สุจิตต์ วงษ์เทศ : กระอั้วแทงควาย การละเล่นขอฝน เดือน 6

โชว์แทง - พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โชว์แทงควายตามการแสดง “กระอั้วแทงควาย” การละเล่นของชาวมอญ เพื่อประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ “ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 เมษายน

กระอั้วแทงควาย เป็นการละเล่นขอฝนของทุกชาติพันธุ์อุษาคเนย์ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ไม่เป็นของชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเท่านั้น
โดยเฉพาะทุกกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณสุวรรณภูมิ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเล่นเหมือนกันหมด

มีภาพเขียนสีคนกับวัวควาย 2,500 ปีมาแล้ว ที่ภูปลาร้า จ. อุทัยธานี น่าเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมแทงควาย หรือเซ่นผีบรรพชนด้วยควาย
ปัจจุบันยังมีเล่นสืบเนื่องในชุมชนภาคอีสาน แต่เรียกชื่อบวดควาย (เขียนบวชควาย) ในภาคกลางดัดแปลงเป็นกระตั้วแทงเสือ ส่วนภาคใต้เป็นบ้องตันแทงเสือ

กระอั้วแทงควาย เป็นชื่อการละเล่นของหลวงในงานสมโภชสำคัญๆ (เล่นร่วมกับอย่างอื่น เช่น กุลาตีไม้, ชวาแทงหอก ฯลฯ) มีคำบอกเล่าสืบกันมา ดังนี้

กระอั้ว เป็นชื่อนางหญิงคนหนึ่ง มีผัวคนหนึ่ง (ไม่มีชื่อ) คืนหนึ่งนางกระอั้วฝันว่าได้กินแกงตับควายอร่อยมาก เมื่อตื่นขึ้นเช้าให้ผัวไปหาตับควายมาแกง ผัวนางกระอั้วถือหอกเข้าป่า พบควายป่าตัวหนึ่งจึงฉวยหอกแทง แต่ถูกควายป่าขวิดจนตัวเองล้มลง นางกระอั้วเห็นผัวเพลี่ยงพล้ำ จึงคว้าหอกจากมือผัว แล้วแทงจนควายป่าตาย

Advertisement

เรื่องนางกระอั้วแทงควาย เป็นที่รับรู้แพร่หลาย มีพยานเป็นโคลงดั้นครั้งอยุธยา อยู่ในจารึกวัดโพธิ์ และโคลงดั้นเรื่องโสกันต์ พระราชนิพนธ์ ร.5 แล้วยังมีหลักฐานเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า [วัดบวรสุทธาวาส ใกล้โรงละครแห่งชาติ เชิงสะพานปิ่นเกล้า ฝั่งกรุงเทพฯ]

กระอั้วแทงควาย ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า (ลายเส้นคัดลอก โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)
กระอั้วแทงควาย ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า (ลายเส้นคัดลอก โดย ธัชชัย ยอดพิชัย)
คนกับวัวควาย 2,500 ปีมาแล้ว คนสวมเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกายเป็นพิเศษ จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกายแสดงถึงความสำคัญ เข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ. อุทัยธานี)
คนกับวัวควาย 2,500 ปีมาแล้ว คนสวมเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกายเป็นพิเศษ จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกายแสดงถึงความสำคัญ เข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ. อุทัยธานี)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image