รื่นร่มรมเยศ : พิณเปี๊ยะกับพระไตรปิฎก : เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ประมาณสองหรือสามสัปดาห์ล่วงมาแล้ว ขณะนอนเอกเขนกฟังข่าวทีวี อยู่ได้ยินเสียงผู้ให้สัมภาษณ์พูดว่า พิณเปี๊ยะมีกำเนิดมาจากพระไตรปิฎก ผมถึงกับผุดลุกขึ้นนั่งเพื่อฟังให้ถนัดขึ้น

ผู้ให้สัมภาษณ์ย้ำข้อความนี้ถึงสองหน จึงแน่ใจว่าหูผมไม่แว่วผิดแน่ๆ เดือดร้อนผมต้องลุกขึ้นไปหยิบพระไตรปิฎกมาคลำหาว่ามีพระพุทธวจนะในสูตรไหน วรรคไหนบ้างที่พูดไว้ ก็ไม่สามารถหาได้ ก็เลยได้ข้อสรุปว่าผมอ่านน้อยรู้น้อยไป แม้ว่าจะอายุปูนนี้แล้ว จึงไม่รู้เรื่องที่ควรรู้ น่าเสียดายว่าสัมภาษณ์วันนั้นสั้นไป ท่านผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร เพียงแต่ระบุว่า ต้นกำเนิดของพิณเปี๊ยะมาจากพระไตรปิฎก

เท่าที่ผมทราบ จากการอ่านสารานุกรมบางเล่ม พิณเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ ต้นกำเนิดว่ากันว่ามาจากคันธนูสมัยมนุษย์ยังอยู่ป่าล่าสัตว์เลี้ยงชีพ เมื่อเห็นสายธนูสั่นเป็นเสียงเมื่อดีด จึงใช้คันธนูขึงสายให้เหมาะใช้ดีดกล่อมอารมณ์ จนต่อมาได้พัฒนามาเป็นพิณดังที่เห็น

เพราะเหตุนี้พิณโดยมากจึงมีรูปร่างโค้ง

Advertisement

พิณของไทยเท่าที่ทราบมีอยู่ 2 ชนิด คือ พิณน้ำเต้า ต้นกำเนิดว่ามาจากอินเดีย เพราะมีเค้าจากเพลงๆ หนึ่งมีชื่อว่า เพลง “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” ได้ชื่ออย่างนี้เนื่องมาจากเขาเอาน้ำเต้ามาตัดครึ่ง เอาครึ่งที่มีขั้วหรือจุดมาเจาะติดตรึงกับไม้คันพิณหรือ “ทวน” คัณพิณ หรือ “ทวน” ทำด้วยไม้เหลาให้ปลายข้างหนึ่งเรียวงอนโค้งขึ้น สำหรับผูกสาย ทางโคนทวนอีกด้านหนึ่งเจาะรูสำหรับสอดไม้ลูกบิดให้ปลายไปออกอีกข้างหนึ่งสำหรับผูกสายพิณ ใกล้ๆ กับที่ตรึงผลน้ำเต้า มีเชือกหรือเอ็นผูกรั้งสายพิณกับคันทวน พิณน้ำเต้ามีสายเดียว

อีกชนิดหนึ่งคือ พิณเพียะ หรือ พิณเปี๊ยะ ตามสำเนียงเมืองเหนือ รูปร่างคล้ายพิณน้ำเต้า แต่มีมากกว่าสายเดียว คืออาจมีสองสาย สี่สาย หรือเจ็ดสาย กะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่งติดตรึงคันทวน

พิณนั้นภาษาแขกเรียกว่า “วีณา” พระไตรปิฎกพูดถึงวีณาเท่าที่นึกออกในขณะนี้ คือ สักกปัญหสูตร ทีฆนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10/247/299) เล่าถึงคนธรรพ์ชื่อ ปัญจสิขะ ได้รับบัญชาจากท้าวสักกเทวราชให้พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า บังเอิญขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังเข้าฌานอยู่ ขณะรอพระองค์ออกจากฌาน ปัญจสิขะหยิบพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมสุก (เวฬุวปณฺฑวีณา) ขึ้นมาดีดร้องเพลงคลอไปด้วย

Advertisement

“นางผู้เลอโฉมเอย ข้ารักและปรารถนาเจ้า เสมือนคนร้อนแดดแผดเผา เหงื่อโซมกาย ต้องการสายลมพัดโบกให้เย็นสกนธ์ เสมือนคนกระหายน้ำ ต้องการน้ำดื่มเย็นสนิท เสมือนพระอรหันต์รักอมฤตนิพพาน ผิรักข้าสัมฤทธิ์ ได้ครองรักสนิทกับเจ้าไซร้ ดวงใจข้าพึงเกษมเปรมปรีดิ์ ดังหนึ่งพระมุนีพึงปราโมทย์ เมื่อบรรลุสัมโพธิอุดมญาณ…”

เพลงรักบทนี้ยาวมาก ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นเพลงรักที่มีเนื้อหาไพเราะกินใจ รู้จักเปรียบความรักอันเป็นโลกีย์ของปุถุชนกับความรักฌานสมาบัติของพระอริยะอันเป็นโลกุตตระอย่างสนิทสนมกลมกลืน

นับเป็นเพลงรักบทเดียวที่ได้รับเกียรติบันทึกไว้ในพระคัมภีร์พระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงวีณาในปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า พระบรมโพธิสัตว์ทรงทำทุกรกิริยาจนถึงที่สุด แล้วไม่พบทางตรัสรู้ พระอินทร์จึงมาดีดพิณสามสายให้ฟัง จึงทรงได้คิดและค้นพบทางตรัสรู้

แต่ในพระไตรปิฎกมิได้พูดถึงพระอินทร์มาดีดพิณให้ฟัง พูดแต่เพียงว่า พระบรมโพธิสัตว์ทรง “ได้คิด” ขึ้นมาเอง หลักจากทดลองจนถึงที่สุดแล้ว

แต่นี้มิใช่ประเด็น ที่ผมติดใจก็คือ วีณา หรือเวฬุวปณฺฑุวีณาเป็นอย่างเดียวกับพิณเปี๊ยะดังที่ท่านผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างเดียวกันจริง ผมก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี ที่จะสรุปว่า “พิณเปี๊ยะมีกำเนิดจากพระไตรปิฎก” ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

แต่ถ้าพูดว่า พิณอย่างนี้มีพูดถึงในพระไตรปิฎกละก็ ไม่เถียงครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image