บทความ : จากปากบาราน่าเป็นกันตัง? : โดย พล.ร.ท.พัน รักษ์แก้ว

โครงการท่าเรือปากบาราเข้าลิ้นชักPak Bara port plans shelved (บางกอกโพลต์, 19 ก.ค. 61)

หลังจากการประชุมโดยรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคมเป็นประธาน กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 ซึ่งมีผู้แทนจาก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และกรมเจ้าท่า พิจารณาโครงการสร้างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ที่ดำเนินมาหลายปีแล้ว

โดยเห็นว่าควรชะลอการก่อสร้างออกไปโดยไม่มีกำหนด และจะให้เจ้าหน้าที่เจรจากับบริษัทที่ปรึกษาผู้ศึกษาโครงการ ในการที่จะชำระค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงจากวงเงินตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งได้เสนอผลการประชุมต่อรัฐบาล และรัฐบาลเห็นชอบให้ชะลอการก่อสร้างตามที่เสนอ

ทั้งนี้ ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบของโครงการในขั้นแรกก็ถูกต่อต้านจากชาวบ้าน หน่วยงานท้องถิ่น องค์การอิสระ (NGO) จนไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ ซึ่งตามแผนที่วางไว้ ขั้นที่สองคือ สำรวจความคิดเห็นประชาชน และทำรายงาน และขั้นที่สาม ทบทวนความคิดเห็นและรายงาน จึงกระทำไม่ได้ไปด้วยอันเป็นที่มาของการเก็บโครงการเข้าลิ้นชัก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำแผนสร้างท่าเรือน้ำลึก ทางฝั่งอันดามันแทนที่ปากบารา ซึ่งเคยศึกษาหลายพื้นที่แล้ว ตั้งแต่ระนองลงไปถึงสตูล

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีรับปากกับผู้ประท้วงว่า จะดำเนินการก่อสร้างในภาคใต้อย่างระมัดระวัง ซึ่งบางทีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลา และการสร้างโรงไฟฟ้าที่สงขลาอาจจะถูกชะลอการดำเนินการไปด้วย ต่อจากท่าเรือปากบารา

ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลผู้ร่วมศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 30 พ.ศ.2530 เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ได้บอกทางทหารเรือว่า อ่าวปากบาราและอ่าวบุโบยที่อยู่เหนือขึ้นไปกว้างใหญ่และน้ำลึก

Advertisement

เมื่อคราวสงครามโลก เคยมีเรือรบลำใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นมาจอดเรือในอ่าว และ ร.ล.ศรีอยุธยาก็เคยเครื่องจักรใหญ่ขัดข้อง มาจอดเรือในอ่าวบุโบยเหมือนกัน ซึ่งทหารเรือก็ได้ไปดูพื้นที่เพื่อสร้างฐานทัพ แต่ดูเหมือนจะประเมินว่าใกล้ชายแดนมากไปเป็นอันตราย ทหารเรือจึงไปดูพื้นที่อื่น

ในการทัศนศึกษาภาคใต้ที่สตูล ระหว่างเรียน วปอ.ผู้เขียนนึกในใจว่า ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. ที่ยิงจากเกาะของเพื่อนบ้าน น่าจะยิงถึงปากบารา ไม่ใช่ฐานทัพเรือสตูล ก็ดีไปอย่าง

ระหว่างการเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและฝ่ายทหารเรือ พ.ศ.2522-2525 ณ กรุงนิวเดลี เจ้ากรมยุทธการทหารเรืออินเดีย (ต่อมาเป็น ผบ.ทร.อินเดีย) ได้ถามผู้เขียนว่า ทร.ไทยจะสร้างฐานทหารอินเดีย/กรุงเทพฯ คงรายงานให้ทางนิวเดลีทราบ อันเป็นการแน่นอนว่า หากมีฐานทัพเรือเกิดใหม่ในทะเลอันดามัน ก็ย่อมอยู่ในสายตาของทหารเรืออินเดีย และเมื่อหากมีท่าเรือน้ำลึกท่าใหม่ทางฝั่งอันดามันของไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ก็จะอยู่ในสายตาของอินเดียอีกเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พูดระหว่างการเยือน 5 ประเทศในเอเชียริมฝั่งแปซิฟกตะวันตก (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์) กลางดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ได้พูดถึงยุทธศาสตร์สหรัฐในแปซิฟิกกับเอเชียว่า อินโด-แปซิฟิก แทนคำว่า เอเชีย-แปซิฟิก ของประธานาธิบดีคนก่อน บารัค โอบามา ซึ่งอินโด-แปซิฟิกที่ครอบคลุมมหาสมุทรอินเดียกับแฟซิฟิก กว้างขวางกว่าภูมิศาสตร์เอเชีย -แปซฟิกมาก แล้วยังดึงประเทศต่างๆ ริมมหาสมุทรอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียเข้ามาสู่วงจรยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร กีดกันนโยบายและผลประโยชน์ทางทะเลของจีน แทบจะโดยตรง

ภูมิรัฐศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กำกับการเคลื่อนไหว “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) ของจีนที่มีเส้นทางจากทะเลจีนสู่แหล่งน้ำมันตะวันออกกลาง ซึ่งจีนตั้งมั่นอยู่ที่ทะเลจีนใต้ได้มากอยู่แล้ว การมุ่งผ่านมหาสมุทรอินเดียก็กระทำได้พอสมควร ได้แก่การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่พม่า (kyaukphyu) ในการส่งน้ำมันทางท่อไปยังยูนนานของจีน ท่าเรือน้ำลึกที่ศรีลังกา (Hambantota) และท่าเรือน้ำลึกที่ปากีสถาน (Gwadar)

แต่เมื่อเกิดอินโด-แปซิฟิก โดยอินเดีย ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนและปากีสถาน เป็นหลักทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นผลให้เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนไม่ราบรื่น

การฝึกร่วมทางทะเลของกองทัพเรืออินเดียกับสหรัฐ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศและกองทัพบกอินเดียมูลค่ามหาศาลจากสหรัฐ ยืนยันถึงการสถาปนาอินเดียเป็นปัจจัยหลักในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งหากเกิดท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในทะเลอันดามัน อินเดียก็ย่อมดูแลผลกระทบต่ออินโด-แปซิฟิกอย่างแน่นอน

ท่าเรือทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย ตั้งแต่ จ.ระนองลงไปถึงสตูล เป็นท่าเรือประมง ท่าเรือการท่องเที่ยว ท่าเรือยอชต์ เรือใบ ล้วนเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ทำให้การขนส่งทางทะเลจากมหาสมุทรอินเดีย สู่แผ่นดินไทยต้องอ้อมคาบทะเลมลายูมายังท่าเรือน้ำลึกสงขลาหรือท่าเรือก้นอ่าวไทย

หากมีท่าเรือน้ำลึกทางอันดามันจะเป็นผลประโยชน์ทางคมนาคมและเศรษฐกิจอย่างมาก แต่เมื่อเก็บโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เข้าลิ้นชักแล้วจะเสาะหาตำบลที่ใหม่ ก็ย่อมต้องฝั่งทะเลระนองถึงสตูลนั่นเอง

ตำบลที่ของท่าเรือนั้นไม่ควรใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ระยะทางปืนใหญ่ยิงถึงและอาจเกิดปัญหาการเดินเรือสับสนกันใกล้ชายแดน ที่สำคัญในแผ่นดินใหญ่หลังท่าเรือ (Hinter land) ต้องมีพื้นที่และระบบคมนาคมที่จะขนส่งกระจายสินค้าจากท่าเรือได้สะดวกและปริมาณมาก ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ท่าเรือเพราะระบายสินค้าออกไปไม่ทัน

แม้ท่าเรือในแม่น้ำก็ยังต้องการหลังท่าเรือที่ขยับขยายได้สะดวกสบายอย่างกรุงเทพฯ เมื่อ 60 ปีก่อนที่ยังมีรถรางแล่นอยู่ ท่าเรือที่ดีในกรุงด้านเหนือ คือ ท่าเรือเขียวไข่กา บางกระบือ และด้านใต้เป็นท่าเรือถนนตก บางคอแหลม เพราะที่เขียวไข่กา เป็นสุดทางของรถรางสายบางกระบือ-วิทยุ และมีรถเมล์สนามหลวง-นนทบุรี แล่นผ่าน ส่วนที่ท่าเรือถนนตก ซึ่งเป็นที่จอดเรือเมล์มอเตอร์โบ๊ต แล่นถนนตก-ปากลัด หรือพระประแดง (ยังไม่มีถนนไปถึง) มีรถรางสายหลักเมือง-ถนนตก และรถเมล์แผ่นดินใหญ่หลังท่าเรืออันแผ่สยายยังตำบลอื่นได้ง่าย

บางคนบอกว่าระนองแหละดี เพราะใกล้กรุงเทพฯกว่าที่อื่นในทะเลอันดามัน ซึ่งจริงตามภูมิศาสตร์ แต่ทะเลที่ระนองน้ำตื้นเพราะระนองอยู่ใกล้กันอ่าวเมาะตาบันของพม่าที่น้ำตื้นมากกว่าทางปากอ่าว เหมือนท่าเรือสีชังก้นอ่าวไทยน้ำตื้นกว่าท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ที่อยู่ออกไปทางปากอ่าว

นอกจากนี้ ยังมีทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ร่องน้ำที่ชายแดน ที่ทับซ้อนกับของพม่า การรักษาความปลอดภัยโดยเป็นพื้นที่ชายแดนก็ยากกว่าที่ไกลชายแดน ชัยภูมิหลังระนองถึงชุมพรทางอ่าวไทยเป็นทิวเขาตะนาวศรี ยากต่อการสร้างทางรถไฟ และถนนอันสูงชัน โค้งหักข้อศอกก็ยากต่อยานยนต์ขนาดใหญ่ยาว ความดีของระนองที่ใกล้กรุงเทพฯดีไม่เท่าเสีย ไม่น่านำมาพิจารณา

หลังจากเคยไปดูอ่าวปากบาราของ จ.สตูลมาแล้ว ต่อมาได้มีโอกาสไปยังกันตังของ จ.ตรังกับครอบครัว ได้เห็นสถานีรถไฟกันตัง อันเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวทางฝั่งอันดามัน ตัวสถานีรูปแบบของอาคารโบราณแต่บูรณะอย่างดีและสวยงาม ถามไถ่นายสถานีท่านว่า มีขบวนรถไฟเข้า-ออกสถานีวันละเที่ยวเดียวเท่านั้น ท่านว่าทำงานสบายมาก และขอเกษียณอายุทำงานที่สถานีนี้เลย

ทางรถไฟจาก อ.กันตังผ่านตัว จ.ตรังไปถึงนครศรีธรรมราชจนกรุงเทพฯทางด้านเหนือและไปถึงสงขลาทางด้านใต้ ส่วนเส้นทางถนน ก็มีถนนชั้นหนึ่งและชั้นสองจากกันตังไปยังอำเภอต่างๆ ของตรัง และตัว จ.ตรังที่เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีสนามบิน จ.ตรังที่มีเที่ยวบินทุกวัน ไป-กลับ กรุงเทพฯอีกด้วย

ทางด้านทะเล กันตังมีปากน้ำกันตังและปากน้ำย่านตาขาวที่มีท่าเทียบเรือประมง ซึ่งมีเรือเทียบท่าเรืออยู่แสดงว่ามีร่องน้ำจากทะเลเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ ส่วนนอกปากน้ำและทะเลเปิดมีน้ำลึกเพียงใดไม่ทราบได้ แต่ไม่มีอุทยานทางทะเลเหมือนอุทยานเกาะตะรุเตา เกาะเภตรา เกาะหลีเป๊ะ ที่อ่าวปากบาราของสตูลที่โดนคัดค้านกันขรมว่าการสร้างท่าเรือเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม ซึ่งหากเป็นที่กันตังก็คงมีการคัดค้านอย่างเบาะๆ เพราะไม่มีอุทยานฯหรือแหล่งธรรมชาติเป็นเหตุผลสำคัญของการคัดค้าน

ในเรื่องชื่อ “กันตัง” มีเรือหลวงลำหนึ่งชื่อ กันตัง ทั้งที่ไม่ต้องตามกฎเกณฑ์ กล่าวคือ เมื่อสั่งสร้างเรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำจากประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ.2478 ตามความคิดที่จะใช้เป็นเรือฝึกของคนประจำเรือตอร์ปิโดใหญ่ 7 ลำ ที่สร้างจากอิตาลีในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการฝึกนั้น ในการตั้งชื่อเรือตอร์ปิโดเล็กจะใช้ชื่ออำเภอที่ชายแดนทะเล คือ คลองใหญ่ ของ จ.ตราด ตากใบ ของ จ.นราธิวาส ทางด้านอ่าวไทย ส่วนทางทะเลอันดามันที่มี อ.ท่าแพอยู่ใต้สุดของ จ.สตูล เรือลำหนึ่งก็น่าจะชื่อ ร.ล.ท่าแพ ทำนอง ร.ล.คลองใหญ่ และ ร.ล.ตากใบ แต่กลับชื่อว่า ร.ล.กันตัง ตามชื่ออำเภอของ จ.ตรัง โดยไม่ทราบเหตุผลจนบัดนี้

เหตุผลโดยกำปั้นทุบดิน ก็เป็นว่า ร.ล.กันตัง ฟังเพราะกว่า ร.ล.ท่าแพก็แล้วกัน และทุบดินอีกหนว่า ท่าเรือกันตัง ก็เพราะกว่าท่าเรือท่าแพ หรือท่าเรือปากบารา ไปด้วย

ฝั่งทะเลอันดามันของไทยควรต้องมีท่าเรือน้ำลึกอย่างน้อยแห่งหนึ่งอย่างแน่นอน ชัยภูมิของกันตัง ที่เบื้องหลังทะเล มีปากน้ำ มีทางรถไฟ มีทางหลวง และมีสนามบิน ตำบลที่ห่างจากชายแดนเพื่อนบ้านอย่างพอเหมาะต้องตามฮวงจุ้ยของท่าเรือชั้นดี รวมทั้งยังเป็นจุดที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่เพื่อนบ้านอาจอิจฉาว่าเป็นสากลยิ่งกว่าเขา นอกจากนี้ยังเป็นชื่อที่ฟังเพราะอีกด้วย-ท่าเรือน้ำลึกกันตัง

เมื่อท่าเรือปากบาราอยู่ในลิ้นชัก ท่าเรือกันตังก็น่าจะขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image