมา มีกระแสการเคลื่อนไหวการ “คลายล็อก” ทางการเมืองแทนความคาดหวังของคนหลายคนที่เชื่อว่า “การปลดล็อกทางการเมือง” น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มค่อนข้างจะแน่นอนว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เรื่องใหญ่สองเรื่อง ท่ามกลางหกถึงเก้าเรื่อง (แล้วแต่จะนับและวิเคราะห์) ก็คือเรื่องของการเปิดให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมกับสมาชิกของตนได้ นัยว่าเพื่อเตรียมการเข้าสู่การจัดทำไพรมารี (อธิบายง่ายๆ คือ การสรรหาผู้สมัครแข่งขันการเลือกตั้งในแต่ละเขต ซึ่งน่าจะเป็นขั้นตอนต่อจากการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งพรรคใหม่ทำได้มานานแล้ว แต่พรรคเก่ายังทำไม่ได้) ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มจะมีกระแสการตั้งคำถามว่าตกลงไพรมารีจะทำได้ไหม ทำได้ทันไหม และจะมีหน้าตาอย่างไร เพราะเกรงกันว่าพรรคใหม่ๆ ที่มีทีท่าว่าจะสนับสนุนระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่อาจจะไม่ค่อยพร้อม

เรื่องที่สองที่เป็นข่าวก็คือ การห้ามทำกิจกรรมของพรรคกับประชาชน (แต่ให้ทำได้กับสมาชิกพรรคเท่านั้น) ทั้งการพบปะ และการใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในนามของสมาชิกแต่ละท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนอยู่แล้ว ทั้งนี้เหมือนกับระบอบรัฐประหารที่ยังปกครองประเทศอยู่มองว่า การพบปะกับประชาชน และการใช้สื่อโซเชียลที่ไม่ได้ออกมาในนามพรรคนั้น ถือว่าเป็นการ “หาเสียง” ซึ่งขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น

เรื่องสื่อโซเชียลกับการคลายล็อกทางการเมืองนั้น อาจจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นด้วยเหตุผลหลายประการ

Advertisement

หนึ่ง สื่อโซเชียลน่าจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเรื่องของการต่อสู้กันทางการเมืองและการหาเสียงทางการเมืองที่จะถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ด้วยบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่บางส่วนพยายามออกจากระบอบอำนาจนิยมรัฐประหารที่เป็นอยู่ หรือบางส่วนพยายามที่จะคงลักษณะการครองอำนาจและครองอำนาจนำของระบอบอำนาจนิยมรัฐประหารต่อไป

จากเดิมที่การหาเสียงนั้นแม้ว่าจะโดยทางการแล้วจะเริ่มหลังจากการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ในรอบนี้จะเห็นถึงความยุ่งยากซับซ้อนของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง (ไม่นับถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง) เพราะเดิมนั้นเขาหาเสียงกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เว้นแต่ป้ายหาเสียง และการนับรายจ่ายในการหาเสียงที่ต้องแจ้ง กกต. นั้น จะเริ่มจากช่วงที่ประกาศการเลือกตั้ง

แต่มารอบนี้ นอกจากการหาเสียงแบบที่ไม่เป็นทางการก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้นการที่จะใช้สื่อโซเชียลในการหาเสียงนั้นก็คงจะต้องถูกห้ามเช่นกัน

Advertisement

เว้นแต่กลุ่มก๊วนที่พยายามอ้างตัวเองว่าสนับสนุนรัฐบาลนี้ และมีทีท่าที่จะสนับสนุนผู้นำรัฐบาลนี้ และการนำเอานโยบายรัฐบาลนี้อาจจะมีข่าวและหลักฐานเริ่มหลุดมาเรื่อยๆ ว่ามีวิธีการมากมายที่จะหลุดรอดสายตาของการตรวจสอบ หรือบางครั้งสายตาที่ตรวจสอบอาจจะหลับตา หรือพักสายตานานหน่อย

สอง มีความเห็นจำนวนหนึ่งในสังคมมองว่า การที่ระบอบรัฐประหารนั้นพยายามที่จะสอดส่องและคุมเข้มในเรื่องของสื่อโซเชียลนั้น อาจจะเกิดจากสองเหตุผล หนึ่งคือ ตามที่เขาอ้างก็คือ ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกเร็วนัก แต่กลายเป็นคนก็มองว่า อีกไม่กี่เดือนจะเลือกตั้งแล้ว จะกลัวอะไรกันนักหนา
จึงนำมาสู่ความคาดเดาว่า เหตุผลเบื้องหลังจริงๆที่ระบอบนี้ไม่ต้องการให้โซเชียลมีเดียของนักการเมืองทำงานนั้น อาจจะเกิดมาจากการที่ระบอบรัฐประหารนั้น “กลัว” ประชาชนและฝ่ายตรงข้ามที่จะใช้จังหวะนี้โจมตีกลับ หลังจากที่ถูกกดมานาน

เอาเข้าจริงผมก็พอจะคล้อยตามความเห็นทำนองนี้อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ผมกลับรู้สึกว่าแนวคิดแบบนี้มักจะให้ราคากับการต่อต้านระบอบรัฐประหารมากจนเกินไป เอาเข้าจริงระบอบการปกครองที่ถูกท้าทายโดยสื่อโซเชียลนั้น ถ้าสื่อโซเชียลนั้นทำงานจริงและทรงพลังจริงๆ ต่อให้ห้ามอย่างไรก็ไม่สำเร็จหรอกครับ

ถามว่าวันนี้เว็บใต้ดินต่างๆ ไม่มีเหรอครับ การจัดการเว็บต่างๆ ในวันนี้เอาเข้าจริงอาจจะมีหน้าที่ในทางยุทธศาสตร์มากกว่า เช่นเป็นไปเพื่อปิดกั้นไม่ให้เว็บใต้ดินกับเว็บบนดินเชื่อมโยงกัน ในแง่ที่ว่าสื่อกระแสหลักยังไม่กล้าที่จะนำเอาเว็บอื่นๆ เข้ามาอ้างอิงในฐานะแหล่งข่าวตรงๆ เสียมากกว่า แต่ในบางครั้งสื่อกระแสหลักก็กินดีหมีหัวใจเสือเอาเหมือนกัน บทจะลงก็ลงข่าวของคนหลายคนที่ถูกไล่ล่าโดยระบอบที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลว่า ก็มันเป็นข่าวที่ประชาชนสนใจน่ะครับท่าน

ผมจึงอยากให้ความเห็นไปอีกแนวว่า เวลาระบอบเผด็จการเขาออกคำสั่งบางอย่างในการบังคับควบคุม แล้วเราไปมองว่าเขาทำ “ไม่สำเร็จหรอก” มันคือความล้มเหลวที่ออกกฎเกณฑ์มาแล้วปฏิบัติไม่ได้จริง ความคิดที่ดูหมิ่นดูแคลนเผด็จการแบบนี้แหละครับที่หล่อเลี้ยงความหวังของเรา แต่ไม่ใช่ความจริงในแบบที่เผด็จการต้องการ

เพราะระบอบเผด็จการในหลายที่ทั่วโลกนั้น เขาไม่ได้ออกคำสั่งมาเพื่อให้ทำได้จริง แต่เขาออกคำสั่งมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขายังออกคำสั่งได้

การปฏิบัติจริงจะทำได้ไหมไม่ใช่สาระสำคัญที่คนออกคำสั่งจะต้องออกมาคิด มันเป็นปัญหาของฝ่ายปฏิบัติมากกว่า และเมื่อฝ่ายปฏิบัตินั้นอยู่ภายใต้ฝ่ายสั่งการ เขาก็มีหน้าที่ต้องทำให้ได้ และแข่งกันเสนอผลงานให้เข้าตาฝ่ายสั่งการ

รวมไปถึงความมุ่งหมายทางอ้อมที่การสั่งการนั้นอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้บังคับกับคนทุกกลุ่ม แต่อาจมีไว้เพื่อจัดการกับบางกลุ่มบางพวกที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตน หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอลง

สาม ผมคิดว่าเราควรจะต้องเข้าใจว่าสื่อโซเชียลนั้นมันมีทั้งประโยชน์และประเด็นท้าทาย โดยตัวของมันเองนั้นมันมีแนวโน้มที่จะเน้นความขัดแย้ง เสนอภาพที่สุดโต่ง แม้ว่ามันจะมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่นเปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และ ติดตามตรวจสอบรัฐบาลได้กว้างขวางและลึก โดยเฉพาะในช่วงที่ความชอบธรรมของรัฐบาลตกต่ำลง

ข่าวลือและเรื่องราวที่ถูกส่งออกมาจากสื่อโซเชียลจำนวนมากนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลนั้นมีความนิยมลดลง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่อาจมาจากความอ่อนแอและล้มเหลวของรัฐบาลเองที่ทำให้ประชาชนนั้นไม่สามารถเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะอาจเป็นเพราะสมรรถนะและประสิทธิภาพของรัฐบาลลดลง หรือการไม่เปิดโอกาสให้ข่าวสารต่างๆ นั้นไหลเวียน

ในด้านหนึ่งนั้นเราอาจจะไม่ไว้ใจให้รัฐบาลนั้นควบคุมสื่อโดยตรง เพราะเราก็ไม่ไว้ใจรัฐบาลเช่นกัน ที่ผ่านมาเราจึงต้องการให้มีองค์กรกลาง และองค์กรอิสระเข้ามากำกับดูแลสื่อ

แต่เมื่อเรื่องราวผ่านไป เราก็เริ่มคลางแคลงใจกับความเป็นกลางและความอิสระขององค์กรเหล่านั้นมากขึ้น

ในมิติเรื่องของการกำกับดูแลสื่อโซเชียลในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเริ่มตั้งคำถามว่า สังคมนี้ทำไมเริ่มตั้งคำถามกับจิตเจตนาของระบอบนี้ในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักกับองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งมากนัก

น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มรณรงค์การเมืองในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเรื่องการหาเสียงโดยตรง เพราะนั่นเป็นเรื่องนักการเมือง แต่เริ่มรณรงค์กันในเรื่องของการสังเกตการณ์และกำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้งจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐที่เริ่มแสดงท่าทีอยากอยู่ในอำนาจต่อในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และตนเองก็วางรากฐานทางอำนาจต่อเนื่องไปบ้างแล้วในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ที่อยากผนวกตัวเองกับระบอบที่กุมอำนาจ กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ และกลุ่มที่ขาดแคลนอำนาจอีกหลายกลุ่ม

การควบคุมกระบวนการเลือกตั้งในวันนี้เป็นเรื่องที่มีลักษณะคับแคบยิ่ง คือ เน้นไปที่เรื่องของกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. และการกำกับการหาเสียง ประชาชนถูกทำให้เข้าใจว่าจะต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จก่อนจึงจะมีโอกาสเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก

ช่องทางของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนว่าเป็นพรรคไหนมีอยู่น้อย รัฐบาลยังเชื่อว่าตนเองนั้นยังผูกขาดการดูแลประชาชนเอาไว้จนนาทีสุดท้ายก่อนกระบวนการการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น และประชาชนไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะยุทธศาสตร์ชาติก็มีไว้แล้ว การเมืองแบบนักการเมืองและการเลือกตั้งก็รอให้พร้อมเสียก่อน ช่วงนี้มีอะไรก็รอรับความช่วยเหลือและเรียกร้องกับศูนย์ดำรงธรรมไปอีกระยะหนึ่ง

อย่าลืมว่าในการเมืองแบบรัฐสภานั้น พรรคการเมืองนั้นไม่ได้เข้มแข็งได้ด้วยกฎระเบียบ แต่ต้องแข็งแกร่งได้จากเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและเปลี่ยนข้อมูล แสดงความคิดเห็นและใฝ่ฝัน และแข็งแกร่งจากการมีกลุ่มก้อนทางการเมืองหลากหลายรูปแบบที่เรียกร้องกับระบบการเมือง เพื่อที่พรรคการเมืองจะมองเห็นและไปรวบรวมแนวทางเหล่านั้นเข้ามาจัดทำนโยบาย นอกจากนี้พรรคการเมืองจะแข็งแกร่งได้ก็ต้องมีสื่อมวลชนที่มีคุณภาพในการตรวจสอบพรรคการเมืองด้วย

แต่ผมยังมองไม่เห็นว่ากระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นจากวันนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการเมืองของประเทศและของพรรคการเมือง รวมทั้งของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไร

ที่สำคัญประชาชนควรจะเป็นศูนย์กลางในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มากกว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องของกระบวนการบริหารจัดการนักการเมืองและพรรคการเมืองรวมทั้งเสรีภาพในการรวมตัวของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่

ถ้าสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งยังเป็นแบบนี้ ผมยังทำนายอนาคตหลังการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไรไม่ออกเลยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image