สร้างสรรค์ชาติ ด้วยความสามัคคีปรองดอง : โดย พระเทพกิตติมุนี

“สังคมไทยของเรามีความร่มเย็นเป็นสุขทุกคืนวันมาช้านาน มีความอบอุ่น เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกันมา จนอยู่ในสายเลือดของความเป็นไทย คนไทยมีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะร่วมกันอย่างมีความสุข มีพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษไทยได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมวิถีพุทธ มีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมจากคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นฐานรองรับ

แต่แล้ววันหนึ่งคนไทยเราขัดแย้งกันเองทางด้านความคิด ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของบ้านเมือง ต่อความสงบสุขของประชาชน เชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศด้วย

เราคนไทยทุกคนควรจะร่วมใจกันสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น มีความเคารพในความแตกต่างทางความคิด ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา และร่วมมือร่วมใจกันเสียสละเพื่อส่วนรวม และใช้หลักคุณธรรมในการคิด ในการกระทำทุกๆ ด้าน เพื่อประสานความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น

ประเทศไทยเราจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ เพราะมีแต่คนดี คิดดี พูดดี ทำดี เราควรร่วมกันพัฒนาสร้างสรรค์ชาติไทยให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อซ่อมแซมสังคม และก้าวเดินต่อไปในสากลอย่างมีความสุขแบบวิถีไทย…

Advertisement

สมเด็จพระวันรัต
(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
วัดบวรนิเวศวิหาร

ความสามัคคีปรองดอง เป็นเรื่องที่ยึดโยงกับหลักพุทธธรรมในทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ การที่จะเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง ควรอาศัยหลัก “สาราณียธรรม” เข้าช่วย

สาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน รักใคร่ กลมเกลียว เคารพนับถือ สงเคราะห์ช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน มีความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน เป็นเอกภาพ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นธรรมที่ทำให้ทุกคนนึกถึงกันและกัน ด้วยความชื่นชมยินดี

Advertisement

ในการดำเนินชีวิตของคนเรา ย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง เพื่อนร่วมงานร่วมชุมชน ตลอดจนเพื่อนร่วมชาติ จะเกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีที่เรียกว่า ความสามัคคี ได้นั้น ต้องอาศัยเหตุที่เรียกว่า สาราณียธรรม หรือธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่รวมกันในสังคมด้วยดี มีความสุขความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายกัน มี 6 ประการ คือ

1.เมตตากายกรรม ทำอะไรทำด้วยเมตตาต่อกัน หมายถึง กระทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น แสดงไมตรีจิต และหวังดีต่อมิตรสหายเพื่อนร่วมงาน บุคคลรอบข้าง โดยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ด้วยความเต็มอกเต็มใจ พร้อมกับประพฤติตนอย่างสุภาพ สม่ำเสมอ ให้ความเคารพและจริงใจต่อผู้อื่น แม้ในยามต่อหน้าและลับหลัง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันเสมอ

2.เมตตาวจีกรรม พูดอะไรก็พูดด้วยเมตตาต่อกัน หมายถึง จะพูดอะไรก็พูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน รู้จักพูดให้กำลังใจกันและกัน ในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกข์ ความผิดหวัง โดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกัน ไม่นินทาว่าร้าย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดและทำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์

3.เมตตามโนกรรม คิดอะไรก็คิดด้วยเมตตาต่อกัน หมายถึง คิดสิ่งใดก็ให้คิดในสิ่งที่ดี คิดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน รักและเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่จะสร้างสรรค์ต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาส และให้อภัยต่อกันและกันอยู่เสมอ ความสามัคคีประกอบด้วยเมตตาเป็นพื้นฐานของการพูดและการคิด

4.สาธารณโภคี แบ่งปันสิ่งที่ตนได้มาโดยชอบให้แก่กัน หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม เป็นการกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากทำได้ ประชาชนจะเกิดความรัก ความสามัคคี และหวงแหนร่วมกัน ปกป้องพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

การแบ่งปันลาภ พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “สาธารณโภคี” หมายถึง ทรัพย์สิ่งของที่ใช้อุปโภคบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่ง สาธารณะ คือ เปิดให้เป็นส่วนรวมกับคนหมู่มาก แบ่งปันโดยความเสมอภาค ไม่เก็บไว้คนเดียว เฉพาะคนเดียว เป็นเหตุให้เกิดความรักกัน ระลึกถึงกัน เคารพกันและกัน สงเคราะห์กัน ทำให้เกิดการไม่ทะเลาะวิวาท มีความพร้อมเพรียงกัน

5.สีลสามัญญตา มีศีล มีความประพฤติเสมอกันโดยศีล กล่าวคือ ทุกคนในสังคม ควรเริ่มจากการรักษาศีล 5 และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ผู้ใดทำผิดต้องรับโทษ ซึ่งจะทำให้สังคมสงบสุข

ประชากรของประเทศ ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นต่างกันอย่างไร ก็คิดได้ และจะต้องคิดอยู่ในกรอบของศีล การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ใช้ได้ แต่หากอยู่ในกรอบของศีล 5 แล้ว จะไม่มีวันล่วงละเมิดในชีวิตทรัพย์สินของผู้อื่นเลย นอกจากจะมีศีลตามศาสนาที่ตนนับถือแล้ว จะต้องเคารพในระเบียบวินัย กฎหมาย ข้อห้าม ข้อบังคับ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่สร้างขึ้นมา เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองด้วย

6.ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นเสมอกัน หมายความว่า มีความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน โดยไม่ยึดหลักความเห็นส่วนตนเป็นหลัก แต่ใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ

อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงแนะนำให้คนไทยปฏิบัติตามธรรม เพื่อความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ดังนี้

“…คุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านให้เจริญรุ่งเรืองต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง

ประการแรก คือ การที่ทุกคน คิด พูด ทำด้วยความเมตตา มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน

ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ

ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนในความสุจริต ในกฎกติกา และระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน

ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล

หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในภายในใจคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้”

พุทธธรรมในพระราชดำรัสนี้ เรียกว่า “สาราณียธรรม” ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ซึ่งเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ประการแรก ที่ว่า “คิด พูด ทำด้วยความเมตตา” มาจากสาราณียธรรม 3 ข้อ คือ เมตตากายกรรม (ทำด้วยความเมตตา) เมตตาวจีกรรม (พูดด้วยเมตตา) และเมตตามโนกรรม (คิดด้วยเมตตา)

ประการที่สอง ที่ว่า “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” ตรงกับสาราณียธรรม ข้อ สาธารณโภคี (แบ่งปันให้เท่าเทียมกัน)

ประการที่สาม ที่ว่า “การที่ทุกคนประพฤติตนอยู่ในกรอบกติกาโดยเท่าเทียมกัน” ตรงกับสาราณียธรรม ข้อสีลสามัญญตา (มีศีลเสมอกัน)

ประการที่สี่ ที่ว่า “การที่ต่างคนต่างพยายามปรับความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องลงรอยกัน” ตรงกับสาราณียธรรม ข้อทิฏฐิสามัญญตา (ความเห็นลงรอยกัน)

ในทางปฏิบัติ สาราณียธรรม จะเริ่มต้นด้วยทิฏฐิสามัญญตา คือ ปรับความคิดเห็นให้ลงรอยแบบเดียวกันว่า เราทั้งหลายเป็นพี่น้องกัน มีพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน แม้จะต่างศาสนากันก็เป็นคนไทยด้วยกัน เมื่อปรับความคิดเห็นได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเกิดความรู้รักสามัคคี คิด พูดทำต่อกันด้วยเมตตา เกื้อกูลแบ่งปันกันและกัน ปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยสีลมัญญตา และปรับความคิดเห็นให้มีผลลงรอยเดียวกันมากยิ่งขึ้น ด้วยทิฏฐิสามัญญตา

หลักธรรมทั้ง 6 ประการข้างต้น เป็นหลักธรรมสำหรับการเสริมสร้างความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม อันจะนำมาซึ่งความสุข ความสันติ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายทั้งปวง สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้คงจะมีความสุข และน่าอยู่ยิ่งกว่านี้ยิ่งนัก

ถ้าหากว่า คนไทยทุกคน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลา ขอให้ทุกท่านมาร่วมมือร่วมใจกัน พัฒนาสังคมของพวกเราให้มีความอบอุ่น และน่าอยู่กันเถิด โดยการเสริมสร้างความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้เกิดขึ้นในสังคม แล้วพวกเราจะได้พบกับสันติภาพ และความอบอุ่นที่แต่ละคนต่างก็ปรารถนา และใฝ่ฝันหากันอยู่ตลอดเวลา

พระเทพกิตติมุนี
(ประทัย วชิรญาโณ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image