ตำแหน่งทางวิชาการ

ตําแหน่งทางวิชาการเป็นกลไกในการบ่งบอกลักษณะงานและประสบการณ์ของผู้สอน ซึ่งระดับประถมและมัธยมศึกษามีตำแหน่งคือครูและอาจารย์ ส่วนระดับอุดมศึกษามีการกำหนดชัดเจนเพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาคุณภาพวิชาการและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งครอบคลุมผลงานที่คณาจารย์ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือประเทศ ตลอดจนผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ
การศึกษาไทยตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2545 ได้แบ่งการศึกษาไว้ 4 ระดับ คือ ก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาชั้นสูงที่เน้นการประกอบวิชาชีพเป็นสำคัญ
ดังนั้น ผู้ถ่ายทอดความรู้ของการศึกษาระดับนี้จึงต้องมีความรู้มีประสบการณ์ มีการค้นคว้าความรู้ใหม่ คือการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง

ในบทความนี้ขอนำเสนอตำแหน่งทางวิชาการระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์จากประกาศของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ดังนี้
ตำแหน่งอาจารย์ เป็นตำแหน่งแรกของการเข้าสู่ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา สำหรับสถาบันที่อยู่ในกำกับของรัฐ (นอกระบบราชการ) ให้มีตำแหน่งเป็นพนักงานของรัฐไปก่อนจนกว่าจะมีตำแหน่งทางวิชาอื่นต่อไป ส่วนหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่งขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของแต่ละสถาบัน
ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มีหลักเกณฑ์และวิธีการ คือ มีการสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา มีผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานวิจัย และบทความทางวิชาการ และผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ
ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) มีหลักเกณฑ์ คือ มีการสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา มีผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานวิจัย และมีตำราหรือหนังสือ และผ่านการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ
ตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) เป็นตำแหน่งวิชาการชั้นสูงสุดต้องมีผลการสอนและผลงาน ทางวิชาการมีคุณภาพดีมากหรือดีเด่น มีงานวิจัย มีตำราหรือหนังสือที่ผ่านการประเมินคุณภาพ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์ (ศ.) คือ ผู้มีความเชี่ยวชาญในศิลปะวิทยาการเฉพาะด้านหรือเป็นผู้สอนที่มีความชำนาญระดับสูง ซึ่งแต่ละประเทศมีความหมายและหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ได้แบ่งประเภทของศาสตราจารย์ไว้ดังนี้
1.ตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ
2.ตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่ประจำหรือโดยกรณีพิเศษ

1.ตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ
เป็นตำแหน่งประจำหรือปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่
(1) ศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยหรือแต่งตำรา เป็นตำแหน่งประจำคือเป็นข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน และได้รับการแต่งตั้งหรือโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(2) ศาสตราจารย์คลินิก มีหลักเกณฑ์และการแต่งตั้งเช่นเดียวกับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยหรือแต่งตำรา เพียงแต่เน้นการค้นคว้าวิจัยในภาคปฏิบัติ เช่น แพทย์ที่เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ในต่างประเทศ คือ ตำแหน่งศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ (Professor of practice)
(3) ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตำแหน่งนี้แต่งตั้งจากอาจารย์ประจำ ผู้เคยเป็นศาสตราจารย์มาแล้วจากการวิจัยหรือแต่งตำราและเกษียณอายุราชการ แต่สถาบันเห็นสมควรแต่งตั้งเพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาให้แก่ภาควิชาหรือสาขาวิชานั้นต่อไป โดยถือว่ามีสิทธิใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ต่อไปจนถึงแก่กรรม

2. ตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่ประจำหรือโดยกรณีพิเศษ
ตำแหน่งประเภทนี้แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานประจำ แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ เป็นนักวิชาการที่โดดเด่น มีคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อตรงต่อวิชาชีพเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างกว้างขวาง โดยการพิจารณาของสภาสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่
(1) ศาสตราจารย์พิเศษ หรือ ศ. (พิเศษ)
(2) ศาสตราภิชาน คือตำแหน่งยกย่องผู้ที่มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์ต่างๆ และเป็นตำแหน่งเฉพาะสาขาวิชาที่ให้เป็นเกียรติตลอดชีพ
(3) ศาสตราจารย์กิตติเมธี เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเชิญมาทำวิจัยและพัฒนาศาสตร์ในสาขานั้น เป็นตำแหน่งที่มีกำหนดเวลาหรือค่าตอบแทนจากกองทุนของสถาบัน
(4) ศาสตราเมธาจารย์ หรือศาสตราจารย์อาวุโส หรือศาสตราจารย์เกียรติยศ เป็นการยกย่องศาสตราจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ เป็นผู้นำทางวิชาการของสาขาวิชานั้นๆ ในระดับนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์
(5) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ประจำผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมีผลงานดีเด่นระดับนานาชาติ
นอกจากนี้อาจมีตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ หรือศาสตราจารย์อุปการคุณ ซึ่งเป็นกรณีพิเศษที่สถาบันอุดมศึกษานั้นๆ พึงให้เกียรติยกย่อง เป็นต้น
อนึ่ง วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ใช้คำย่อว่า “ดร.” นั้น แม้ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ แต่มักนิยมใช้ควบคู่กับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ผศ. ดร., รศ. ดร., หรือ ศ. ดร.

Advertisement

กล่าวโดยสรุป ตำแหน่งทางวิชาการเป็นการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการ การได้ตำแหน่งทางวิชาการระดับสูงขึ้นย่อมแสดงถึงการพัฒนาทางวิชาการของทั้งตนเองและสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งอาจเป็นเรื่องเฉพาะทางวิชาการ
อย่างไรก็ตาม การรับรู้สาระด้านตำแหน่งทางวิชาการย่อมทำให้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลของสถาบันอุดมศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image