สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจยุคแบบตะวันตกในรัชกาลที่ 5-7 : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มติชนฉบับที่แล้ว ผู้เขียนแตะเรื่องการกำเนิด “ธนาคารไทยพาณิชย์” ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 ฉบับนี้ขอลงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับคนที่สนใจ

…เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินกิจกรรมไปด้วยดีและได้รับความเชื่อถือจากประชาชน จึงได้มีการเปลี่ยนจาก “บุคคลัภย์” มาเป็น “แบงก์” ใช้ชื่อว่า “แบงก์สยามกัมมาจล” (Siam Commercial Co.) มีนโยบายเช่นเดียวกับธนาคารต่างประเทศ นับเป็นธนาคารแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นมาด้วยเงินทุนของคนไทย ต่อมาธนาคารนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

การส่งเสริมการเกษตรและการผลิตเพื่อการส่งออก

ภายหลังที่ประเทศได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษและชาติตะวันตกอื่นๆ นับตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา ทำให้การผลิตทางการเกษตรซึ่งเคยผลิตเพื่อการยังชีพ ได้เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า การเกษตรเริ่มมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจด้านอื่นของประเทศอย่างแยกไม่ออก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร ดังนี้

Advertisement

(1) ดำเนินการขุดคลอง สร้างทำนบ และประตูน้ำ เพื่อช่วยส่งน้ำให้เข้าถึงพื้นที่ทำการเพาะปลูกข้าวได้ รัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองคูนาสยาม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้ได้รับสัมปทานขุดคลองทั่วพระราชอาณาจักร มีกำหนด 25 ปี ระหว่าง พ.ศ.2433 ถึง พ.ศ.2458 นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ช่วยในการทำนา เช่น ใช้เครื่องจักร ใช้แรงไฟสำหรับไถนา นวดข้าว สีข้าวและวิดน้ำนา เป็นต้น ในการนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุน ด้วยการให้รางวัลแก่บริษัทห้างร้านที่ประดิษฐ์เครื่องจักรที่เหมาะสมกับความต้องการในการทำนา

(2) ในตอนปลายรัชกาลที่ 5 ได้มีการส่งเสริมการปลูกฝ้ายอย่างจริงจังให้กับราษฎร จ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลอง และทำไร่ฝ้ายตัวอย่าง ตั้งโรงงานหีบฝ้าย แนะนำพันธุ์ฝ้ายที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ เป็นต้น

การปรับปรุงการคมนาคม

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการคมนาคมของประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงการคมนาคมให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางบกและทางน้ำ ที่สำคัญก็ได้แก่ การขุดคลอง การสร้างถนน และการสร้างทางรถไฟ

(1) การขุดคลอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 การขุดคลองมุ่งประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดข้างเคียงที่เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น คลองดำเนินสะดวก คลองเปรมประชากร คลองนครเฟื่องเขตร คลองประเวศบุรีรมย์ คลองเปรม คลองทวีวัฒนา และคลองนราภิรมย์ เป็นต้น

(2) การสร้างถนน ทางด้านการสร้างถนน ได้มีการสร้างถนนและสะพานขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการสร้างถนนและสะพานว่า จะทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนมีระยะสั้นลง และจะช่วยให้เกิดร่มเงาจากต้นไม้สองข้างถนน รวมทั้งทำให้บ้านเมืองงดงามอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การสร้างถนนจึงมีจุดประสงค์เพื่อความสะดวกในการติดต่อไปมาค้าขายและเพื่อความสวยงามของบ้านเมือง

การสร้างถนนในสมัยนี้เป็นการสร้างถนนแบบตะวันตก ภายหลังการสร้างถนนแล้วได้มีบรรดาพ่อค้าและชาวกรุงส่วนหนึ่งหันมาก่อสร้างร้านค้าและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามริมถนนทำให้ที่ดินริมถนนมีราคาแพง ถนนที่สร้างขึ้นในสมัยนี้ ได้แก่ ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ ถนนบูรพา ถนนสามเสนและถนนราชดำเนิน เป็นต้น

(3) การสร้างทางรถไฟ ในด้านการสร้างทางรถไฟตามแบบตะวันตก มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองในส่วนภูมิภาคทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ แม้ว่าจุดมุ่งหมายในเบื้องแรกเพื่อประโยชน์ทางด้านการปกครองและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักรก็ตาม แต่การสร้างทางรถไฟก็มีผลต่อการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะเมื่อมีเส้นทางคมนาคมทางรถไฟใช้แล้ว ปรากฏว่าข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ส่งเข้ามาขายยังตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกต่างมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทางรถไฟที่สร้างขึ้น ได้แก่ ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทางรถไฟสายเหนือ (ภายหลังระงับการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือเอาไว้ก่อน เพราะประสบปัญหาเรื่องเงินทุน) ทางรถไฟสายใต้ นอกจากนี้ก็มีทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ กรุงเทพฯ-พระพุทธบาท กรุงเทพฯ-มหาชัย-ท่าจีน-แม่กลอง สายบางพระและสายแปดริ้ว เป็นต้น

ผลของการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5

จากการปฏิรูปเศรษฐกิจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งทางด้านการคลัง ระบบเงินตรา การส่งเสริมการผลิตทางด้านการเกษตรและการคมนาคมขนส่ง ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมหลายประการ คือ 1) ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2435-2447 เช่น รายได้เพิ่มจาก 15 ล้านบาท เป็น 46 ล้านบาท โดยมิได้เพิ่มอัตราภาษีและชนิดของภาษีขึ้นแต่ประการใด ทั้งยังมีการยกเลิกภาษีที่ล้าสมัยบางอย่างไปด้วยทำให้เงินคงคลังของประเทศ ซึ่งเคยมีอยู่ประมาณ 7,500,000 บาท ใน พ.ศ.2437 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000,000 บาท ใน พ.ศ.2444 2) ก่อให้เกิดความมั่นคงต่อฐานะการคลังของประเทศ และการจัดระบบงบประมาณรับจ่ายเงินที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น 3) ก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อบูรณภาพเขตแดนของพระราชอาณาจักรมากยิ่งขึ้น เพราะการปรับปรุงทางด้านคมนาคม ซึ่งช่วยอำนวยประโยชน์ในทางเพิ่มพูนรายได้จากการค้าขายและการส่งออกแล้ว ยังช่วยให้รัฐบาลสามารถดูแลพระราชอาณาเขตได้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ.2453-2475

การปรับปรุงเศรษฐกิจใน พ.ศ.2453-2475 : ภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงด้านเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ปัญหาเหล่านั้นเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะพยายามแก้ไขอย่างเต็มพระสติกำลัง แต่สถานการณ์ก็มิได้กระเตื้องขึ้นจนกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป มีดังนี้

1) การร่วมลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งบริษัททำปูนซีเมนต์ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ใน พ.ศ.2456 ทำให้ประเทศไทยลดการสั่งเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศให้น้อยลงได้ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนกิจการโรงไฟฟ้าสามเสน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2454 และเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าใน พ.ศ.2457 ใน พ.ศ.2461 ได้มีการจัดตั้งบริษัทพาณิชย์นาวีสยาม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านการเงินเช่นเดียวกัน

2) การส่งเสริมทางด้านการเกษตร ในการส่งเสริมการเกษตรนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ดำเนินการหลายประการ เช่น จัดตั้งกรมทดน้ำเพื่อจัดหาน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก ส่งเสริมให้มีการขุดลอกคูคลอง เช่น ขุดคลองบางระแนะใหญ่ และคลองบางมดใน พ.ศ.2459 ขุดลอกคลองบ้านไทรและคลองวัดโพธนบุรี ใน พ.ศ.2462 เป็นต้น ได้มีการจัดตั้งสถานีทดลองพันธุ์ข้าวขึ้นที่คลอง 6 รังสิต ธัญบุรี และ “จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเป็นแห่งแรก” ชื่อ “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใน พ.ศ.2459 และ “จัดตั้งสหกรณ์แห่งที่ 2” ที่ลพบุรี ใน พ.ศ.2460

3) การจัดตั้งสภาเผยแพร่พาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อ พ.ศ.2457 วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางด้านการค้า ราคาสินค้า ชนิดของสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด แหล่งผลิตของสินค้านั้นๆ โดยการออกหนังสือเป็นรายเดือน

ในระยะแรกที่กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์เริ่มดำเนินการนั้น ได้มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ การควบคุมดูแลบริษัทพาณิชย์นาวีสยามและส่งเสริมด้านการพาณิชย์ของไทยให้แพร่หลายไปยังนานาประเทศ

4) การตั้งสถาบันการเงิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมาเพื่อฝึกฝนประชาชนของชาติให้เห็นถึงความสำคัญของการออมทรัพย์ จึงได้มีกิจการ “ธนาคารออมสิน” เกิดขึ้น การตั้งธนาคารออมสินก็เพื่อป้องกันมิให้ชาวนานำเงินไปเล่นการพนัน และอีกประการหนึ่งก็เพื่อความสะดวกและช่วยเหลือชาวนาให้มีทุนรอนในการทำมาหากิน ดังนั้น เมื่อกิจการธนาคารออมสินดำเนินมา เงินที่ราษฎรนำมาฝากไว้นับเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่จะมีเงินทุนในการใช้จ่ายบ้างแต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก

5) การเปลี่ยนแปลงมาตราชั่ง ตวง วัด สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตราชั่ง ตวง วัด นี้เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ทั้งนี้ เพราะว่าเครื่องมือที่ใช้ในการชั่ง ตวงข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกในชนบท โดยทั่วไปใช้สัดและทะนาน ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันในแต่ละท้องถิ่นก่อให้เกิดปัญหาและขาดความแน่นอนในการชั่ง ตวง ที่ชาวนาต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อข้าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงประกาศใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามแบบสากล โดยได้นำเอาระบบของฝรั่งเศสมาใช้แทนมาตราชั่ง ตวง วัด แบบเก่าของไทย

6) การสร้างทางรถไฟ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างทางรถไฟสายแปดริ้ว ปราจีนบุรี โดยเริ่มลงมือสร้าง ใน พ.ศ.2463 และเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2470 การสร้างทางรถไฟในเส้นทางดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ผลผลิตของภาคตะวันออกโดยเฉพาะข้าว โค กระบือ จะถูกลำเลียงเข้ามากรุงเทพฯ เป็นมูลค่าต่อปีสูงมาก ในขณะเดียวกันฝ่ายบ้านเมืองก็จะได้ประโยชน์ในการปกครองหัวเมืองให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

• ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วง พ.ศ.2453-2468 ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจทรุดโทรม ทั้งนี้เพราะเกิดความตกต่ำของรายได้และการขยายตัวของรายจ่ายไม่สมดุลกัน อันเนื่องมากจากมีการเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พม่า อินโดจีน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ที่สุดในโลก กระทบกระเทือนต่อการผลิตข้าวในประเทศไทย ต่อมา พ.ศ.2462 เกิดฝนแล้งอย่างหนักทำให้เกิดความเสียหายต่อการปลูกข้าวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สืบต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเผชิญความผันผวนทางการเงิน ในขณะขึ้นครองราชย์ดังกล่าวได้สร้างความหนักพระทัยให้แก่พระองค์เป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีพระบรมราโชบายที่จะยอมตัดทอนรายจ่ายของรัฐบาลและลดรายได้ที่รัฐบาลถวายพระคลังข้างที่ให้น้อยลงจากเดิม

• มาตรการที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มิได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้ราษฎรประสบความเดือดร้อนมากขึ้น คนว่างงานมากขึ้น กิจการค้าทั้งหมดตกอยู่ในกำมือต่างชาติเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วง พ.ศ.2468-2475 ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศอย่างแท้จริง และกลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ในที่สุดไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image