เวรกรรม มาตรา 44 โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

นายบุญเลิศ บูรณปกรณ์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความเป็นธรรมเปลี่ยนแปลงคำสั่งตามมาตรา 44 ให้กับ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ราย ที่ถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

โดยยื่นรายงานผลการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่แจ้งต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พบว่าไม่มีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เป็นหลักฐานยืนยัน

ครับ คงเป็นเพราะการแสดงบทบาทต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสมาชิกในสังกัดของสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว จึงเกิดผลทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณานำเสนอความเห็น จะทำอย่างไรกับกรณีนี้ต่อไป ขณะเดียวกันได้กำชับให้พิจารณากรณีอื่นๆ ที่โดนมาตรา 44 สั่งลงโทษพักงานไปพร้อมกันด้วย

“นายกฯสั่งว่า ให้เคลียร์ ถ้าไม่ผิดก็ให้บอกมาจะได้ให้เขาคืนกลับไปให้หมด แต่ถ้าผิดก็ขอให้เดินหน้าตรวจสอบให้เต็มที่” รองวิษณุย้ำ

Advertisement

จากคำสั่งตามมาตรา 44 ครั้งแรกวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ครั้งที่สอง 25 มิถุนายน 2558 ครั้งที่สาม 5 มกราคม 2559 รวม 167 คน เป็นข้าราชการเท่าไหร่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าไหร่ ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าไหร่ รายชื่อมีใครเป็นใครบ้าง สืบค้นไม่ยาก หาดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันดังกล่าว

ประเด็นมีว่า นอกจากผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ราย และกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 7 ราย ที่มีองค์กรและบุคคลออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกลับคืนให้แล้ว คนอื่นๆ โดยเฉพาะข้าราชการจำนวนมาก ใคร องค์กรใด หน่วยงานไหน สมาคมชมรมอะไร จะช่วยทวงคืนความเป็นธรรมให้กับพวกเขา และควรได้รับการเยียวยาหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้ทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา

ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน การสอบสวน การพิจารณาโทษ ต่อไปจะเป็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา หรือจะมีหลักประกันความยุติธรรม ตามเวลาที่ควรจะเป็นอย่างไร

Advertisement

คุณวิษณุขยายความถึงเรื่องนี้อีกว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายชื่อข้าราชการ 3 ล็อตแรก พบว่า มีความผิดบ้าง หรือบางรายก็พ้นผิด เพราะการพักงานเขาอยู่อย่างนี้ก็เป็นบาปกรรม ส่วนรายชื่อข้าราชการล็อต 4 นั้น ทางศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ยังไม่ส่งรายชื่อมาให้พิจารณาแต่อย่างใด

“บางคนที่ถูกพักงานจนกระทั่งครบวาระแล้วนั้น อย่างนี้นายกฯรู้สึกเห็นใจ ซึ่งก็มีส่วนใหญ่เป็นพวกท้องถิ่น แต่คงจะไม่มีการเยียวยาใดๆ ถือเป็นเวรเป็นกรรม ซึ่งขอให้รีบรายงานมาเพื่อที่จะได้ให้คืนกลับไปโดยเร็ว หน่วยงานที่กล่าวหาตอนแรกจะต้องเป็นคนเคลียร์ให้เขา เมื่อสอบแล้วพบว่าไม่ผิด”

ครับ ฟังแล้วช่วยได้แต่เพียงเร่งรัด

เพราะกระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติแก้ปัญหาได้ไม่ทันใจ เลยต้องใช้กระบวนการใหม่ภายใต้การเมืองอำนาจพิเศษ แต่ก็ยังติดกึก ติดกัก ลงท้ายต้องพึ่งเวรกรรม

ฉะนั้นนอกจากยอมรับโทษเวรโทษกรรมแล้ว สิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่งคือทบทวนทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทาง หน่วยที่รับเรื่องร้องเรียนและตั้งเรื่องสอบสวน กลางทางหน่วยที่ทำหน้าที่สอบสวน ปลายทางหน่วยงานที่กลั่นกรองและผู้ตัดสินใช้อำนาจมาตรา 44 ต้องเน้นคุณภาพ ความหนักแน่นของพยานหลักฐาน พฤติกรรม ไม่หูเบาเอาปริมาณเป็นตัวตั้ง เพียงเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่า เอาจริงนะคราวนี้

แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงแล้วอำนาจพิเศษแทนที่จะนำไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรม กลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างบาปกรรมทั้งคนลงโทษและคนถูกลงโทษ

โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวนที่กินระยะเวลายาวนาน ผู้ถูกกล่าวหาถูกพักงานจนเกษียณอายุราชการ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและงานในหน้าที่รับผิดชอบซึ่งก็คืองานราชการโดยรวม

การปรับปรุงกฎระเบียบก็ส่วนหนึ่ง การปฏิบัติของคนก็อีกส่วนหนึ่ง หากถือหลักทำใจ ให้อภัย อโหสิกรรม เป็นเวรเป็นกรรมที่กระทำร่วมกันมาก่อนเป็นทางออก เพื่อปลอบใจตัวเอง ทั้งคนร้อง คนถูกร้อง คนสอบสวน คนตัดสินลงโทษ จะไปชดใช้กันวันไหน เมื่อไหร่ ชาตินี้หรือชาติหน้าก็แล้วแต่ ตัวใครตัวมันละครับ

แต่ที่แน่ๆ คนกลุ่มนี้อีกทั้งเพื่อนพ้อง บริวาร มากหรือน้อยก็แล้วแต่ จะมีทัศนคติต่อ คสช.และระบบอำนาจพิเศษอย่างไร ส่งผลไปถึงการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ น่าคิดนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image