ขบวนการกู้ชาติเวียดนามกับสยาม ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่19

ขบวนการกู้ชาติเวียดนามที่ต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลายขบวนการในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การต่อสู้ของชาวเวียดนามเพื่อกู้เอกราชและเสรีภาพคืนจากฝรั่งเศสเป็นการต่อสู้ที่ยากแค้นแสนเข็ญยาวนาน ขบวนการรักชาติเวียดนามขบวนการแล้วขบวนการเล่าต้องประสบความพ่ายแพ้ฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง ด้วยศักยภาพทางทหารที่เข้มแข็งกว่าอย่างเปรียบเทียบมิได้

เช่นกัน ผู้นำรักชาติเวียดนามที่ต่อต้านฝรั่งเศสก็ได้เกิดขึ้นหลายคน ต่อสู้ด้วยความเสียสละ อดทน ชีวิตแล้วชีวิตเล่าของชาวเวียดนามรักชาติต้องสละและสูญเสียไปนับไม่ถ้วน

26 ปี หลังจากที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาในอินโดจีนครั้งแรกและยกพลขึ้นบกที่เมืองตูราน (Tourane) ซึ่งเวียดนามเรียกว่า ดานัง หรือ ด่า หนัง ในปี ค.ศ. 1858 เวียดนามได้ถูกแบ่งเป็นสามส่วน อันเป็นผลจากการลงนามในสนธิสัญญาปาเตอโนเตรอ ( Traité Patenôtre) กับฝรั่งเศสในวันที่ 6 มิถุนายน 1884 อันเป็นสนธิสัญญาที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ด้วยข้อตกลงนี้ เวียดนามภาคเหนือได้กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เวียดนามภาคใต้มีสถานะเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนเวียดนามภาคกลางก็มีสถานะเป็นรัฐในอารักขา แม้ว่าเวียดนามยังอยู่ภายใต้การดูแลของราชวงศ์เหงวียน แต่ฝรั่งเศสก็เข้าควบคุมกิจการการต่างประเทศ การเงิน การคลัง และการแต่งตั้งจักรพรรดิ การเข้าควบคุมดูแลของฝรั่งเศสในกิจการดังกล่าวนี้ จึงเปรียบเสมือนว่า เวียดนามได้สูญเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง

ขบวนการเกิ่นเวือง หรือ ขบวนการพิทักษ์กษัตริย์
แม้เวียดนามจะไม่มีความสามารถในการสู้รบกับฝรั่งเศส แต่ภายใต้การกดขี่ ชาวเวียดนามก็ต้องลุกขึ้นสู้ ดังนั้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเกิดขบวนการกู้ชาติและการลุกฮือขึ้นหลายครั้งในหลายพื้นที่
ขบวนการเกิ่นเวือง (Phong trào Cần Vương) หรือ ขบวนการพิทักษ์กษัตริย์ (1885-1896) เป็นขบวนการกู้ชาติที่สำคัญที่ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19
ขบวนการนี้นำโดยนักปราชญ์ ปัญญาชนรักชาติ ดังเช่น ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง (Phan Đình Phùng) เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของกษัตริย์ห่าม งี (Hàm Nghi) ซึ่งขอให้ประชาชนต่อสู้กับฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนและนักปราชญ์ตอบสนองอย่างกว้างขวาง ภายใต้ขบวนการเกิ่นเวืองนี้ได้มีการลุกฮือของประชาชนเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังเช่น

Advertisement

ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง
นักปราชญ์ ปัญญาชนรักชาติเวียดนาม

• การลุกฮือ เฮือง เค (1885-1896) นำโดยฟาน ดิ่ง ฝุ่ง และกาว ถัง ที่จังหวัดห่าติ๋งห์ ต่อมาเมื่อ ฟาน ดิ่ง ฝุ่งเสียชีวิต ขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสของปัญญาชน หรือ นักปราชญ์ในลัทธิขงจื๊อก็สิ้นสุดลง
• การลุกฮือ บาดิ่งห์ (1886-1887) นำโดย ดิงห์ กง จ๋าง ซึ่งได้ตั้งเขตต่อต้านที่บาดิ่งห์ อำเภองาเซิน จังหวัดแท็งห์หวา
• การลุกฮือ หุ่งลิง (1886-1892) นำโดย ต๋ง ซุย เติน และกาว เดี๋ยน เป็นการลุกขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสที่จังหวัดแท็งห์หวา
• การลุกฮือ บ๋ายเส่ย (1885-1889) นำโดยเหงวียน เถี่ยน ถวต ซึ่งได้ตั้งฐานต่อสู้ฝรั่งเศสที่บ๋ายเส่ย จังหวัดฮึงเอียน
• การลุกฮือที่นำโดยเหงวียน กวาง บิ๊ก (1885-1889) ที่ ฮึงหวา ในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดฝูเถาะ
• ขบวนการชาวนา เอียนเถ (1885-1895) ภายใต้การนำของ หว่าง ฮวา ถาม
ขบวนการรักชาติและการลุกฮือ ที่กล่าวมานี้ได้ถูกฝรั่งเศสปราบจนหมดสิ้น

Advertisement

ขบวนการเกิ่นเวืองกับสยาม
ฐานของขบวนการเกิ่นเวือง หรือ ขบวนการพิทักษ์กษัตริย์นี้ อยู่ในพื้นที่ภูเขาหวูกวางในจังหวัดเหงะ-ติ๋งห์ซึ่งในปัจจุบันคือ จังหวัดเหงะอานและจังหวัดห่าติ๋งห์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ ติดกับชายแดนลาวเวียดนาม

ในการต่อสู้กับฝรั่งเศส ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ได้รับการสันนิษฐานว่า น่าจะได้ศึกษาภูมิศาสตร์ของเวียดนาม ประวัติศาสตร์การต่อสู้และยุทธศาสตร์ของกษัตริย์ญาลอง (Gia Long) จากพงศาวดารในการหาความช่วยเหลือจากต่างชาติ ซึ่งในกรณีของกษัตริย์ญาลอง ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส และขออาวุธยุทโธปกรณ์จากสยามเพื่อไปสู้รบกับกลุ่มศัตรูภายในประเทศ ซึ่งหมายถึง พี่น้องไตเซิน

นอกจากนี้ ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ก็น่าจะได้ศึกษาภูมิศาสตร์ของเวียดนามเกี่ยวกับเส้นทางที่กษัตริย์ญาลองใช้เดินทางจากเวียดนามเพื่อเข้ามายังกรุงเทพฯด้วยเช่นกัน และนำมาเปรียบเทียบกับฐานที่ตั้งของตน ซึ่งอยู่ในเขตภูเขาหวูกวางดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งไม่มีทางออกทางทะเล อันต่างไปจากเส้นทางที่กษัตริย์ญาลองใช้เดินทาง โดยผ่านแหลมญวน หรือ แหลมก่าเมา และอ่าวไทยมายังกรุงเทพฯ

และด้วยในขณะนั้นในปี 1883 ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากต่างชาติใดได้ และไม่มีพ่อค้าอาวุธชาวปอร์ตุเกส อังกฤษ ดัช หรือ ใครที่ต้องการจะขายอาวุธให้กับฟาน ดิ่งห์ ฝุ่งเพื่อสู้กับฝรั่งเศส ยิ่งกว่านี้ ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากจีนได้ เพราะจีนก็กำลังมีปัญหากับชาติตะวันตก เมื่อเป็นเช่นนี้ ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง จึงมองเห็นว่าสยามน่าจะเป็นแหล่งที่มาของความช่วยเหลือและแหล่งอาวุธและดินปืนที่เหมาะสมที่สุด

ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมมีสตรีชาวเวียดนามผู้หนึ่ง ชื่อ โก เติม เป็นผู้ติดต่อซื้ออาวุธให้ ท่าอุเทนในขณะนั้นมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความสะดวกในการติดต่อซื้ออาวุธ ดินปืนและในการอาศัยพักพิง อำเภอท่าอุเทนจึงเป็นแหล่งซื้อส่งอาวุธที่ดีให้กับฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและขบวนการเกิ่นเวืองเป็นไปด้วยดี มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สยามส่งกองกำลังไปยังสิบสองจุไทในปี 1885 เนื่องจากฝรั่งเศสพยายามเข้าไปขยายอิทธิพลในพื้นที่ของไทดำและเริ่มคืบคลานเข้าไปยังเมืองเซินลา และเมืองลายโจว

เส้นทางเชื่อมตะวันออกเฉียงเหนือของสยามกับภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม
ในการขนอาวุธและดินปืนเข้าไปยังฐานของเกิ่นเวืองในเวียดนาม ฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ได้ให้พรรคพวกของตนสร้างเส้นทางลับจากฐานกำลังในภูเขาหวู กวาง ข้ามมายังลาว ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในราวปี ค.ศ. 1888 เป็นการเชื่อมภาคกลางตอนเหนือของเวียดนามกับตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม
เส้นทางลับนี้ เป็นเส้นทางหนึ่งในสามเส้นทางที่ต่อมาในกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 ฝรั่งเศสได้เกณฑ์แรงงานเวียดนามสร้างถนนเชื่อมเวียดนามกับท่าแขก สะหวันนะเขต และเวียงจันทน์ เพื่อให้สะดวกต่อการส่งข้าราชการที่ทำงานให้กับฝรั่งเศสมายังที่ทำการในเมืองต่างๆในลาว และส่งคนงานจากเวียดนามมาทำงานในเหมืองแร่ที่โพนติ้วและบ่อเน็งในลาว

และด้วยเส้นทางเหล่านี้ ทำให้การเดินทางของชาวเวียดนามมายังลาวและสยาม เป็นไปสะดวกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากจังหวัดสำคัญที่มีการเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามที่อยู่ติด หรือ ใกล้ชายแดนลาว-เวียดนาม เช่น จังหวัดห่าติ๋งห์ จังหวัดแท็งห์หวา จังหวัดเหงะอาน และจำนวนชาวเวียดนามที่หลบหนีมาฝั่งสยามก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อๆมา

สยามจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อขบวนการเกิ่นเวืองในฐานะของการเป็นแหล่งหาซื้ออาวุธ เป็นฐานที่พักพิงทางทิศตะวันตกของเวียดนาม และเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาวเวียดนาม นับว่าเป็นครั้งแรกๆในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และจากนั้นเป็นต้นมา ที่ชาวเวียดนามรักชาติเห็นความสำคัญของสยามและใช้สยามเป็นแหล่งพักพิง แหล่งอาวุธและฐานสำคัญในการต่อสู้กับฝรั่งเศส
การเสียชีวิตของฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ในปี 1896 ทำให้ขบวนการเกิ่นเวืองสิ้นสุดลง การเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสก็อ่อนแอลง ส่วนผู้ติดตามฟาน ดิ่งห์ ฝุ่ง ก็หลบหนีข้ามแม่น้ำโขงไปพักพิงยังสยาม ที่อำเภอท่าอุเทน

ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
สถานที่หนึ่งที่เป็นหลักฐานของการเข้ามาพำนักพักพิงและรวมตัวกันของกลุ่มฟาน ดิ่ง ฝุ่ง ในภาคอีสานของไทย อีกทั้ง เป็นหลักฐานของการมาติดต่อซื้ออาวุธจากสยาม ก็คือ ศาลเจ้ามณีธรรม หรือ Đền thờ Đức Quận Đại Vương ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ศาลเจ้านี้เป็นศาลเจ้าที่กลุ่มรักชาติ ฟาน ดิ่ง ฝุ่ง ได้ช่วยกันสร้างขึ้นเมื่อคราวที่เข้ามาอาศัยพักพิงและติดต่อซื้ออาวุธ
ศาลเจ้ามณีธรรมนี้ได้ทำการปฏิสังขรณ์ถึงสามครั้ง และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2015


ศาลเจ้ามณีธรรม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน

แต่ดั้งเดิม ในศาลเจ้าแห่งนี้เคยมีห้องใต้ดินขนาดเล็กสำหรับซ่อนอาวุธ ขนาดกว้าง 4 ตารางเมตร ยาว 4 ตารางเมตร ลึก 1 เมตร แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ ห้องใต้ดินนี้ได้ถูกถมและเทพื้นซีเมนต์ปิด จนไม่เหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้เห็นในปัจจุบัน
อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม อยู่ตรงข้ามกับบ้านหินบูน แขวงคำม่วน สปป.ลาว บ้านหินบูนนี้เป็นจุดสำคัญและเป็นจุดปลายทางในลาวก่อนที่ชาวเวียดนามที่เดินทางข้ามภูเขาเจื่องเซิน มาจากภาคกลางตอนเหนือของเวียดนาม จะข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย
อำเภอท่าอุเทน จึงเป็นจุดรับชาวเวียดนามรักชาติ ที่เดินทางมาจากเวียดนามตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยเดินเท้ามาจากจังหวัดเหงะอานและจังหวัดห่าติ๋งห์ รอนแรมผ่านป่าเขา ข้ามภูเขาเจื่องเซิน มายังฝั่งลาว
เป็นการเดินทางบนบางส่วนของเส้นทางที่เป็นเส้นทางหมายเลข 8 ในปัจจุบัน มายังบ้านหินบูน ผ่านความหนาวเย็น ด้วยความยากลำบากและต้องเผชิญกับไข้ป่าและสัตว์ป่ากว่าจะมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วข้ามมายังฝั่งไทย นอกจากนี้ อำเภอท่าอุเทนยังเป็นอำเภอที่มีความสำคัญยิ่งต่อการเคลื่อนไหวกู้ชาติจากฝรั่งเศสในเวลาต่อมาด้วย

แม้ว่าในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขบวนการเกิ่นเวืองและการลุกฮือหลายครั้งที่กล่าวมาข้างต้นจะได้ถูกฝรั่งเศสทำลายจนหมดสิ้น แต่ขบวนการกู้ชาติเวียดนามใหม่ๆก็เกิดขึ้นอีกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อทำการต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสในเวลาต่อมาอีกครึ่งศตวรรษ
สยาม หรือ ไทย ก็ยังคงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อการเคลื่อนไหวกู้ชาติเวียดนามในการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และในการเป็นดินแดนที่ให้ที่พักพิง ทั้งอย่างเปิดเผยและอย่างลับ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง “เหวียตเกี่ยวในประเทศไทย กับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม” ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

 

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image