สกู๊ปหน้า 1 : กทม.ขันอาสา-ดูแล อนุสาวรีย์ชัยไร้เจ้าภาพ

ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่า “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เป็นของใครที่ต้องรับผิดชอบดูแล เนื่องจากสมัยก่อนการจะก่อสร้างอนุสาวรีย์นั้น เป็นเรื่องระดับชาติ เมื่อเห็นชอบว่าจะก่อสร้างแล้วจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบงบประมาณก่อสร้าง งานก่อสร้าง

แต่หลังจากเสร็จแล้วก็ไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเป็นพิเศษอย่างเป็นทางการ

การสืบหาเจ้าของหรือหน่วยงานดูแลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจึงเริ่มต้นขึ้น ภายหลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดจะปรับปรุงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาร่วมงานวันทหารผ่านศึกที่จัดขึ้นทุกปี ณ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตามที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ประสานมายัง กทม.

แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี ซึ่งมี สมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม.เป็นประธาน ได้สืบค้นข้อมูล กลับไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณปรับปรุง จึงจำเป็นต้องสืบหาเจ้าภาพหลัก ต่อมา กทม.โดยสำนักผังเมือง จึงประสานไปยังกรมธนารักษ์และกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อติดตามและสืบหาหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพตัวจริง

Advertisement

ล่าสุด ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. เผยว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน ปรากฏอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่มีโฉนดที่ดินŽ แต่พื้นที่รายล้อมรอบตัวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ระบุชัดเป็นของกรมธนารักษ์ ฉะนั้น เนื่องจากอนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นถนน ตามกฎหมายที่ดิน ถนนซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะนั้นจะอยู่ในความดูแลของ กทม. หมายความว่า กทม.ได้รับสิทธิดังกล่าว จากนี้จะนำประเด็นรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ก่อนหารือถึงขั้นตอนการปรับปรุงต่อไป

สมพงษ์บอกว่า กทม.มีแนวคิดปรับปรุงภูมิทัศน์อนุสาวรีย์ชัยฯ ให้สวยงาม โดย อผศ.มีแนวคิดทำอุโมงค์ทางลอดถนนทุกสายที่เชื่อมต่อกับอนุสาวรีย์ชัยฯ ประกอบด้วย ถนนพญาไท ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธินและถนนอโศก-ดินแดง คล้ายกับแนวคิดปรับปรุงใหญ่ของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ย่านวงเวียนใหญ่

ทั้งนี้ กทม.จำเป็นต้องหารือถึงแนวทางการปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะกรมศิลปากร เพราะเป็นโบราณสถาน นอกจากอนุสาวรีย์ชัยฯ แล้วยังมีอนุสาวรีย์แห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกหลายแห่ง รวมถึงโบราณสถานที่ยังไม่มีหน่วยงานดูแล ส่วนนี้จะให้สำนักผังเมืองสืบหาเจ้าของต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ กทม.โดยสำนักการโยธา ได้จัดทำหนังสือ จดหมายเหตุอนุสาวรีย์เมืองบางกอกŽ ซึ่งตีพิมพ์จำนวน 20,000 เล่ม เมื่อปี 2559 เพื่อสืบค้นรวบรวมประวัติเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ รวมถึงป้อมปราการ กำแพงและประตูเมืองที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากไล่เรียงตามปีที่จัดสร้างขึ้น ปรากฏมีอนุสาวรีย์รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง ประกอบด้วย

1.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบรมรูปทรงม้า) สร้างเสร็จปี 2451 2.อุทกทานสหชาติ (อนุสาวรีย์หมู) ปี 2456 3.อุทกทานแม่พระธรณีบีบมวยผม ปี 2460 4.วงเวียน 22 กรกฎาคม ปี 2460 5.อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 (อนุสาวรีย์ทหารอาสา) ปี 2562 6.ปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง 2 ส่วน คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปี 2475

7.อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์หลักสี่) ปี 2479 8.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปี 2483 9.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2485 10.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ขณะนี้กำลังเป็นประเด็น สร้างเสร็จปี 2485 11.พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปี 2497 12.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2523

13.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2533 14.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปี 2539 15.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ปี 2555 และ 16.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2557 โดยกรมศิลปากรส่งมอบ อนุสาวรีย์หมูและปฐมราชานุสรณ์Ž ให้ กทม.มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบูรณะอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ส่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิโลเมตรที่ 0 ของถนนพลโยธิน ก่อสร้างเสร็จปี 2585 เพื่อเป็นอนุสรณ์เชิดชูเกียรติคุณความดีของผู้กล้าหาญ ซึ่งสละชีพเพื่อชาติ จำนวน 59 นายจากการต่อสู้ในเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส ช่วงเดือนมกราคม 2484 ประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและพลเรือน ขณะนั้นใช้เงินก่อสร้าง 550,000 บาท ข้อมูลปรากฏอนุสาวรีย์ชัยฯ เคยได้รับการบูรณะ ปรับปรุงบริเวณอนุสาวรีย์ เพิ่มเสาไฟส่องสว่างในปี 2490

ต่อมาถูกบูรณะตัวอักษรแผ่นจารึกชื่อ ประกอบพิธีบรรจุอัฐิผู้กล้าหาญ 656 นายที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2491 และปี 2495 จัดตั้งตู้ยามและบูรณะซ่อมแซมอนุสาวรีย์ พร้อมเพิ่มชื่อวีรชนจากสงครามเกาหลี

จากนั้น สมัย เรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้จัดตั้ง อผศ. พร้อมกำหนดให้ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมาเป็นวันทหารผ่านศึกและจัดพิธีวางพวงมาลา เพื่อแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้าเป็นประจำทุกปี กระทั่งปี 2551 พบรอยร้อยและการทรุดตัวของแท่นฐาน ทำให้สำนักการโยธากับคณะของนายกรัฐมนตรี บูรณะซ่อมแซมตัวอนุสาวรีย์และปรับพื้นผิวโดยรอบ และไม่เคยได้รับบูรณะอีก

คำถามว่าที่ผ่านมาการดูแลอนุสาวรีย์แห่งชาติได้รับการดูแลอย่างไรนั้นจึงเกิดขึ้น ซึ่ง กทม.แจ้งว่าทำได้เพียงมอบหมายให้สำนักเขตที่อนุสาวรีย์ตั้งอยู่ ทำหน้าที่ทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิโดยรอบให้สวยงามเท่านั้น เพราะ กทม.ไม่ใช่เจ้าของ แต่ส่วนที่ กทม.ได้รับมอบหมายแล้วจะสามารถจัดสรรงบประมาณ กทม.บูรณะได้ แต่วิธีการ รวมถึงแนวทางบูรณะนั้นจะต้องได้รับอนุญาตและเห็นชอบจากกรมศิลปากรก่อน

ปัจจุบันโบราณสถานในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างพวกสิ่งปลูกสร้าง บ้าน สะพาน วัด คู คลอง ฯลฯ นั้น สำนักผังเมือง กทม. เผยว่ามีประมาณ 500 กว่าแห่ง ซึ่งกรมศิลปากรมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของ กทม. มีจำนวน 39 แห่งเท่านั้น (รวมอนุสาวรีย์หมูและปฐมราชานุสรณ์) ได้แก่

1.สะพานเจริญรัช 31 เขตพระนคร 2.สะพานศรีเจริญ 34 เขตพระนคร 3.สะพานช้างโรงสี เขตพระนคร 4.สะพานปีกุน เขตพระนคร 5.สะพานผ่านพิภพลีลา เขตพระนคร 6.สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร 7.สะพานภานุพันธ์ เขตพระนคร 8.สะพานมัฆวานรังสรรค์ เขตดุสิต 9.สะพานสมมตอมรมารค เขตพระนคร 10.สะพานอุบลรัตน์ เขตพระนคร

11.สะพานดำรงสถิต เขตพระนคร 12.สะพานหก เขตบางซื่อ 13.สะพานชมัยมรุเชฐ เขตดุสิต 14.สะพานงา เขตดุสิต 15.สะพานถ้วย เขตดุสิต 16.สะพานพระรูป เขตดุสิต 17.สะพานเจริญราษฎร์ 32 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 18.สะพานมหาดไทยอุทิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 19.สะพานทิพยเสถียร เขตสัมพันธวงศ์ 20.สะพานเฉลิมหล้า 56 เขตปทุมวัน 21.สะพานเฉลิมพันธ์ 53 เขตบางรัก 22.สะพานมอญ เขตพระนคร

23.สะพานวรเสรษฐ เขตดุสิต 24.สะพานเสาวนี เขตดุสิต 25.กำแพงพระราชวังบวรสถาน เขตพระนคร 26.กำแพงหน้าโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร 27.ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร 28.ป้อมพระสุเมรุ เขตพระนคร 29.ป้อมวิไชยสิทธิ์ เขตบางกอกใหญ่ 30.ป้อมป้องปัจจามิตร เขตคลองสาน 31.ซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์ เขตพระนคร

32.ซุ้มประตูวัง ถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร 33.คลองหลอดวัดราชบพิตรฯ เขตพระนคร 34.คลองหลอดวัดราชนัดดาฯ เขตพระนคร 35.คลองผดุงกรุงเกษม เขตพระนคร 36.คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร 37.สนามหลวง เขตพระนคร 38. อุทกทานสหชาติ (อนุสาวรีย์หมู) เขตพระนคร และ 39.ปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพุทธ) เขตธนบุรี

อนุสาวรีย์ หรือ โบราณสถาน ที่จัดสร้างในสถานที่ต่างๆ นั้น มีความหมายสำคัญเพื่อตอกย้ำความหมายและส่งต่อความทรงจำให้แก่คนรุ่นหลัง ปัจจุบันสถานที่เหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนมีชื่อปรากฏในแผนที่ท่องเที่ยว กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาเยี่ยมชม ในฐานะประเทศท่องเที่ยวระดับต้นๆ ของโลกจะใช้ประโยชน์กับสิ่งที่มีอยู่อย่างไร

การดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม เพื่อตอกย้ำความหมาย เจตนารมณ์ การสร้างก็มีความสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image