สหรัฐ-สหภาพยุโรปยุติสงครามการค้าชั่วคราว ร่วมมือปฏิรูป ‘WTO’ ยุทธศาสตร์สกัดจีน การต่อสู้ ‘Liberal Capitalism’ กับ ‘State Capitalism’

เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบปะเจรจากับ “ฌ็อง-คลูเดอ ฌุงแกร์” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ณ ทำเนียบขาวแล้ว ได้ออกแถลงการณ์ร่วมมีสาระสำคัญว่า ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกัน โดยไม่เก็บภาษีการนำเข้าสินค้า ขจัดสิ่งกีดขวางทางการค้า ปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และตกลงยินยอมยุติสงครามการค้าชั่วคราว สหภาพยุโรปจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น อันได้แก่ ถั่วเหลืองและก๊าซแอลพีจี เป็นต้น

“แลร์รี่ คุดโลว์” ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาวพูดชัดเจนว่า สหภาพยุโรปให้คำมั่นจะร่วมมือสหรัฐในการต่อต้านมาตรการการค้าของจีน
ถ้าเป็นจริง ก็เสมือนเป็นการเปิดสนามรบใหม่สหรัฐ-จีน ท่ามกลางสงครามการค้า
หากมองประเด็นสหรัฐ-สหภาพยุโรปร่วมกันผลักดันให้มีการปฏิรูป “WTO” นั้น
ก็พอจะอนุมานได้ว่าต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่ขัดต่อผลประโยชน์ของจีน
น่าเชื่อว่า จีนไม่ยอม เพราะเป็นเรื่องใหญ่อันเกี่ยวกับผลประโยชน์หลัก

ประเด็นอันเกี่ยวแก่สหรัฐ-ยุโรปยุติสงครามการค้าชั่วคราวนั้น โลกภายนอกยังมีข้อกังขา
ทว่าชาวตะวันตกถือว่า สหรัฐกับยุโรปคือ “West” ที่แท้จริง ส่วนอื่นของโลกก็คือ “the Rest”
ฉะนั้น การที่สหรัฐ-ยุโรปขัดแย้งกัน เป็นเพียง “ความขัดแย้งภายในของตะวันตก” เท่านั้น เป็นเรื่องเล็กเสมอความขัดแย้งภายในครอบครัว
แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การร่วมมือทำยุทธศาสตร์สกัดจีนใน “WTO” เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกันจำนวนมหาศาล
ฉะนั้น การที่สหรัฐ-สหภาพยุโรป-จีนต่างเคลื่อนไหวในครั้งนี้
จึงเป็นการเพิ่ม “ดีกรี” ของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ในแถลงการณ์ร่วมมีอยู่ข้อหนึ่งความว่า เราร่วมกับหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูป “WTO” ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขประเด็นไม่ยุติธรรมทางการค้า ซึ่งหมายความรวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา พฤติกรรมการโอนย้ายถ่ายเทเทคนิค เงินชดเชยทางการค้า และปัญหา “ซิกแซก” ตลอดจนปัญหา “ซับพลาย” มากกว่า “ดีมานด์”
การที่จะให้ทำการปฏิรูป “WTO” นั้น
เป้าหมายของสหรัฐ-สหภาพยุโรป คือหัวหอกมุ่งตรงไปที่การต่อสู้ระหว่างระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม (Liberal Capitalism) กับระบบทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism)
บนพื้นฐานแห่งปัญหา “ความยุติธรรม” ทางการค้า สหรัฐ-สหภาพยุโรปคือหัวอกเดียวกัน เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ณ กรุงเจนีวา พลันที่ “WTO” ได้ทำการตรวจสอบนโยบายการค้าของจีน สหรัฐก็เสนอให้ถอดถอนสมาชิกภาพของจีนทันที แต่ปรากฏว่ามี 70 ประเทศยับยั้งข้อเสนอ ในขณะที่ผู้แทนสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โจมตีนโยบายเศรษฐกิจของจีน
การโจมตีจีนของบรรดาผู้แทน ดูเหมือนเป็นการจัดฉาก เป็นฉากละคร เป็นละครบทเดิม
เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว ในที่ประชุม “WTO” ผู้แทนจีน-สหรัฐต่างฟ้องร้องกันในประเด็นต่างๆ โต้เถียงกันดุเดือดรุนแรง บรรยากาศค่อนข้างปั่นป่วน
ความสัมพันธ์ของสหรัฐ-จีน ตกอยู่ในสภาพ “ไม้เบื่อไม้เมา” มาโดยตลอด
กรณีถือได้ว่า การแก่งแย่งชิงชัยใน “WTO” ได้เริ่มขึ้นแล้ว

Advertisement

งานนี้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดี เหนื่อยแน่เหนื่อยนาน เหนื่อยเพราะเป็นหัวรถจักร
เป็นที่ประจักษ์ว่า ธุรกรรมอันเกี่ยวแก่เศรษฐกิจ หมายความรวมถึงการเงิน การคลัง และการค้า “สี จิ้นผิง” เป็นผู้ดูแลควบคุมแต่ผู้เดียว เป็นทั้งผู้เขียนบท เป็นทั้งผู้กำกับ
เป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐไม่พอใจกับระเบียบข้อบังคับ “WTO” ดังที่ผู้แทนสหรัฐได้ทำการอุทธรณ์เมื่อเดือนมีนาคม อันประกอบด้วยเรื่องอนุญาตให้บรรดาสมาชิกถือว่าเป็น “ประเทศที่กำลังพัฒนา” เพื่อรับสิทธิพิเศษบางประการนั้น
บัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยมา 90 วันแล้ว ซึ่งเกินกำหนดต้องมีคำวินิจฉัย แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ ก็เพราะไม่มีคณะอนุญาโตตุลาการ สาเหตุคือ
สหรัฐจงใจเจตนาประวิงเวลาในการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นเหตุให้
“ระบบการวินิจฉัยของ ‘WTO’ ต้องกลายเป็นอัมพาต”

ในเวลาเดียวกัน สหรัฐก็ได้ฟ้องร้องประเทศต่างๆ ในประเด็นต่างกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นช่วง “ปลอดอนุญาโตตุลาการ”
ฉะนั้น พฤติกรรมของสหรัฐจะมองเป็นอื่นมิได้ นอกจาก
“เจตนาทำให้ ‘WTO’ เกิดความปั่นป่วน”
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้ชี้แนะให้กำหนดขอบเขตอันเกี่ยวแก่การ “โอนย้ายเทคนิคและเงินชดเชยทางธุรกิจ” อีกด้วย
เด่นชัดยิ่งว่า หัวหอกมุ่งตรงไปที่ประเทศจีน

ก่อนหน้านี้ จีน-สหภาพยุโรปเคยออกแถลงการณ์ร่วมกันในประการสนับสนุนให้ “WTO” ทำการปฏิรูป แต่เอาจริงเข้า จีนเกิดความลังเล ผู้แทนจีนมีความระมัดระวังถ้อยคำมาก เพียงแต่แสดงความคิดเห็นแบบกลางๆ ว่า หวังให้ผลปฏิบัติการของสหรัฐ-สหภาพยุโรปครั้งนี้กับวัตถุประสงค์ของประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และหวังว่าสอดคล้องกับกฎข้อบังคับของระบบการค้าพหุภาคี โดยปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชัง และหวังอย่างยิ่งว่า เป็นผลที่ตอบสนองการร้องขอของสมาชิก ทั้งนี้โดยผ่านกระบวนการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระเบียบข้อบังคับหลักของ “WTO”

Advertisement

สงครามยืดเยื้อต่อไปไม่มีคุณมีแต่โทษ
นักวิเคราะห์จึงเห็นว่า ภายใต้ภาวะยุติสงครามการค้าชั่วคราวระหว่างสหรัฐ-สหภาพยุโรป สงครามการค้าจีน-สหรัฐก็น่าจะหาทางไปสู่สันติ
จึงมีความเห็นและทำนายหนทางไปสู่ “จุดจบ” สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มี 3 แนวทาง
1.เมื่อเกิดความขัดแย้ง เปิดการเจรจาทวิภาคี ในที่สุดอาจมีการตกลงยินยอมยุติสงครามเหมือนสหรัฐ-สหภาพยุโรป เช่น จีนเพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าสหรัฐ และทั้งสองฝ่ายทำการเจรจาประนีประนอม แต่จากอดีตการเจรจาที่ผ่านมา ตัวเลือกนี้แนวโน้มความเป็นได้ไม่มาก

2.จีนร่วมกับสหรัฐและสหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการทำงานปฏิรูป ภายใต้การสนับสนุนของ “ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” จีนควรต้องยินยอมเสียสละในเรื่องสิทธิประโยชน์บ้างตามสมควรแก่เหตุ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ตลอดจนการเมืองเป็นต้น
3.ในกรณีสหรัฐและสหภาพยุโรปอาจไม่รอการปฏิรูป “WTO” หรือไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ อาจชักนำบรรดาประเทศยุโรปร่วมกัน “เปิดองค์การการค้าใหม่” ขึ้นมา
โดยไม่ให้จีนเป็นสมาชิก

ก่อนหน้าที่สหรัฐ-สหภาพยุโรปตกลงยินยอมยุติสงครามการค้าชั่วคราว สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นได้เซ็นสัญญา “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ”
นัยแห่งสัญญาคือสหภาพยุโรปจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นร้อยละ 99 และญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปร้อยละ 94
ถ้าสหรัฐกับสหภาพยุโรปทำข้อตกลงการค้าเสรี ก็จะเกิดการซ้ำซ้อนกับเขตการค้าเสรีญี่ปุ่น-ยุโรป เมื่อถึงเวลานั้น คาดว่าแคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียก็อาจร่วมด้วยช่วยกัน
เมื่อนั้น เขตการค้าเสรีแบบผสมผสานตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกข้ามไปมหาสมุทรแปซิฟิกก็จะเกิดขึ้น คือ “FTA” (Free Trade Area)
ถ้า “FTA” แจ้งเกิด จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนแปลงในประเด็นระเบียบข้อบังคับทางการค้า เปลี่ยนแปลงในประเด็นกฎเกณฑ์ทางการค้า เป็นต้น
เขตการค้าเสรีที่อาจเกิดขึ้นใหม่นั้น ก็คือ

“คำพิพากษาประหารชีวิต WTO นั่นเอง”
ความจริง “โดนัลด์ ทรัมป์” มิใช่ไม่ต้องการ “การค้าเสรี” หากต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ บวกกับ “ความยุติธรรม” ในระบบการค้า
เพราะเขาเห็นว่าระบบการค้าปัจจุบันไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ
เพราะกลยุทธ์ของเขาคือ “America First”
ไม่ว่าสหรัฐจะถอนตัวออกจาก “WTO” หรือทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ “WTO” กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศจะต้องเขียนขึ้นใหม่ แน่นอน
การเปิดศึกการค้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ครั้งนี้ เป็นการทำลายหน้าตาของ “WTO” อีกทั้งสร้างระบบการค้าเสรีที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ เช่น “Zero Tariff” เป็นต้น
จุดประสงค์ก็คือ ต้องการกดดันให้พวกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนนั้น เข้าร่วมอุดมการณ์กับตนอันเกี่ยวแก่ระเบียบข้อบังคับใหม่ หรือให้ปลีกตัวแตกแถวออกไป
รูปแบบใหม่ทางการค้าระหว่างประเทศของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อจีน
นี่คือแนวคิดจุดจบที่ 3 ของสงครามการค้าจีน-สหรัฐ
นักวิเคราะห์จึงสรุปว่า บรรดา “จุดจบ” ทั้ง 3 รูปแบบของสงครามการค้านั้น ที่เหมาะสมกับจีนที่สุดคือ 1 ที่เป็นไปได้สูงสุดคือ 2 ส่วนรูปแบบที่ 3 นั้น ดูเหมือนความเป็นไปได้ไม่มาก
แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้

วันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image