งบประมาณแผ่นดินแบบซ้ำซาก กับอนาคตทางการคลังของไทย

วันพุธที่ 29 สิงหาคม 2561 เมื่อไม่กี่วันนี้เอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณางบประมาณประจำปี 2562 (ต.ค.2561-ก.ย.2562) ในวาระสองและสาม โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล คสช. ซึ่งมีวงเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท ก็ผ่านการอนุมัติอย่างเรียบร้อยราบรื่น

ถ้าจะถามว่าเรียบร้อยราบรื่นอย่างไร ก็ตอบได้ว่าไม่มีการซักค้านหรือจี้ให้คนของรัฐบาลต้องชี้แจงตั้งแต่เช้าจรดเย็นไปถึงกลางดึก หรือถึงรุ่งอรุณของอีกวันอย่างรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีของแถมให้ดูอีกว่า การพิจารณาเรื่องที่สำคัญยิ่งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายบริหารนั่งร่วมประชุมอยู่ด้วยก็ได้ เรื่องนี้ถ้าเป็นนิทานอีสปก็สอนให้รู้ว่า เป็นรัฐบาลปฏิวัตินี้ทำอะไรมันก็ง่ายดีไปหมด ไม่เว้นแม้เรื่องใหญ่โตและสำคัญยิ่งยวดเช่นนี้
แต่หาได้ใช้กับเรื่องที่เป็นนโยบายหลักๆ ที่ คสช.ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนเข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ไม่ นับตั้งแต่นโยบายจัดการเรื่องน้ำ นโยบายเรื่องเพิ่มรายได้และความกินดีอยู่ดีของคนรากหญ้า หรือนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม นโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ และนโยบายการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่มวลมหาประชาชนเคยเรียกร้อง เมื่อสี่ปีกว่าที่ผ่านมาของงบประมาณแผ่นดินปีแล้วปีเล่าจนถึงปีนี้ ก็ไม่เห็นว่าได้มีการปรับโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายที่สอดรับกับนโยบายดังกล่าวข้างต้นให้ประชาชนได้เห็นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีแต่ความาซ้ำซากอยู่เช่นเดิม ความซ้ำซากมีอะไรบ้างจะแจงให้ทราบครับ

ประการแรก เป็นความซ้ำซากของการเพิ่มความสำคัญแก่งบป้องกันประเทศอย่างโดดเด่น โดยไม่มองว่ารัฐบาลแต่ละยุคไม่มีน้ำยาและความกล้าหาญในการเพิ่มรายได้ของประเทศให้เห็นเลย การเพิ่มงบป้องกันประเทศมากเกินเหตุ ทำให้ไปเบียดบังงบที่จำเป็นในด้านอื่น ลองเทียบงบป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม กับงบเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าเอางบประมาณปี 2557 เป็นปีฐาน (คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557) งบของกระทรวงกลาโหมในปีนั้นมีจำนวน 183,820 ล้านบาท มาถึงปีงบประมาณ 2562 นี้ ระยะเวลา 5 ปี งบกระทรวงกลาโหมเพิ่มเป็น 227,671 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24% ในช่วงเวลา 5 ปี นำไปเทียบกับงบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะต้องรักษาไว้ให้ดีไม่ด้อยกว่าอธิปไตย ปีงบประมาณ 2557 ได้งบ 31,487 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 ได้งบ 31,586 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีเพิ่มขึ้นเพียง 0.3%

พูดไปก็เท่านั้น งบของกระทรวงกลาโหมในปีหน้าที่ไม่มี คสช.แล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกมาก เพราะต้องตั้งงบจ่ายภาระผูกพันข้ามปีสำหรับค่าเรือดำน้ำ 2 ลำ ที่ได้วางเงินมัดจำในการสั่งซื้อกับจีนได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากเรือดำน้ำยังมีรถถังหุ้มเกราะ ฝูงบินขับไล่ สารพัดอาวุธที่ทยอยสั่งซื้อกันเพียบโดยรัฐบาล คสช.นี้ ในเอกสารงบประมาณประจำปี 2562 นี้ ในหน้า 101 ตารางที่ 3-25 พบว่ามีภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีของกระทรวงกลาโหมที่มีถึงปี 2561 รวมกับปี 2562, 2563, 2564, 2565 และปีต่อๆ ไป รวมกันถึง 177,294.5 ล้านบาท น่าตกใจไหมครับ

Advertisement

ขยันซื้อกันนักจะไปรบกับใครหรือ ซื้อโดยใช้งบประมาณธรรมดายังไม่อิ่ม ยังซื้อด้วยการผูกพันงบประมาณผูกพันล่วงหน้าไปอีก 5-6 ปี อย่าไปถามนายพลทหารไทยหรือผู้นำไทย ลองไปฟังที่นายกฯมหาธีร์ของมาเลเซีย ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ เกี่ยวกับความเห็นของท่านกับจีน เมื่อถูกถามว่าท่านไม่กลัวว่าจีนจะมาครอบครองทะเลจีนใต้ ซึ่งจะมีบางส่วนที่เป็นของมาเลเซียด้วยหรือ นายกมหาธีร์ตอบทันทีว่า หากจีนต้องการทำอย่างนั้นก็ทำได้หมด ใครจะไปต้านหรือไปสู้รบได้ รวมทั้งประเทศมาเลเซียของท่านก็ไม่คิดจะไปสู้รบด้วย นี่คือผู้นำที่ฉลาดจริงในอาเซียนขณะนี้

นายกฯมหาธีร์นอกจากไม่ซื้ออาวุธจากจีน ยังดึงโครงการใหญ่ที่นายกฯจอมเขมือบคนก่อนของมาเลเซีย ได้เซ็นสัญญาโดยจะใช้เงินกู้ของจีนมาสร้างอีกด้วย นายกฯมหาธีร์ยังพูดว่า “ประเทศเราทำไมต้องพึ่งชาวต่างชาติมากนัก เมื่อเขามาสร้างอะไร เขาก็ใช้คนงานของเขา เขาใช้วัสดุครุภัณฑ์ของเขา แล้วประเทศเราได้อะไรบ้าง ไม่ได้อะไรเลย”

ตรงกันข้ามผู้นำของไทยกลับคิดกลัวว่าชาติอื่นจะมารังแกเรา จำเป็นต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พร้อม นี่มันโบราณชัดๆ ไม่รู้หรือว่าเดี๋ยวนี้เขารบกันด้วยอะไร ไม่มีต่างชาติไหนเขาจะมารังแกเราด้วยอาวุธหรอก แค่อยู่เฉยๆ เราก็ทำการเปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามาลงทุนทำมาหากินได้อย่างสบายๆ ในข้อเสนอที่ดีกว่าเขาลงทุนในประเทศของเขาเอง สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ที่จัดให้ พร้อมเอาคนของเขาเข้ามาทำงานกับหุ่นยนต์ที่เขาผลิตได้ แบบแทบไม่มีการกีดกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงหน่อยก็สามารถพาทั้งครอบครัวมาอยู่คอนโด หรือบ้าน โดยการเช่าซื้อได้เหมือนคนไทย แถมภาษีต่างๆ ก็ยกเว้นให้แทบทั้งหมด อย่างนี้มีที่ไหนจะเทียบเท่า ก็โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ส่งเสริมกันสนั่นโลกในทุกวันนี้ไงละครับ ความจริงโครงการอีอีซีนี้ไม่ใช่ไม่ดี ที่จริงน่าจะดีมากถ้าหากเราไม่ให้ประโยชน์แก่ต่างชาติอย่างสุดซึ้งจนเกินไป โดยไม่คิดถึงคนไทยตาดำๆ และภาษีก็มีการยกเว้นให้ยาวกว่าการส่งเสริมของ BOI ปกติ ซึ่งก็ตรงกับที่นายกฯมหาธีร์พูด อย่างนี้เราไม่ได้อะไรเลย

Advertisement

เมื่อมาดูให้ลึกๆ ก็ไม่แน่ใจว่านายพลของไทยจะไม่มีความรู้เลยหรือว่า สงครามสมัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เขาจะรบด้วยอะไร แต่จากข้อเท็จจริงจะพบว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารรายการใหญ่ๆ ที่สั่งซื้อในสมัย คสช.อยู่ในอำนาจนี้ ทั้งจากงบประมาณประจำปีและงบผูกพันล่วงหน้า ส่วนใหญ่สั่งซื้อจากจีน ทั้งเรือดำน้ำและรถถัง ฝูงบินรบสั่งจากเกาหลี และรถถังบางประเภทสั่งจากยูเครน เป็นต้น จากแหล่งผลิตอาวุธดีๆ จากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในยุโรปนั้นแทบไม่มี ก็ดังที่ทราบกันดีว่า สินค้าจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่นยุคนี้ เขาไม่มีค่าคอมมิสชั่นใต้โต๊ะกันแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีข้อตกลงในเรื่องนี้กันชัดเจน ใครให้จับได้ก็จะถูกประณามกันหนัก แต่จากจีน เกาหลี และยูเครน กฎความโปร่งใสแบบนี้ยังไม่มีการพูดถึงและนำมาปฏิบัติกัน จึงเป็นที่นิยมของบรรดานายหน้าค้าอาวุธทั่วโลก

ประการที่สอง เป็นความซ้ำซากของการผัดผ่อนการชำระหนี้ประเภทต่างๆ ของรัฐบาล ที่เรียกว่า หนี้สินผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า (Contingent Liabilities) หรือก็คือหนี้ที่ไม่ตรงไปตรงมาตามหลักการคลังของประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในประเทศไทย

ในช่วงก่อนปี 2545 หนี้ที่เป็นตัวอย่างที่พูดถึงกันมากสำหรับผู้ดูแลและบริหารการคลังของประเทศ คือ หนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทยและหนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สององค์กรนี้เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลด้านคมนาคมขนส่งของคนไทย ทุกรัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักการให้สององค์กรนี้เก็บค่าโดยสารราคาถูกกว่าจุดคุ้มทุนเพื่อช่วยคนมีรายได้น้อย ดังนั้น ทำไป บริหารไป โกงกินกันไป ก็ยิ่งขาดทุนบานเบอะ ทั้งๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ พอขาดเงิน ไปกู้เงินใครที่ไหนก็ไม่มีใครให้ รัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ ค้ำไปนานๆ แต่ละปีทั้งต้นและดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ ก็ไม่มีปัญญาใช้หนี้ ระยะหลังๆ นอกจากค้ำประกันเงินกู้ให้แล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องไปกู้เองแล้วนำเงินมาให้กู้ต่อแก่ทั้งสององค์การนี้ พอกพูนขึ้นทุกปี

การค้ำประกันหนี้ให้รัฐวิสาหกิจอีกแห่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ หนี้เงินกู้ขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ ที่ทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง ซึ่งขณะนี้มียอดหนี้อยู่ 102,000 ล้านบาท และเมื่อดูโครงการที่โหมทำอย่างบ้าคลั่งในปัจจุบัน องค์การนี้จะต้องเพิ่มหนี้ให้รัฐบาลค้ำประกันรวมกันถึงไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปีข้างหน้า

ตัวเลขหนี้ทั้งที่รัฐบาลค้ำประกันและรัฐบาลให้กู้ต่อคงค้าง ณ ปัจจุบัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า 230,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท บวกขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพอีก 100,000 ล้านบาท รวมกันสามรัฐวิสาหกิจเป็นหนี้ทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 430,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยให้ทุกปี ทำยังไงๆ รัฐบาลก็ต้องรับเต็มประตู แต่อีก 2 ปีข้างหน้า สามรัฐวิสาหกิจนี้ จะมีหนี้ที่รัฐบาลจำต้องค้ำประกันอีกมาก รวมกับที่ค้ำอยู่ในปัจจุบัน น่าจะมียอดค้ำประกันทั้งสิ้นรวมกันไม่ต่ำกว่า 700,000 ล้านบาท ใครจะเป็นรัฐบาลเตรียมตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน

เรื่องการสร้างหนี้แบบนี้ยังมีอีก คือเมื่อหลังปี 2545 โดยประมาณ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่แตกฉานเรื่องประชานิยม ก็ได้ใช้วิธีช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ก็ใช้วิธีพยุงราคาหรือประกันราคา หรือรับจำนำพืชผลด้านการเกษตร พร้อมกับจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งก็เป็นนโยบายที่หลายประเทศ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่เขาช่วยชาวไร่ชาวนากัน แต่วิธีของไทยแบบศรีธนญชัย ขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อน ก็ไปบังคับให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่ตั้งชื่อเพื่อช่วยเกษตรกรไทย ไปกู้เงินมาจากตลาดเงินมาให้เกษตรกรกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาด เช่น ปกติ ธ.ก.ส.ให้กู้ในอัตรา 5.5% รัฐบาลก็สั่งเป็นนโยบายโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี ให้ ธ.ก.ส.ให้กู้แก่เกษตรกร ด้านโน้นด้านนี้ตามแต่จะกำหนดในอัตราดอกเบี้ย 3.0% ส่วนต่าง 2.5% รัฐบาลก็จะอุดหนุนโดยนำเงินงบประมาณมาจ่ายชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. เป็นรายปี ภาระดอกเบี้ยผูกพันนี้ก็ตกอยู่แก่รัฐบาลตราบเท่าที่เงินต้นยังคงมีอยู่ ซึ่งวิธีการนี้รัฐบาล คสช.ก็ได้นำมาใช้อยู่อย่างเพลิดเพลินจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงก่อนเลือกตั้งนี้ยิ่งใช้หนักมือขึ้น

แต่หนี้ของ ธ.ก.ส.ที่ต้องไปหาเงินมาช่วยรัฐบาลที่หนักหนาสากรรจ์ตั้งแต่รัฐบาลท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือหนี้จำนำข้าว ซึ่งตัวเลขความเสียหายที่กลายเป็นหนี้นั้น ตัวเลขทางการพูดกันถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเงินกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุลปัจจุบันเลยครับ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 มียอดหนี้คงค้าง ธ.ก.ส. จากการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554-2557 ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย จำนวนทั้งสิ้น 302,170 ล้านบาท ยอดนี้รัฐบาลก็ต้องรับเต็มๆ เช่นกัน ขณะนี้ทราบว่าได้ตั้งงบประมาณมาให้ ธ.ก.ส. ลดหนี้ปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท ไม่รู้อีก 15 ปีจะหมดไหม ส่วนค่าดอกเบี้ยรายปีรัฐบาลจะเอามาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากเงินภาษีอากรที่อยู่ทางด้านงบรายได้ของรัฐบาล

ตามเอกสารงบประมาณประจำปี 2562 รัฐบาลได้ตั้งงบชำระหนี้เงินกู้ไว้จำนวน 259,609.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 8.65% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท งบชำระหนี้ที่รัฐบาลตั้งไว้ข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นค่าดอกเบี้ย ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ไปหนึ่งปีนั้น รัฐบาลจะชำระคืนต้นเงินกู้ที่ค้างได้เพียง 78,205.5 ล้านบาทเท่านั้นแหละ หนี้ที่เหลือก็จะต้องให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจัดการกู้ใหม่เพิ่มเข้ามาใช้คืนเงินต้นที่ครบกำหนดเป็นงานประจำไปทุกปีๆ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ถ้าท่านได้เปิดเอกสารงบประมาณโดยสังเขบประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ของสำนักงบประมาณในหน้า 113 ตาราง 4-4 อ่านดูให้ละเอียดด้วยตนเอง จะพบว่าในปีงบประมาณใหม่นี้ จะมีเงินกู้ภายในประเทศโดยตรงของรัฐบาลทั้งสิ้น 10 รายการ เป็นเงิน 1,129,925.5 ล้านบาท คิดเป็น 37.7% ของงบประมาณทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ตัวเลขเงินกู้เพื่อชดเชยงบประมาณปี 2562 นี้ 450,000 ล้านบาท และยอดรองลงมา คือเงินกู้เพื่อการบริหารและจัดการหนี้ จำนวน 356,389.4 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มาก เงินกู้เพื่อการบริหารและจัดการหนี้เงินกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ 57,347.4 ล้านบาท ซึ่งยอดเงินกู้นี้ก็เพื่อนำมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ ปกติปีหนึ่งๆ ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นมาก สองตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า รัฐบาลกำลังแบกภาระหนี้ประเภทที่ไม่ใช่หนี้ของรัฐบาลโดยตรงมากขึ้นทุกปี และจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างรวดเร็วในปีต่อๆ ไป

ประการที่สาม คือความซ้ำซากของการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนท้องถิ่น เรื่องนี้ที่สำคัญมีกฎหมายออกมานานแล้วว่า ในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งปีนี้ได้จัดสรรให้จำนวน 276,900 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นความซ้ำซากที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่อยากให้ท่านผู้อ่านพิจารณาตัวเลขที่ให้แก่ท้องถิ่นจำนวนน้อยนิดแค่นี้ถึงแม้จะมีส่วนแบ่งรายได้จากการจัดเก็บโดยกรมสรรพากรให้ท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกจำนวนหนึ่งตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกัน ปีนี้ได้กำหนดจะจัดสรรให้จำนวน 141,300 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 400,000 ล้านบาท ดูไม่มากและไม่พอสำหรับการกระจายความเจริญและกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่แค่นี้ก็เป็นภาระที่หนักของรัฐบาล คือคิดเป็นประมาณ 13% ของงบประมาณรายจ่าย

แนวทางที่จะลดภาระด้านนี้ของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็คือ การออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังยักแย่ยักยัน ดึงกันไปดึงกันมาในหมู่พวกคนรวยทั้งหลาย ที่มองไม่เห็นคนจนและความเจริญของท้องถิ่นที่ทำให้ภาษีนี้ไม่สามารถออกมาเร็ว และทำการลดอัตราการจัดเก็บจนต่ำมาก จนไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำได้ ท้องถิ่นของประเทศไทยโดยการดูแลของรัฐบาล คสช. ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ประการที่สี่ ความซ้ำซากข้อสุดท้ายที่กำลังขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าวัชพืช คือ การสร้างภาระผูกพันให้กับงบประมาณในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อดูเอกสารงบประมาณโดยสังเขปประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 หน้า 101-102 ตารางที่ 3-25 เรื่องภาระผูกพันงบประมาณข้ามปีทั้งสิ้น จำแนกตามกระทรวง ปรากฏว่ายอดสะสมถึงปี 2561 จำนวน 448,609.2 ล้านบาท ซึ่งช่วงนี้อยู่ในการบริหารของรัฐบาล คสช. 4 ปี แต่ถ้าดูยอดในปี 2562, 2563, 2564, 2565 และปีต่อๆ ไป ยอดภาระผูกพันที่รัฐบาล คสช.ได้สร้างไว้แล้วนี้ จะมียอดงบผูกพันเพิ่มขึ้นอีก 728,665.8 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งสิ้นคือรวมยอดสะสมถึงปี 2561 ด้วย จะเป็นจำนวนภาระผูกพันงบประมาณรายจ่ายที่ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของรัฐบาลนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,178,275 ล้านบาท (449,406.2+728,665.8)

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับภาวะการคลังของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถามว่าน่ากลัวขนาดนั้นเชียวหรือ ก็ให้อ่านเรื่องที่เขียนมาเสียยาวนี้เสียใหม่ แล้วไปเปิดอ่านเอกสารงบประมาณสังเขปที่อ้างถึงให้ชัดเจนอีกรอบ แล้วจะขนลุก และหัวใจจะเต้นถี่ขึ้น

โดยสรุปรายได้ก็เพิ่มไม่ค่อยได้ รัฐบาลชุดใหม่ๆ ก็ไม่กล้าเพิ่มภาษี งบประมาณก็มีจำกัดจำเขี่ย ทหารก็อยากได้อุปกรณ์ใหม่ทุกปี คมนาคมที่เป็นกระทรวงที่มีงบผูกพันสูงสุดถึง 365,591.2 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่ง ก็ยังอยากจะสร้างรถไฟความเร็วสูงอีก กลาโหมผูกพัน 177,294.5 ล้านบาท สูงเป็นอันดับสอง ก็ยังอยากจะสะสมอาวุธเพิ่มอีก มหาดไทยผูกพัน 131,671.2 ล้านบาท เป็นอันดับสาม ศึกษาธิการผูกพัน 99,948.2 ล้านบาท เป็นอันดับสี่ รวม 4 กระทรวงใหญ่นี้ก็ปาเข้าไปถึง 774,505 ล้านบาทแล้ว และเมื่อรวมทุกกระทรวงงบผูกพันทั้งสิ้นก็จะเป็น 1.23 ล้านล้านบาท หนึ่งในสามของงบประมาณปี 2562 แล้วปีต่อจากนี้จะต้องผูกพันอีกกี่แสนล้าน จะทำงบขาดดุลที่ต้องกู้เต็มพิกัดไม่เกิน 3% ของ GDP ก็ไม่ได้อีกแล้ว เงินต้นที่รัฐรับภาระบานเบอะก็ไม่ต้องคิดใช้คืนเงินต้น แต่ละปีก็ต้องใช้เงินกู้ใหม่มาชำระเงินกู้เก่ามากขึ้นไปเรื่อย ไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า การคลังของประเทศก็จะถึงทางตัน

ช่วยส่งทีมไปดูงานที่อาร์เจนตินาเร็วหน่อยเถอะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image