ภาพเก่าเล่าตำนาน : สงครามฝิ่น…ทำร้ายจีนแสนสาหัส : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ชนชาติจีนที่เปรียบกันว่าเป็นชนชาติพญามังกร เป็นชนชาติมีความเป็นอารยะที่ยิ่งใหญ่มานานกว่า 5 พันปี มีศิลปะวิทยาการที่คิดค้นด้วยตัวเอง มีอาณาเขตทางบกทางทะเลสุดหล้าฟ้าเขียว ชาวจีนกระจัดกระจายอยู่กันเป็นก๊ก มีชนเผ่าหลากหลาย แม้กระทั่งบนยอดเขาสูงเสียดเมฆ ประชากรมหาศาลเป็นไปตามความยิ่งใหญ่ไพศาลของแผ่นดิน ทุกชนเผ่ามีผู้ปกครอง มีอาณาเขต มีกองกำลัง มีขนบประเพณี มีภาษาเป็นของตนเอง

บางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์แผ่นดินพญามังกร ชนเผ่าทั้งปวงรวมตัวกันเป็นหนึ่ง เข้มแข็งเกรียงไกรหาใครเทียบไม่ได้ บางช่วงบางเวลา ผู้ปกครอง เสนา ขุนศึก มักใหญ่ใฝ่สูง คิดคดทรยศหักหลังกันเอง รังแกขูดรีดประชาชน ที่เลวร้ายที่สุดในอดีต คือ ยามสงบก็รบกันเอง ก่อเกิดสงครามฆ่ากัน เลือดนองแผ่นดิน สงครามอันกำเนิดจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ทำความพินาศบรรลัยแก่ประชาชนจนต้องหนีออกจากแผ่นดิน ร่อนเร่ พเนจรไปทั่วโลก

แต่สายโลหิตที่เข้มข้น ฝังตัวไหลเวียนในร่างกายชาวจีนตั้งแต่เกิด หล่อหลอมให้ชาวจีนมี “พลังงานในตัวเอง” ไม่เคยงอมืองอเท้าที่จะทำมาหากิน เชี่ยวชาญชำนาญที่สุดในการค้าขาย หลับ ตื่น เช้า สาย บ่าย ดึก ก็คิดทำมาค้าขาย มีชุมชนชาวจีนอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนที่เรียกกันว่า China Town ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือไปถึงขั้วโลกใต้

ถ้าท่านได้อ่านบทความนี้ จะเข้าใจประวัติศาสตร์ของแผ่นดินจีนที่ประสบชะตากรรม ทุกข์โศกซ้ำซาก จากการถูกรุมกินโต๊ะ ถูกรังแก ฉีกดินแดนออกเป็นชิ้นๆ จากชาติตะวันตก จนเกือบถูกลบหายไปจากแผนที่โลก และทำไมจีนจึงผงาดก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อีกครั้งหลังจากโดนเชือดเฉือน รังแก โขกสับ จากมหาอำนาจตะวันตก

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอชวนท่านผู้อ่านรำลึกถึงสงครามในรูปแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เกิดขึ้นกับจีนที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้ สงครามที่สร้างความขมขื่นให้กับพญามังกรแทบโงหัวไม่ขึ้น…

สงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ระหว่างอาณาจักรในโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ คือ “สงครามฝิ่น” ระหว่างจีนกับอังกฤษ

Advertisement

สงครามฝิ่น (Opium War) เกิดขึ้น 2 ครั้งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวละครในสงคราม คือ มหาอำนาจอังกฤษที่ทำสงครามกับจีน มูลเหตุมาจากการค้าขายที่ได้ดุล-เสียดุล บวกกับลัทธิล่าอาณานิคมจากมหาอำนาจตะวันตกที่ใช้ “เรือปืน” เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองเสมอมา

ในยุคสมัยต้นๆ อาณาจักรจีนถือได้ว่ามีความรุ่งโรจน์ เรืองรองในเรื่องของการค้าขายเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการการต่อเรือสำเภาและตัวของสินค้าของจีนเอง

ใบชา ผ้าไหม เครื่องลายคราม เป็นสินค้าตัวท็อปที่ชนชาติจีนนำไปขายให้กับอาณาจักรทั่วโลก พ่อค้าที่แล่นเรือมาจากยุโรปต่างก็แก่งแย่งแข็งขันกันที่จะ “เข้าถึง” จีนด้วยสิทธิพิเศษ เพื่อขอผูกขาดตัดตอนให้ได้สินค้าตามจำนวนและคุณภาพที่ตนต้องการ

ขอเน้นประวัติศาสตร์ไปที่ “ใบชา” ครับ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชนวนความขัดแย้ง

ก่อนที่อังกฤษจะเริ่มปลูกชาที่รัฐอัสสัมและเมืองดาร์จีลิ่งในประเทศอินเดียที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ อาณาจักรจีนเป็นแหล่งซื้อขายใบชาเพียงแห่งเดียวของโลก

ในประเทศอังกฤษ เดิมมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่ชื่นชอบการดื่มชา เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมการดื่ม การจิบชา ก็ได้แพร่หลายไปยังชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง คนอังกฤษต้องดื่มชา จนทำให้อังกฤษมีความต้องการชาเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีน จึงส่งผลให้เงินตราจากอังกฤษไหลไปสู่ประเทศจีนเป็นจำนวนมหาศาล

ความโดดเด่นของสินค้า โดยเฉพาะชา บวกกับความมั่งคั่งของจีน เป็นเหตุให้จีนถูกจับตามองและเป็นที่หมายปองของพ่อค้าชาวตะวันตก พูดง่ายๆ คือ การใกล้ชิดสนิทสนมกับชาติใด ย่อมเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านโยบายการค้าของจีนในขณะนั้น ก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนของชาติตะวันตก เกิด “ระบบการค้าแบบผูกขาด” หรือที่ภาษาจีนแมนดารินเรียกว่า “ก้งหอง”

ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2377 มหาอำนาจเรือปืนชนชาติ “อังกฤษ” ติดต่อค้าขายกับจีน อังกฤษเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนมาต่อเนื่องยาวนาน พ่อค้าอังกฤษพยายามทุกทางที่จะต่อรองเจรจากับจีน ขอเจรจา ข้อตกลงเพื่อลดการเสียดุลการค้า แต่จีนบ่ายเบี่ยงที่จะตอบสนองที่จะ “ทำการค้าเสรี” กับอังกฤษ

แผ่นดินจีนกว้างใหญ่ จีนมีเมืองท่าติดทะเลที่ค้าขายได้หลายพื้นที่ การควบคุม จัดระเบียบของจีน คือ การจำกัดเขตพื้นที่ทางการค้าให้กับพ่อค้าชาวอังกฤษ ให้ติดต่อค้าขายเฉพาะแค่ในตัวเมืองกว่างโจวเท่านั้น เพราะเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง

เหตุปัจจัยอันยืดเยื้อเรื้อรัง แหนงหน่าย นำไปสู่การแตกหัก คือการที่จีนไม่ยอมซื้อสินค้าจากอังกฤษเพิ่ม ในขณะที่อังกฤษซื้อสินค้าจากจีนไปมหาศาลต่อเนื่องยาวนานโดยเฉพาะใบชา

“ไม้ตาย-หมัดน็อก” ของอังกฤษที่นำมาแก้เผ็ดเอาคืนจากจีน คือ พ่อค้าเรือสำเภาของอังกฤษเริ่มลักลอบนำ “ฝิ่น” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่ง ที่มีราคาถูกและขายได้ราคาแพงมาขายให้กับชาวจีนเพื่อปลูกบนแผ่นดินจีนและใช้เสพ

ในเวลาไม่นาน…ชาวจีนเกือบครึ่งค่อนประเทศติดฝิ่นกันงอมแงม งานการไม่ทำ สูบฝิ่นแล้วนอน ขี้เกียจตัวเป็นขน ประชากรที่ติดฝิ่นสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก

จีนประกาศห้ามการนำเข้าฝิ่นในอาณาจักร เจ้าหน้าที่จีนเข้ายึดและทำลายฝิ่นที่หลงเหลืออยู่ รวมทั้งออกบทลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ขายและผู้เสพ

บรรยากาศ “ผลประโยชน์ขัดกัน” เริ่มก่อหวอดสร้างความบาดหมางระหว่างจีนกับอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย
ขอแถมประวัติศาสตร์ของสยามในห้วงเวลานั้นต่อท่านผู้อ่านนะครับ…ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงปลายสมัยในหลวง ร.3 สยามกำลังดูแลปกป้องราชอาณาจักรทางด้านตะวันออก สยามกำลังส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่นำทหารไปรบกับญวนในดินแดนเขมร ในเวลานั้นอังกฤษใช้นโยบายเรือปืน ตระเวนไปขอทำสัญญาทางการค้ากับหลายประเทศ รวมทั้งสยามประเทศ

กลับไปคุยกันต่อที่เมืองจีนครับ

“หมัดน็อก” ของพ่อค้าอังกฤษได้ผล สถานการณ์พลิกกลับ ฝิ่นทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับพ่อค้าอังกฤษ รัฐบาลราชวงศ์ชิงของจีนต้องเป็นผู้แก้ปัญหา พิษภัยของการติดฝิ่นของคนจีนในทุกชนชั้นขยายเป็นวงกว้าง และสร้างปัญหาสังคมให้กับจีนอย่างมาก

สังคมจีนกลายเป็น “สังคมไอ้ขี้ยา” สังคมจีนกำลังพินาศจากประชากรที่ติดฝิ่น

พ.ศ.2381 รัฐบาลจีนมองเห็นหายนะของอาณาจักร รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงประกาศห้ามนำเข้าฝิ่น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิตทั้งผู้ค้าและผู้เสพ

ชาติตะวันตกจากยุโรปที่ค้าขายกับจีน ทราบข่าวว่าฝิ่นกลายเป็นสินค้ายอดนิยม ทำรายได้มหาศาล พ่อค้าทุกชาติไม่ปล่อยให้นาทีทองผ่านไป ขอเอาอังกฤษเป็นต้นแบบ

ชาติตะวันตก แข่งกันนำฝิ่นใส่เรือสำเภาไปขายให้ชาวจีนอย่างคึกคัก เงินทองไหลมาเทมาแบบไม่เคยเป็นมาก่อน พ่อค้าอังกฤษ เจ้าสำนักความคิดเรื่องการค้าฝิ่น ยังถือครองสัดส่วนมากที่สุด เป็นผู้ค้าฝิ่นรายใหญ่กับจีน

สถานการณ์ที่ชาวประชาติดฝิ่น เลวร้ายลงไปอีก เมื่อมีนาคม พ.ศ.2382 รัฐบาลราชวงศ์ชิงของจีนสุดจะทน จึงตัดสินใจสั่งการให้ยึดฝิ่นของพ่อค้าอังกฤษจากท่าเรือในกว่างโจว จำนวน 20,000 ลัง

อังกฤษยื่นคำขาดขอฝิ่นคืน แต่จีนปฏิเสธ จีนตั้งใจใช้มาตรการแข็งกร้าวที่จะจัดการเรื่องฝิ่นให้สิ้นซากจากแผ่นดินจีน ทางการจีนบังคับให้พ่อค้าอังกฤษลงนามในข้อตกลงไม่ค้าขายฝิ่น พ่อค้าอังกฤษปฏิเสธการลงนาม

รัฐบาลราชวงศ์ชิงของจีน ทำหนังสือด่วนถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สอบถามว่ารัฐบาลอังกฤษห้ามค้าฝิ่นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์อย่างเด็ดขาด โดยระบุว่าเป็นการค้าฝิ่น ผิดศีลธรรม แต่กลับส่งฝิ่นมาขายในตะวันออกไกล และทำกำไรมหาศาล แต่การปฏิบัติของอังกฤษต่อจีนกลับตรงกันข้าม !

อังกฤษตอบกลับมาเป็นเอกสารว่า การที่จีนยึดทรัพย์สินของชาวอังกฤษเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม และขอสินค้าคืน

รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยการทำลายฝิ่นของกลางที่ยึดได้แล้วนำไปทิ้งลงทะเล อังกฤษจึงถือเป็นข้ออ้างทำสงครามทันที

เรือปืนอังกฤษแผ่แสนยานุภาพ นำกำลังไปปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงฮ่องกง

สงครามทางเรือระหว่างอังกฤษกับจีนรบกันนานราว 4 ปีทั้งบนบกและในทะเล อังกฤษมีแสนยานุภาพเหนือกว่าจีนหลายขุม

จีนพ่ายแพ้ราบคาบแบบไม่ต้องสงสัย อังกฤษบังคับให้จีนผู้แพ้สงครามต้องลงนามในสนธิสัญญานานกิงเมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ.2385 รัฐบาลจีนต้องชดใช้ค่าฝิ่นที่ถูกทำลาย

รัฐบาลจีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่อังกฤษ และจีนต้องเปิดเมืองท่าชายทะเล 5 แห่ง ได้แก่ กว่างโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงยกเกาะฮ่องกงและเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่โดยรอบเป็นเขตเช่าของอังกฤษ 99 ปี

สนธิสัญญานี้ชาวจีนเรียกว่า ความอัปยศแห่งชาติ และเป็นเหตุนำสู่การสงครามต่อเนื่องยาวนาน

ผู้แพ้สงคราม คือ ผู้แพ้วันยังค่ำ ในสัญญาดังกล่าวยังกำหนดให้ชาวอังกฤษและคนที่อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ สามารถอาศัยอยู่ในดินแดนจีนโดยได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

เมืองท่า และท่าเรือทางฝั่งภาคตะวันออก 5 แห่ง พร้อมด้วยท่าเรือตกอยู่ในสถานะเป็นท่าเรือตามสนธิสัญญา ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเป็นผู้ประกอบการบรรทุกขนถ่ายสินค้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าดำเนินการท่าเรือให้แก่รัฐบาลจีน อังกฤษกำหนดอัตราภาษีนำเข้าอยู่ในอัตราคงที่และต่ำมาก

จีนที่รุ่งโรจน์เจิดจรัส โดน “ผู้ชนะสงคราม” กดขี่แทบกลายเป็นอาณาจักรที่ล้มละลาย จีนแทบไม่มีรายได้จากการค้ากับชาติตะวันตก ที่สำคัญ การนำเข้าสินค้าได้อย่างเสรีมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพื้นบ้านของจีนอย่างรุนแรง

นี่คือ ผลลัพธ์ของ “การเป็นผู้แพ้” ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1

ต่อมาในปี พ.ศ.2387 ฝรั่งเศสและอเมริกา ที่เห็นจีนกำลังย่ำแย่ ไร้อำนาจการต่อรอง จึงชวนกันมาแห่รุมกินโต๊ะบีบบังคับให้จีนให้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอังกฤษ

หายนะจากฝิ่นแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย รวมทั้งสยามประเทศที่ชาวจีนเข้ามาติดต่อ อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ชาวสยามติดฝิ่นกันงอมแงมทั่วสารทิศ สังคมตกต่ำเกือบถึงขั้นหายนะ

สยามประเทศในขณะนั้น เมื่อฝิ่นแพร่กระจายไปทุกทิศทาง ทำให้พลเมืองกลายเป็นขยะมีชีวิต บ้านเมืองเต็มไปด้วยคนติดฝิ่น เกิดคดีความ มีฆาตกรรม มีอาชญากร ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ในบ้านเมือง

ต้องขอชื่นชมสยามประเทศที่มีวิสัยทัศน์ ทันเหตุการณ์ เฉียบขาด ฉับไว โดยเมื่อ 27 เมษายน พ.ศ.2382 ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระบรมราชโองการ ประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น

เขียนและแปลบทความตอนนี้ ทำให้เข้าใจจีนมากขึ้นนะครับ

ผลกระทบของสนธิสัญญานานกิง ที่จีนจำต้องลงนามเมื่อแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรก (พ.ศ.2377-2385) ในด้านสังคมที่ร้ายแรงที่สุด คือ อังกฤษบังคับให้จีนยอมรับว่าการค้าฝิ่นเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยถือว่าเป็นยารักษาโรคและสามารถค้าได้โดยเสรี

สังคมจีนที่เคยเข้มแข็ง ขยันทำมาหากินกลับตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ พิการ เพราะชาวจีนจำนวนมากติดยาเสพติด ประเทศในยุโรปเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม นำเครื่องจักร เครืองยนต์มาใช้ในกิจการอุตสาหกรรม สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาต้นทุนต่ำ เท่ากับซ้ำเติมจีนให้ทรุดหนักลงไปอีก

สินค้าราคาถูกที่ผลิตจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมจากยุโรปทะลักไหลเข้าสู่จีน เครื่องจักรที่ทำงานแทนคน ส่งแรงกระแทกต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในจีน เกิดปัญหาคนจีนว่างงานจำนวนมหาศาล

ชาวจีนนับล้าน ต้องก้มหน้ารับความเจ็บปวดแบบไม่มีทางสู้ ชาวจีนนับล้านลงเรือหนีออกนอกประเทศจีน ขอไปตายเอาดาบหน้า เรือสำเภาของจีนขนชาวจีนนับล้านลงมาใต้ ไปขึ้นฝั่งที่เขมร สยาม มาเลเซีย เลยไปถึงอินโดนีเซีย

บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มาเติบโต สร้างชีวิตจนร่ำรวยในประเทศไทยส่วนใหญ่หนีสภาวะยากเข็ญมาทั้งนั้น

ความลำบากยากแค้น ยังไม่จบสิ้น…เพราะชาติตะวันตกยังไม่สมประสงค์ดังใจหวัง ในช่วงเวลาต่อมาอังกฤษต้องการแก้ไขสัญญานานกิง ที่บังคับใช้อยู่ เพื่อเพิ่มประโยชน์จากการค้าขายให้หนำใจ

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 จึงอุบัติขึ้นในปี พ.ศ.2399 ที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันว่า สงครามแอร์โรว์ (Arrow War) เป็นผลมาจากอังกฤษต้องการเจรจาแก้สนธิสัญญานานกิง เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์จากการค้ามากขึ้น ซึ่งจีนไม่ยอม

การกระทบกระทั่งจนลุกลามกลายเป็นสงคราม มาจากเจ้าหน้าที่จีนเข้ายึดเรือชื่อ แอร์โรว์ ซึ่งเป็นเรือของชาวจีนแต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษ และจับกุมลูกเรือซึ่งเป็นคนจีนทั้งหมด 12 คน ด้วยข้อกล่าวหากระทำการเป็นโจรสลัดและลักลอบขนสินค้าเข้าเมือง

อังกฤษเรียกร้องให้จีนคืนเรือและปล่อยตัวลูกเรือทั้งหมด อ้างว่าเรือดังกล่าวชักธงอังกฤษ จึงควรได้รับการปกป้องตามสนธิสัญญานานกิง

ผีซ้ำด้ำพลอย… เกิดเหตุการณ์บาทหลวงฝรั่งเศสดันถูกฆ่าตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ อังกฤษและฝรั่งเศสที่กึ่งปกครองแผ่นดินจีน จึงรีบใช้นาทีทอง ยกกองเรือมาปิดล้อมเมืองกว่างโจว โดยมีรัสเซียและสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตร

ความสามัคคีของชาติตะวันตกที่จ้องขย้ำจีน จ้องจะฉีกดินแดนจีนออกเป็นชิ้นๆ เกิดขึ้นโดยฉับพลันโดยมิได้นัดหมาย ทุกชาติมารุมกินโต๊ะจีนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และของแถมที่คาดหวังว่าต้องได้ติดไม้ติดมือ คือ ต้องได้ดินแดนของจีนเป็นอาณานิคม

การสู้รบกับมหาอำนาจแบบ “รุมยำ” ทำให้จีนก็ต้องปราชัยอีกครั้งและต้องลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก ณ เมืองเทียนจิน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2401 ตรงกับช่วงต้นของรัชสมัยในหลวง ร.4

สงครามย่อยๆ บนบกที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ชาวจีนแบบไม่มีวันลืม คือในปี พ.ศ.2402 สาเหตุคือ จีนปฏิเสธที่จะให้อังกฤษตั้งสถานทูตในนครหลวงปักกิ่ง การสู้รบเกิดขึ้นทั้งในปักกิ่งและฮ่องกงชาวจีนลุกขึ้นจับอาวุธเท่าที่มีสู้ยิบตา เสียชีวิตมหาศาล

ระหว่างการสู้รบ ชาติตะวันตกนำกำลังทหารเข้าปล้นโบราณวัตถุและของมีค่าแล้วเผาพระราชวังฤดูร้อน 2 หลัง คือ ชิงอีและหยวนหมิงหยวน แผ่นดินจีนแหลกเหลวทั้งกายใจ

สงครามไปชี้ขาดตัดเชือกกันที่ “พระราชวังต้องห้าม” มรดกอันมีคุณค่าของแผ่นดินจีน

18-19 ตุลาคม พ.ศ.2403 รัฐบาลจีนตัดสินใจยอมแพ้สงครามด้วยน้ำตาทั้งแผ่นดิน ด้วยต้องการรักษาพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง โดยจีนยอมลงนามยุติการสู้รบกับอังกฤษเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2403

สงครามฝิ่น 2 ครั้ง เว้นระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 13 ปี สร้างความเสียหาย ผู้คนล้มตายมหาศาล ทรัพย์สินมลายหายสิ้น

ตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ในระดับมัธยมหนังสือที่กล่าวถึงสงครามฝิ่น ก็ท่องจำได้หมด เลข พ.ศ. ชื่อคน ชื่อสัญญา เพื่อเข้าสอบอย่างสง่างาม แต่ไม่เคยรับรู้ ไม่เคยสำนึกถึงการกดขี่ ความพยายามที่จะเอาเปรียบ ที่เสมือนการปล้นกันของมนุษย์ที่มีมานานจนถึงปัจจุบัน

อังกฤษบังคับจีนขอเช่าเกาะฮ่องกงเป็นของอังกฤษเพื่อเป็นสถานีการค้า เป็นดินแดนของอังกฤษนาน 99 ปี สิ้นสุดลงใน 30 มิถุนายน 2540 และ 1 กรกฎาคม 2540 อังกฤษทำพิธีคืนอธิปไตยของเกาะฮ่องกงให้จีน…

ประวัติศาสตร์อันขื่นขมระทมใจของชาวจีนคงจางหายไปกับกาลเวลา มาบัดนี้พญามังกรคงไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมากดขี่ มารังแกอีกต่อไป และจีนกำลังก้าวขึ้นเป็น ผู้นำของโลก ที่ไม่มีใครหยุดจีนได้

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image