สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปชป.-คสช.-ปฏิรูปประเทศไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปตย์ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก”

ความตอนหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันข้อบังคับของพรรคกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส.และประธานสาขาพรรคเป็นหลัก เป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่ออกมาอยู่แล้ว แต่มองว่า ปชป.สามารถเป็นผู้นำและมีความก้าวหน้ากว่านี้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีเหตุเพิ่มเติม คือ การปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดย คสช.ในเรื่องนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ตรงประเด็นที่ว่า เฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีเหตุเพิ่มเติมคือการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดย คสช.ในเรื่องนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นี่แหละครับ น่าสนใจ

เสียดายไม่ได้อธิบายความว่าหมายถึงล้มเหลวเฉพาะการจัดทำไพรมารีโหวต หรือปฏิรูปการเมืองล้มเหลวทั้งระบบโดยสิ้นเชิง

Advertisement

แต่ไม่ว่าจะเป็นประการแรกหรือประการหลังก็ตาม ความเคลื่อนไหวเพื่อจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ มีความเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นปฏิรูปการเมืองล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลวอยู่ด้วย

เหตุเพราะนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคที่ลาออกจากพรรคไปรับตำแหน่งรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีความเคลื่อนไหวที่จะลงแข่งขันรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้ด้วย

นายอลงกรณ์จะขาดคุณสมบัติการลงสมัครหรือไม่นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ นายอลงกรณ์มีความคิดเห็นด้วย สนับสนุนแนวทางปฏิรูปและเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เค้าโครงทิศทางการปฏิรูปต่างๆ ทั้ง 13 ด้านตามโมเดลแม่น้ำห้าสายปรากฏออกมาจนประกาศมีผลใช้บังคับ

Advertisement

ขณะที่นายอภิสิทธิ์มีท่าทีตรงข้ามและแสดงความเห็นคัดค้านบ่อยครั้ง จนกระทั่งล่าสุดใน
เฟซบุ๊กดังกล่าว

ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์พูดไว้ชัดว่า ไม่ค่อยเชื่อในแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเห็นว่าโลกปัจจุบันนี้ทำอย่างนั้นมันยาก แต่เมื่อมีก็ต้องหาทางให้เกิดเจตนารมณ์ร่วมของสังคม ยุทธศาสตร์จึงจะเดินได้อย่างต่อเนื่อง

“ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้กำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกำกับนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับผู้ร่างยุทธศาสตร์มอง”

ฉะนั้นการแข่งขันครั้งนี้ ถ้ามีชื่อนายอลงกรณ์อยู่ด้วยคนหนึ่ง การต่อสู้ภายในพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ใช่การชิงชัยด้านตัวบบุคคลเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างสองแนวทางความคิดอีกด้วย คือระหว่างเห็นด้วยกับการปฏิรูป กับคัดค้านการปฏิรูปแบบขาดการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างเพียงพอ

หากการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากจนสามารถเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเด็นนี้คงไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นการกำหนดท่าทีจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะมีประเด็นแนวทางปฏิรูปเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจด้วยอย่างแน่นอน

การต่อสู้ทางความคิดและผลประโยชน์ ระหว่างความต้องการเป็นรัฐบาล กับจุดยืนเรื่องนโยบาย คงดุเดือดเข้มข้น น่าดูทีเดียว ในที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอะไรมาเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจ

แม้จะบอกว่า ยึดการตัดสินใจของประชาชนในการลงคะแนนเสียงให้พรรคไหนเป็นส่วนใหญ่เป็นหลักก็ตาม หากพรรคที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้สิทธิ เห็นชอบกับแนวทางปฏิรูปตามโมเดลแม่น้ำห้าสาย พรรคประชาธิปัตย์จะยินยอมเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่

โจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงน่าจะยากกว่าพรรคอื่นๆ
เพราะเป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมือง ระหว่างปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมกับขาดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แนวทางประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมด้วย

ข้ออ้างที่เคยใช้ได้ผลมาตลอดก็คือ ต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในพรรค มารยาททางการเมืองเรื่องมติพรรคอยู่เหนือทุกสิ่ง อีกเช่นเคยหรือไม่ คอยดูกันหลังผลการเลือกตั้งปรากฏ

ผลประโยชน์บุคคล ผลประโยชน์พรรค ผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ อะไรจะมาก่อน

อำนาจและผลประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้กับความถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็น จะเป็นสิ่งชี้ชัดอีกครั้งหนึ่งว่าสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองเก่าแก่ ประกาศตัวเชิดชูหลักการประชาธิปไตยทุกลมหายใจ จะเลือกอยู่กับอะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image