มงคลเมือง 2 : โดย ทวี ผลสมภพ

ผู้เขียนเคยลงบทความเรื่อง มงคลเมือง 1 ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพราะอาจจะนานมาแล้ว ผู้อ่านอาจจะนึกไม่ออก จึงขอทบทวนโดยย่อพอนึกออกว่า ในมงคลเมือง 1 นั้น ได้พูดถึง เมืองลพบุรี ว่า เป็นเมืองมีมงคลเพราะพระพุทธเจ้า เสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ที่เขาวงพระจันทร์ ส่วนรอยพระบาทที่สระบุรีนั้น เป็นรอยพระบาทที่พระเจ้าทรงธรรมจำลองขึ้นมา การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อยู่ เพราะสังคมไทยต่างผูกพันอยู่กับรอยพระบาทที่จังหวัดสระบุรี ดังนั้นการมาปฏิเสธรอยพระบาทที่สระบุรี โดยอ้างว่าพระเจ้าทรงธรรมจำลองขึ้นมา จึงน่าจะถามถึงเหตุผล ที่ทำให้กล้าพูดเรื่องนี้ จึงขอเฉลยว่า เหตุผลที่ทำให้กล้าพูดเรื่องนี้ขึ้นมา มีอยู่ 5 ประการ คือ

หนึ่ง ในพระไตรปิฎกกล่าวประวัติการเสด็จมาประทับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งสระบุรีและลพบุรี

สอง ความผิดพลาดที่กล่าวไว้ในพงศาวดารสมัยพระเจ้าทรงธรรมชวนให้สงสัย

สาม ลักษณะรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรี ชวนให้มองเห็นเป็นธรรมชาติ ซึ่งไม่เหมือนรอยพระบาทที่สระบุรีชวนให้มองเห็นเป็นรอยจำลอง

Advertisement

สี่ สภาพแวดล้อมบางเรื่องชวนให้สงสัยในเชิงอุดหนุนให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นรอยพระบาทจริง

ห้า โบราณสถานเมืองไทยที่ยังไม่พบผู้สร้างทำให้ชวนคิดว่า พระสัจพันธ์เป็นผู้สร้าง

ในประเด็นข้อที่ หนึ่ง ผู้เขียนไม่เคยรู้ว่า ประวัติรอยพระบาทของทั้งสองจุด เป็นเรื่องเดียวกันตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก คือพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพี่ชายพระปุณณะ ที่เมืองสุนาปรันตะ ที่ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคืออาณาจักรจามในอดีต และเป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน เมื่อเสด็จกลับจะผ่านแม่น้ำนิมมะทา คือแม่น้ำโขง จึงประทับรอยพระบาทไว้ และเมื่อแวะเขาสัจพันธ์จึงประทับรอยพระบาทไว้ให้พระสัจพันธ์ที่เขาสัจพันธ์ที่ลพบุรี

Advertisement

เมื่อผู้เขียนเห็นรอยพระบาทที่ลพบุรี เป็นรอยเท้าคนธรรมดา จึงได้ค้นหาความจริง แล้วก็ได้ข้อสันนิษฐานว่า รอยพระบาทที่เขาวงพระจันทร์ ที่ลพบุรีนั้น พรานบุญคงพาพระเจ้าทรงธรรมไปทอดพระเนตรแล้ว แต่พระองค์ไม่เห็นลายวิจิตรที่ฝ่าพระบาท ซึ่งมีลายจักรัตนะ (ธรรมจักร) เป็นต้น จึงไม่ทรงเชื่อ เพราะทรงเข้าพระทัยว่า เมื่อเป็นรอยพระพุทธบาทจริง จะต้องมีลายวิจิตรที่ฝ่าพระบาท

ที่เป็นดังนี้ เพราะพระองค์ไม่ทราบความมหัศจรรย์ในรอยพระพุทธบาทที่มีกล่าวไว้ในอรรถกถา กล่าวคือ ในคัมภีร์พระสูตรและอรรถกถา เล่ม 40 หน้า 271 กล่าวไว้โดยสรุปว่า “รอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ เพื่อให้ผู้ใดได้เห็น ผู้นั้นเท่านั้นจะได้เห็น ผู้อื่นจะไม่ได้เห็นเลย” เมื่อพระเจ้าทรงธรรมไม่ทราบข้อความนี้ พอมาพบรอยพระพุทธบาทจริงเข้า จึงไม่ทรงเชื่อ แล้วจึงไปจำลองขึ้นมาใหม่

ถามว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงออกผนวชหนีราชภัย จนได้สมณศักดิ์ชั้นหิรัญบัตร คือ พระพิมลธรรม ทำไมจะไม่พบข้อความดังกล่าวเล่า !
ตอบว่า สมัยอยุธยามีการแปลเฉพาะพระไตรปิฎกเท่านั้น ส่วนคัมภีร์อรรถกถา ยังไม่มีใครสนใจ ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงยังเป็นความลับอยู่ หรือจะมีผู้แปลอยู่บ้าง ก็คงน้อยมาก

การที่พบว่า รอยพระพุทธบาททั้งสระบุรีและที่ลพบุรี เป็นเรื่องเดียวกัน จึงทำให้ต้องหาความจริงว่าระหว่างทั้งสองจุดนี้ องค์จริงอยู่จังหวัดไหน สำหรับชาวบ้านแถบนั้น เขาหาคำตอบเองว่า พระบาทแรกทรงเหยียบที่สระบุรี พระบาทที่สองทรงเหยียบที่ลพบุรี แต่ก่อนที่จะหาความจริงว่า รอยพระบาทองค์ไหนเป็นองค์จริง จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า

รอยพระบาทนี้อยู่เมืองไทย หรืออยู่ในอินเดียเพราะส่วนใหญ่จะเชื่อว่าอยู่อินเดีย เพื่อให้ได้เค้าลางดังกล่าว จะต้องพูดถึงภูมิประเทศ ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ของพระสูตรชื่อ ปุณโณวาทสูตร ในพระสูตรและอรรถกถา เล่ม 23 หน้า 444-445 ซึ่งเป็นต้นเรื่องของรอยพระบาทนี้

ในคัมภีร์นั้นกล่าวไว้ว่า พระปุณณะท่านเป็นชาวสุนาปรันตะ คืออาณาจักรจาม เมื่อขอพระกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็กลับบ้านเกิดของท่าน ตอนแรกท่านไปพักในที่ 4 แห่ง คือ หนึ่ง อัมพหัฏฏบรรพต สอง สมุทรคีรีวิหาร สาม มาตุลคีรี สี่ มกุฬการาม ในที่นี้ขอวิเคราะห์สถานที่ ที่มีชื่อตามสมัยนั้นว่า สมุทรคีรี คำแปลน่าจะแปลว่า ภูเขาชายทะเล ทะเลนี้อยู่ในเมืองสุนาปรันตะ

ขั้นแรกพยายามจะหาชายทะเลที่ติดจังหวัดสระบุรี และลพบุรี แม้จะพยายามคิดว่า หลายพันปีมาแล้ว ลพบุรีและสระบุรี เป็นชายทะเล แต่ก็น่าจะเป็นชายทะเลที่ผ่านมาสามพันปีมาแล้วหรือมากกว่านั้น ดังนั้น สระบุรีและลพบุรี ไม่ใช่เมืองสุนาปรันตะแน่ และก็เผอิญถูกจำกัดวงไม่ให้คิดว่าชายทะเลนั้นอยู่ที่สระบุรีและลพบุรี

สิ่งที่จำกัดวงไม่ให้สันนิษฐานว่า สระบุรีและลพบุรีเป็นเมืองสุนาปรันตะ ก็คือแม่น้ำ เพราะในพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่าระหว่างเขาสัจพันธ์และเมืองสุนาปรันตะนั้น มีแม่น้ำนิมมะทาอยู่ตรงกลาง ประกอบกับในขณะที่พบรอยพระพุทธบาทที่ลพบุรีนั้น

ใจผู้เขียนเชื่อเกินร้อยแล้วว่า พระพุทธบาทนี้เป็นองค์จริง จึงทำการค้นต่อว่า ถ้าพระพุทธบาทที่ลพบุรีเป็นองค์จริง เราต้องหาแม่น้ำนิมมะทาในเมืองไทยให้ได้ เพราะตามประวัติว่าในวันนั้น ทรงประทับรอยพระบาทที่แม่น้ำนิมมะทาก่อน แล้วจึงเสด็จมาประทับรอยพระบาทที่เขาสัจพันธ์ภายหลัง เพราะแต่เดิมเราก็เข้าใจว่า แม่น้ำนิมมะทาอยู่อินเดีย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อพระองค์จะประทับรอยพระบาทไว้ที่แม่น้ำนิมมะทาในอินเดียแล้ว จากนั้นจึงเสด็จมาที่ลพบุรี เมืองไทย แล้วประทับรอยพระบาทไว้ที่เขาสัจพันธ์ มันไม่น่าจะเป็นไปได้

ดังนั้น ถ้าเชื่อว่า รอยพระบาทที่ลพบุรีเป็นองค์จริง ต้องหาแม่น้ำนิมมะทาในเมืองไทยให้พบก่อน ความจึงจะน่าเชื่อ คราวนั้นผู้เขียน ได้พูดกับเพื่อนบ้านว่า ต้องช่วยกันหาแม่น้ำนิมมะทาในเมืองไทยให้พบ

หลังตั้งใจแสวงหาแม่น้ำนิมมะทาในเมืองไทยไม่นาน ณ วันที่ 11 ม.ค.2559 ก็ได้ยินทีวีประกาศว่า น้ำในแม่น้ำโขงแห้งก่อนกำหนด ทำให้รอยพระพุทธบาทที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมปรากฏให้เห็น ผู้เขียนได้ยินแล้ว งงนิดหน่อย ในประเด็นที่ว่า เรากำลังแสวงหาแม่น้ำนิมมะทาในเมืองไทย แล้วจู่ๆ ทีวีก็ประกาศว่า น้ำในแม่น้ำโขงแห้งก่อนกำหนดแล้วก็พบรอยพระพุทธบาทก็โผล่

พลันก็นึกว่า แม่น้ำโขงนี่แหละคือ แม่น้ำนิมมะทา

เรื่องตรงนี้ขอไปกล่าวในประเด็นถัดไป นี่คือสิ่งจำกัดไม่ให้คิดว่า สระบุรีและลพบุรีเป็นเมืองชายทะเล เมื่อได้แม่น้ำนิมมะทาเมืองไทยแล้ว ก็หาเมืองสุนาปรันตะง่าย เพราะเป็นเมืองมีทะเล ขึ้นจากแม่น้ำโขงไปทางตะวันออก เป็นประเทศลาว ประเทศลาวไม่มีทะเล จึงขอผ่านไป ประเทศเวียดนามมีทะเล พลันก็นึกได้ถึงอาณาจักรจาม ซึ่งเป็นชาวอินเดีย พูดภาษามคธ และสันสกฤต แล้วก็ได้บทสรุปส่วนตัวว่า นี่คือเมืองสุนาปรันตะแน่ การได้พบว่า อาณาจักรจามในเวียดนาม คือเมืองสุนาปรันตะ ตามที่พระไตรปิฎกกล่าวไว้ พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระพุทธบาทตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาของพระสูตรนี้ อยู่เมืองไทย ค่อนข้างแน่

เพื่อให้ได้ความมั่นใจ ควรจะดูสภาพปัจจุบัน ของจุดที่เรียกว่า สมุทรคีรี ที่ผู้เขียนเชื่อว่า เป็นเมืองสุนาปรันตะ ในประเทศเวียดนามในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร มีอยู่จุดหนึ่ง ที่น่าจะเป็นสมุทรคีรี คือ ปราสาทมิเซิน เป็นประสาทที่อยู่ชายทะเล ในเมืองกวางนัม โบราณสถานมิเซินเป็นมรดกโลก มีตัวปราสาทมากกว่า 70 ประสาท เหมือนปราสาทหินในเมืองไทย ที่ขอมสร้างไว้ เพื่อบูชาพระศิวะ

ผู้เขียนเข้าใจว่า บริเวณที่พระปุณณะท่านพัก คือ สมุทรคีรี น่าจะเป็นเมืองพุทธที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเมืองที่พระปุณณะท่านเคยพัก และคงเป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจาม แต่เมื่อพระราชาเปลี่ยนไปนับถือพระศิวะ จึงได้สร้างปราสาทหิน เป็นจำนวนมาก เพื่อให้คนบริเวณนั้นลืมพระพุทธศาสนา เฉกเช่นเมืองลพบุรี ที่เป็นเมืองมีรอยพระพุทธบาท ประชาชนบูชากราบไหว้ เมื่อขอมมีอำนาจเหนือมอญ จึงสร้างเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น นำลิงมาเลี้ยงให้เกิดความเชื่อว่าเป็นทหารพระราม สร้างยักษ์กกขนากขึ้น แล้วบอกกล่าวกันต่อๆ มาว่า ต่อร้อยปี หนุมานจะมาตอกศร ที่ตรึงยักษ์กกขนากไว้ ให้ยักษ์มันจมลึกเข้าไปอีก หาไม่แล้วยักษ์จะหลุดมากินคนลพบุรีหมด ปราสาทมิเซิน อยู่ไม่ไกลจากเมืองท่องเที่ยว ชื่อ ฮอยอัน นัก

ถ้าสนใจเรื่องตรงนี้ ขอเชิญไปอ่านหนังสือชื่อ บนดาวสีทอง พเนจรร่อนใจ ในเวียดนาม ของ ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตรี

ถ้าเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดหมู่ชนในเมืองลพบุรี ประเทศไทย และโปรดหมู่ชนในเมืองเวียดนามจริงแล้ว ขอให้หาหลักฐานว่า ขณะที่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่จนถึงพุทธศตวรรษที่ 1-3 มีข่าวทางพระพุทธศาสนา ในบริเวณนี้บ้างหรือไม่ เพราะนักประวัติศาสตร์ทุกคน เชื่อว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่บริเวณนี้ ในพุทธศตวรรษ ที่ 3 คือในสมัยพระเจ้าอโศก มิได้มีเค้าลางว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาในช่วงที่มีพระชนม์อยู่ จนถึงช่วงที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาบริเวณนี้ สมัยพระเจ้าอโศก คือ ในพุทธศตวรรษที่ 3 เลย

ในข้อสงสัยนี้ ขอตอบว่า มีหลักฐานยืนยันเรื่องนี้ ในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา และในประวัติศาสตร์ของลาว ของไทยก็มี แต่ไม่มีใครพูดถึง ในหนังสือชื่อ พระพุทธศาสนา ในกัมพูชา ที่จัดพิมพ์โดยสภาวิจัยแห่งชาติ 2514 หน้า 33-36 กล่าวว่า มีจารึกโบราณ ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาจารึกที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อศิลาจารึกโวกาญ จังหวัดญาตรัง เวียดนาม ในศิลาจารึกระบุว่า ประเทศพนม ถือพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะขอให้สังเกตข้อความต่อไปนี้ “เราได้ค้นคว้าหาข่าวของพระพุทธศาสนา ซึ่งมาสถิตอยู่ในประเทศของเรา ในพุทธศตวรรษ ที่ 3 ( คือสมัยพรเจ้าอโศก) แต่จากศิลาจารึกโวกาญ ทำให้เรารู้ว่าพระพุทธศาสนาในประเทศเราได้เจริญมาในพุทธศตวรรษที่ 2 แล้ว แค่เราไม่ทราบเลยว่า พระพุทธศาสนานั้นเข้ามาอย่างไร”

จนถึงจุดนี้เรายังไม่ระบุเลยว่า รอยพระบาทที่ไหนเป็นองค์จริง ในบทความมงคลเมือง 3 จะได้กล่าวถึงหลักฐานของประเทศลาว ที่ระบุอย่างเดียวกับการระบุของนักประวัติศาสตร์กัมพูชาว่า พระพุทธศาสนาในลาว เจริญมาก่อนสมัยพระเจ้าอโศก แต่เราไม่รู้เลยว่า พระพุทธศาสนานั้นเข้ามาในลาวอย่างไร ขอให้ตามอ่าน ในมงคลเมือง 3 ต่อไป

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image