Cloud Lovers : ลานิญา vs เอลนิโญ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

diagram-ENSO-Neutral Phase ภาพที่ 1 : สภาพปกติ

ปรากฏการณ์ฝนฟ้าอากาศที่คนไทยควรรู้จักคือ ลานิญา (La Nina) และ เอลนิโญ (El Nino) เพราะลานิญาทำให้บ้านเรามีฝนตกมากกว่าปกติ ส่วนเอลนิโญก็เคยทำให้เกิดภัยแล้งมาแล้ว

การทำความเข้าใจลานิญาและเอลนิโญ ควรเริ่มจาก “สภาพปกติ (Normal Phase)” หรือ “สภาพเป็นกลาง (Neutral Phase)” กันก่อน นั่นคือ ไม่เกิดทั้งลานิญาและเอลนิโญ ดูภาพที่ 1 ครับ

สภาพปกติของบรรยากาศเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกคือ บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น แถบอเมริกาใต้ฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิก) มีความกดอากาศสูง ส่วนบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางทิศตะวันตก (เช่น ประเทศอินโดนีเซีย) มีความกดอากาศต่ำ

ความกดอากาศที่แตกต่างระหว่างสองบริเวณนี้ทำให้อากาศไหลเวียนตามลูกศรในภาพ เรียกว่า เซลล์วอล์กเกอร์ (Walker cell) ใกล้พื้นผิวน้ำภายในเซลล์วอล์กเกอร์มีลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast trade winds) พัดพาน้ำทะเลอุ่นๆ ที่พื้นผิว (สีแดงในภาพ) ไปกองรวมกันอยู่ทางแถบตะวันตก คือ แถวๆ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย

Advertisement
diagram-ENSO-La Nina Phase
ภาพที่ 2 : แผนภาพแสดงลานิญา

คราวนี้มาดูเงื่อนไขที่ทำให้เกิด ลานิญา (La Nina) กันในภาพที่ 2

หากความกดอากาศในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ (แถบอเมริกาใต้) มีค่าสูงขึ้น ก็จะทำให้ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากขึ้น ส่งผลให้น้ำอุ่นไปกระจุกตัวอยู่ในบริเวณตะวันตก (แถบออสเตรเลีย) มากขึ้น น้ำทะเลที่อุ่นจะทำให้อากาศที่สัมผัสผิวน้ำอุ่นตามไปด้วย เมื่ออากาศอุ่นลอยตัวสูงขึ้นไปก็จะเกิดเมฆก้อนซึ่งอาจเติบโตไปกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง และเกิดฝนตกในที่สุด

ดังนั้น ในช่วงที่เกิดลานิญา ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และบริเวณใกล้เคียง (รวมทั้งไทย) มักจะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่มตามมาในบางพื้นที่ได้ ส่วนทางแถบอเมริกาใต้จะมีฝนลดลง

สังเกตว่า การไหลเวียนของอากาศของสภาพลานิญาคล้ายกับสภาพปกติ เพียงแต่ลูกศรต่างๆ ใช้เส้นหนาขึ้นเพื่อบ่งว่าความกดอากาศมากขึ้น ลมแรงขึ้น และกระแสน้ำไหลแรงขึ้น นี่เองที่ทำให้หนังสือบางเล่มรวบภาพที่ 1 และ 2 เป็นสภาพเดียวกัน โดยเรียกว่า เงื่อนไขที่ไม่ใช่เอลนิโญ (non-El Nino condition)

diagram-ENSO-El Nino Phase
ภาพที่ 3 : แผนภาพแสดงเอลนิโญ

คราวนี้มาดูเงื่อนไขของ เอลนิโญ (El Nino) กันบ้าง

หากความกดอากาศสูงในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ (เช่น พื้นที่แถบอเมริกาใต้ฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิก) อ่อนกำลังลง ก็จะทำให้ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้อ่อนลง หรืออาจทำให้เซลล์วอล์กเกอร์แตกออกเป็นวงจรย่อยๆ โดยมีบางบริเวณที่ลมค้าเปลี่ยนทิศทางกลายเป็นลมอ่อนๆ ที่พัดมาจากทิศตะวันตก ดูภาพที่ 3 ครับ ผลคือน้ำอุ่นที่พื้นผิวทะเลจะไหลลามไปทางทิศตะวันออก และอาจไหลไปได้ไกลถึงชายฝั่งของอเมริกาใต้ (เช่น ประเทศเปรู)

ดังนั้น ในช่วงที่เกิดเอลนิโญ บริเวณอเมริกาใต้จะมีเมฆมาก เกิดฝนตกหนัก บางพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ส่วนทางแถบออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และบริเวณใกล้เคียง (รวมทั้งไทย) จะมีฝนลดลง หรืออาจประสบภัยแล้งได้

เอลนิโญเกิดเฉลี่ยทุก 4 ปี (แต่อาจสั้นแค่ 2 ปี หรือทอดยาวออกไปถึง 7 ปี) และจะอยู่ต่อเนื่องราว 12-18 เดือน โดยมักเปลี่ยนแปลงเป็นวงจรแกว่งสลับไปมาระหว่างเอลนิโญ-สภาวะปกติ-ลานิญา เรียกว่า เซาเทิร์นออสซิลเลชัน (Southern Oscillation) ส่วนชื่อเต็มยศคือ เอลนิโญเซาเทิร์นออสซิลเลชัน (El Nino Southern Oscillation) ย่อว่า ENSO ออกเสียงว่า “เอ็น-โซ่”

เรื่องน่ารู้อื่นๆ เกี่ยวกับ ENSO ลานิญา และเอลนิโญ จะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเว็บเกี่ยวกับ ENSO ที่ http://www.bom.gov.au/climate/enso/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image