จากอาหารข้างทาง สู่ศูนย์อาหารข้างทาง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องหาบเร่แผงลอยนั้นกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ จากประเด็นสำคัญสองประเด็น

หนึ่งคือ นโยบายของ กทม.ในยุคนี้ รวมทั้งภาพรวมของการ “จัดระเบียบ” สังคมของรัฐบาลชาติ เน้นไปที่เรื่องของการคืนพื้นที่ทางเท้า ยกเลิกจุดผ่อนผัน รวมทั้งยกเลิกตลาดนัดกลางคืน อาทิ ตลาดคลองถม
สองคือ มีนโยบายอีกชุดหนึ่งที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว คือเรื่องของการส่งเสริมอาหารข้างทาง (street food) หรือถ้าบ้านเราจริงๆ น่าจะแปลว่า อาหารบนทางเท้าเสียมากกว่า

ทีนี้เรื่องราวที่นำไปสู่การปะทุก็เกิดที่ถนนข้าวสาร ที่เกิดความไม่ลงตัวของการคงไว้ซึ่งหาบเร่แผงลอย และการส่งเสริมการท่องเที่ยว กล่าวคือ ถ้าไม่มีเลยก็ไม่มีอะไรดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่อีกด้านหนึ่งก็คือการที่จะจัดระเบียบไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป

ในอีกด้านหนึ่งก็คือ เกิดกระแสสนใจว่า สิงคโปร์ว่าจะส่งเสริมและยื่นเอาเรื่องของอาหารข้างทางให้เป็นมรดกโลก

Advertisement

ขณะที่คนไทยยังตกลงกันไม่จบว่าจะเอาอย่างไรกันดี ระหว่างให้ขายอาหารริมถนน และส่งเสริมการท่องเที่ยว

ปัญหาความไม่ลงตัวและอิหลักอิเหลื่อของเรื่องหาบเร่แผงลอยนั้น ทำให้ผมอยากเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ที่ต้องเล่าเป็นนิทานก็เพราะผมไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางเรื่องอาจจะจินตนาการบ้าง บางเรื่องก็เคยเห็นกับตามาแล้ว
นิทานที่จะเล่าให้ฟังคือ พัฒนาการของหาบเร่แผงลอยในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในส่วนของอาหารข้างทางที่ปรับระดับมาจากหาบเร่แผงลอยมาสู่ศูนย์อาหารข้างทาง (hawker centre) ที่กำลังเข้าชิงตำแหน่งมรดกโลก และประเด็นที่คนเขาอภิปรายถกเถียงกันในสิงคโปร์

ความสนุกของนิทานเรื่องนี้ก็คือ พัฒนาการของอาหารข้างทางที่มาจากหาบเร่แผงลอยนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ที่เรื่องของสีสัน ความหลากหลาย และรสชาติอาหารที่เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชม และเยี่ยมชิม

Advertisement

ร้านในศูนย์อาหารข้างทางนั้น บางร้านก็งั้นๆ แต่ส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทุกร้าน) มีลักษณะที่เจ้าของขายเอง ไม่ใช่สาขา และใช้ลูกจ้างเป็นคนทำ และหลายร้านนั้นขึ้นชื่อถึงขั้นมีคนเข้าแถวกันยาวเป็นที่อิจฉาของร้านอื่นๆ และบางร้านก็ได้รางวัลมิชลินสตาร์ อาทิเช่น ข้าวมันไก่เจ้าอร่อย (อร่อยจริงครับ รับรองได้)

แต่อีกด้านหนึ่ง อาหารข้างทางของสิงคโปร์ต้องย้ำว่า อาหารข้างทางนั้นไม่ได้ขายบนถนนหรือบนทางเท้า แต่ขายในศูนย์อาหารข้างทาง และการเดินทางจากหาบเร่แผงลอยที่ขายอาหารข้างทางมาสู่อาหารในศูนย์อาหารข้างทางนั้นใช้เวลายาวนาน นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคปัจจุบัน

รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ เมื่อปกครองสิงคโปร์นั้น เผชิญปัญหาในการพยายามจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยมาอย่างยาวนาน เพราะสิงคโปร์นั้นเป็นสังคมเมืองและมีคนใต้อาณานิคมที่หลากหลาย ทัั้งคนจีน มาเลย์ และอินเดีย ที่อพยพเข้ามา

ทางออกของอังกฤษในสมัยนั้น คือการสำรวจ และลงทะเบียนหาบเร่แผงลอย รวมทั้งออกใบอนุญาตให้มีการค้าขาย โดยเฉพาะขายอาหาร ภายใต้กรอบของความหวาดกลัวว่าถ้าอาหารไม่สะอาดก็จะเกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนในเมือง และไม่ต้องการให้หาบเร่แผงลอยเกะกะขวางทางการจราจร

รัฐบาลจึงเข้าตรวจสอบในอนุญาต และบางส่วนก็เริ่มที่จะย้ายเอาหาบเร่แผงลอยที่ขายอาหารข้างทางเข้ามาอยู่ในศูนย์อาหารข้างทาง

มาถึงตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเราพูดถึงศูนย์อาหาร เรากำลังแบ่งศูนย์อาหารเป็นสองแบบ
หนึ่งคือ ศูนย์อาหาร (food centre) ที่เราเข้าใจทั่วไป ได้แก่ ศูนย์อาหารที่ขายอาหารทั่วๆ ไป ถ้าแพงอีกนิดก็จะติดแอร์ ใครๆ ก็มีสิทธิที่จะเข้ามาเช่าที่ในการขาย อย่างในสิงคโปร์ก็จะเห็นอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือตามหัวถนน หรือตามถนนหนทาง

สองคือ ศูนย์อาหารข้างทาง (hawker centre) คนที่จะเข้ามาขายต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขาย/ร้านอาหารข้างทาง ขายอยู่ในศูนย์อาหารข้างทางที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ มีพื้นที่เล็กๆ และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในเรื่องความสะอาด แต่ราคาค่าเช่าไม่แพง และมีการควบคุมไม่ขึ้นค่าเช่าอย่างบ้าเลือด

ศูนย์อาหารข้างทางเริ่มเฟื่องฟูในสิงคโปร์ อาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเพราะชาวสิงคโปร์และรัฐบาลสิงคโปร์เมื่อเริ่มมีอิสระจากอาณานิคม และท้ายที่สุดได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้น มองว่าอาหารข้างทางมีส่วนสร้างชาติ เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านชาวเมืองอาศัยยังชีพ แต่กระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็ยังสืบทอดรากเหง้าของการมองและจัดการปัญหาส่วนหนึ่งในแบบอาณานิคม นั่นก็คือ ให้ความสำคัญกับความสะอาดและความเป็นระเบียบ ไม่เกะกะถนน ซึ่งก็สะท้อนความเจริญของประเทศ

การขยายตัวของศูนย์อาหารข้างทางของสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 นั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับการเติบโตของประชากร และจัดระเบียบผู้ค้าไม่ให้ขายข้างทางและขายบนถนน เพราะระบบการให้ใบอนุญาตเดิมนั้นไม่มีประสิทธิภาพ คนที่ไม่มีใบอนุญาตก็ลักลอบค้าขายกันทั่วไปหมด

การขยายตัวอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการมองว่าความสะอาดนั้น เป็นสิ่งที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นฉันทามติที่ทั้งประชาชนและรัฐมีร่วมกันในการสร้างชาติสิงคโปร์ (แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากโทษที่หนักดังที่เราทราบกันอยู่) เพราะส่วนหนึ่งทำให้พลเมืองมีรากฐานที่แข็งแรง ทั้งที่นักวิชาการสมัยนี้เริ่มตั้งคำถามว่าข่าวเรื่องอาหารเป็นพิษนั้น แม้ว่าจะมีจริง แต่ไปๆ มาๆ ความเสียหายจากอาหารเป็นพิษอาจจะเบากว่าภัยเมืองอีกหลายอย่าง แต่กระนั้นก็ตาม ทุกคนก็ดูจะให้ความยินยอมพร้อมใจในการสร้างสรรค์สังคมสิงคโปร์ร่วมกัน

อีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์นั้นอาจจะแตกต่างจากยุคอาณานิคม นอกจากประสิทธิภาพในการจัดการและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์นั้นพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการย้ายหาบเร่แผงลอยจากข้างทางมาเป็นศูนย์อาหารข้างทาง และทำให้ศูนย์อาหารข้างทางนั้นเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการพัฒนาเมือง โดยทำให้ศูนย์อาหารข้างทางเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการเป็นศูนย์บริการ (town centre) ที่เป็นเมืองซ้อนเมือง กล่าวคือ เมืองใหญ่จะไม่กระจุกตัวอยู่พื้นที่เดียว แต่จะต้องมีศูนย์เมืองย่อยกระจายไปตามจุดต่างๆ เชื่อมร้อยกันด้วยระบบรถไฟฟ้าและรถเมล์ จากนั้นก็ร้อยเชื่อมกันด้วยสวนสาธารณะ ที่พักอาศัยที่รัฐบาลให้เช่าในราคาไม่แพงมาก และย่านการค้าที่เดินถึงและเข้าถึงได้

กล่าวอีกอย่างก็คือ รัฐไม่ได้มองว่าหาบเร่แผงลอยนั้นเป็นปัญหาของเมือง แต่พยายามปรับปรุงจับมารวมกันเพื่อให้บริการกับประชาชนในเมืองอย่างจริงจัง โดยมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เอาแต่จะไล่ออกไปจากเมือง หรือไม่ได้มองว่าเขาจะมีอนาคตอย่างไร หรืออ้างว่าได้จัดสรรพื้นที่ให้กับพวกเขาแล้วแต่ห่างไกลจากชุมชนและระบบนิเวศเมือง

หาบเร่แผงลอยโดยเฉพาะอาหารข้างทางนั้น จึงเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐบาลยอมรับมานานแล้วว่ามีส่วนในการสร้างและขยายเมืองถ้าบริหารจัดการให้ดี มิหนำซ้ำ การบริหารจัดการ จัดระเบียบและควบคุมหาบเร่แผงลอยให้ดี ก็จะควบคุมประชากรในเมืองนั้นได้ด้วย เพราะเขาจะมีระเบียบวินัยในการกินอยู่ ความสะอาด รวมทั้งศูนย์อาหารข้างทางก็จะเป็นศูนย์กลางหนึ่งในการเผยแพร่นโยบายและความคิดของรัฐบาลด้วย อาทิ การจัดระบบการตรวจและให้คะแนนความสะอาดของร้านอาหารในศูนย์อาหารข้างทาง และการรณรงค์ตามโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ก็ล้วนแล้วแต่กระทำผ่านการจัดระเบียบร้านอาหารเหล่านี้ทั้งสิ้น ทั้งการแต่งตัว การตรวจสอบความสะอาดจากอาหารและจากตัวร้านค้าเอง เพื่อให้เห็นว่าความเข้มงวดของรัฐต่อความสะอาดและระเบียบนั้นมีไว้เพื่อประชาชน

ส่วนหนึ่งของการหมดไปของอาหารข้างทาง (แต่เคลื่อนตัวมาอยู่ในศูนย์อาหารข้างทาง) ก็สะท้อนให้เห็นถึงการทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลดูแลความเป็นอยู่ของพวกเขา ไม่ใช่อ้างแต่ระเบียบและประโยชน์ของเจ้าที่ดินในการไล่รื้อหาบเร่แผงลอย แต่กลับสร้างโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรายงานและตรวจสอบคุณภาพความสะอาดของอาหาร แต่ก็ไม่ละเลยความต้องการของประชาชนที่จะมีอาหารราคาถูกในการกิน
แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จะหยุดการสร้างศูนย์อาหารข้างทางใหม่ๆ และผู้คนบางกลุ่มอาจจะมีฐานะพอที่จะทานอาหารในศูนย์อาหารทั่วไปและร้านอาหารมากขึ้น แต่สุดท้าย ศูนย์อาหารข้างทางก็กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวสิงคโปร์ที่มีพัฒนาการอย่างยาวนาน จากการที่รัฐเองนั้นมีวิสัยทัศน์ไม่ได้มองอะไรง่ายๆ แบบบางประเทศ และสุดท้ายรัฐบาลก็มีโครงการสร้างศูนย์อาหารข้างทางใหม่ๆ เพิ่มอีกในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในอนาคต

อย่าลืมว่า แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะถูกมองว่าใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมมาก แต่กลไกการเลือกตั้งก็ทำให้รัฐบาลรักษาฐานคะแนนในแต่ละชุมชนเอาไว้ได้ และความร่วมมือของประชาชนต่อรัฐก็เป็นสิ่งที่ให้หลักประกันว่าชุมชนเขาจะได้รับการดูแลปรับปรุงคุณภาพชีวิตอยู่เสมอ

อาจกล่าวง่ายๆ ว่า อาหารข้างทางและหาบเร่แผงลอยไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง และไม่ใช่เรื่องที่จะมาเชิดชูเสียจนมองข้ามการบริหารจัดการที่ดี โดยอ้างว่าไม่ต้องทำอะไรจากที่เป็นอยู่ หรือปล่อยให้ชาวบ้าน/ชุมชนต้องมาแสดงบทบาทของการแบกรับมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่างที่เขาอาจจะไม่ได้ทำอีกแล้ว แต่ต้องมาแต่งชุดไทยย้อนยุค หรือต้องแบกรับภาพจินตนาการของความงดงามเรียบง่ายให้คนนอกชุมชนเข้ามาเสพ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ชุมชนนั้นกลายเป็นสินค้า และทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นงานเทศกาลและงานแสดง ที่ถูกจับจ้องคาดหวังตลอดเวลาเพื่อให้อยู่รอดในสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง

ตัวอย่างของสิงคโปร์ทำให้เราเห็นว่า หาบเร่แผงลอยและอาหารข้างทางเป็นส่วนหนึ่งของอาการที่เป็นองค์ประกอบของความต้องการสาธารณูปโภค สาธารณูปการบางอย่างที่ไม่เพียงพอ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน ขณะเดียวกัน อาหารข้างทางที่ขายโดยหาบเร่แผงลอยเดิมนั้น ก็สามารถมีส่วนช่วยในการเติบโตของเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบได้ ถ้ามีการลงทะเบียน มีระบบบริหารและควบคุมคุณภาพให้ดี ไม่ใช่คิดแต่เรื่องไล่กับผ่อนผัน และก็ต่อรองกันกับระบบเจ้าถิ่นและปากว่าตาขยิบไปวันๆ

(หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งพัฒนามาจาก Lee Zhi Jie. Hawker Centre : An Instrument Controlled to Control. Master of Architecture Dissertation, National University of Singapore, 2012)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image