ห้ามหาเสียงออนไลน์…ไทยแลนด์4.0

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 วันที่ 14 กันยายน 2561 ข้อ 6 พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง
ความในประโยคหลังนี่แหละครับ ทำให้เกิดปัญหาถกเถียง ให้คำนิยาม ตีความกันไปคนละทิศคนละทาง เกิดคำถามตามมาไม่หยุดหย่อนว่ารูปธรรมทางปฏิบัติของคำว่า หาเสียง เป็นอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหน
เพราะมีข้อโต้แย้งทั้งสองด้าน ทั้งตัวสาร และตัวสื่อ

ด้านตัวสาร หรือเนื้อหาสาระที่พรรคการเมืองสื่อออกไป ตัวอย่างเช่น โฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค เสนอรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ เปิดวงพูดจาสอบถามปัญหาชาวบ้านอย่างที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มอ้าง ข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถูว่าทำได้ เพราะไม่ได้เป็นพรรคการเมือง เนื้อหาการสื่อสารทำนองนี้เข้าข่ายหาเสียงหรือไม่
ถ้าสื่อกับผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าขัดหู กระทบต่อความสงบเรียบร้อย จะเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งนี้หรือไม่
ด้านตัวสื่อ ถ้าผ่านโทรศัพท์มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ เว็บเพจ เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ กระทั่งโทรโข่งเพื่อให้ผู้ฟังได้ยินกันถ้วนทั่ว การสื่อสารผ่านสื่อเหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีอินเตอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง เข้าข่ายการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกหรือไม่

คำสั่งนี้ออกมาใช้ ในขณะที่ตัวเลขการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสูงสุดในโลก ถึง 57 ล้านคน ใช้โซเชียลมีเดีย 51 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 9.38 ชั่วโมง จนเป็นที่ชื่นชมกันทั่วหน้าว่าคนไทยไฮเทค ทันสมัย ก้าวหน้า ครองอันดับสุดยอดนักบริโภคนิยมของโลก จึงเป็นคำสั่งที่สวนทางกับความเป็นจริงในโลกยุคใหม่
เป็นความย้อนแย้งในตัวเองกับคำประกาศที่ว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล ไร้กระดาษ เชื่อมโยงกันด้วยสื่อสารสมัยใหม่ ไทยแลนด์ 4.0
ที่ผ่านมามีกฎหมายที่ใช้สำหรับควบคุม กำกับติดตาม ห้ามปราม ซึ่งผู้คนพร่ำบ่นกันอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่ามุ่งเน้นจำกัด ควบคุม สิทธิเสรีภาพการแสดงออก การติดต่อสื่อสาร ยิ่งกว่าส่งเสริม สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่แค่ใช้เป็น แต่ใช้อย่างมีประโยชน์ มีวุฒิภาวะ
การมีคำสั่งพิเศษออกมาใช้บังคับ โดยยังคงเน้นการควบคุม บังคับ จำกัด ห้ามปราม จึงกลายเป็นการเพิ่มภาระ ให้กับฝ่ายพรรคการเมืองที่ถูกควบคุม และกรรมการกลางผู้ทำหน้าที่ติดตาม คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่จะต้องกำหนดลักษณะต้องห้ามของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่เข้าข่ายเป็นการหาเสียง มีเนื้อหาและรูปแบบการสื่อสารอย่างไร ถึงเข้าข่ายทำได้ หรือทำไม่ได้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน

หากไม่มีแนวทางปฏิบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวออกมา เพียงแต่เขียนกฎหมายไว้เพื่อขู่ ป้องปรามไม่ให้หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามหรือไม่ก็ได้
ความสับสนอลหม่าน จากการโต้แย้ง เพราะมองคนละมุมจะเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน โอกาสเกิดการฟ้องร้อง ดำเนินคดี กลั่นแกล้งเพื่อทำลายกันทางการเมืองได้ตลอดเวลา
ส่งผลให้สถานการณ์การเลือกตั้งปั่นป่วน ขัดแย้ง จากการตีความ การปฏิบัติของแต่ละฝ่ายต่างกัน ทั้งฝ่ายผู้เล่นและผู้กำกับ โต้แย้ง ฟ้องร้องกันอุตลุด ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการเลือกตั้งและพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างแน่นอน
ยิ่งฝั่งผู้กำกับ ซึ่งควรทำหน้าที่กรรมการกลางมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เล่น ลงสู่สนามการแข่งขันเสียเอง คำสั่งดังกล่าวมีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดคู่แข่งได้
นอกจากนั้น ยังมีคำถามอีกว่า คำสั่งนี้จะใช้เป็นการชั่วคราวจนถึงมีประกาศกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วยกเลิก หรือมีผลใช้ตลอดไปจนถึงการเลือกตั้ง
หากเป็นประการหลังยิ่งสวนกระแสแห่งความเป็นจริงของโลก ที่เครื่องมือสื่อสารหลอมรวม เชื่อมโยงถึงกันหมด

Advertisement

แทนที่จะส่งเสริมให้ใช้ช่องทางการสื่อสารสมัยใหม่เป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตย ทำให้ผู้คน สังคมมีวุฒิภาวะ มีช่องทางเลือกรับ ศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์จากข่าวสารอันหลากหลาย จากหลายช่องทาง นำมาสรุปรวบยอดความคิดและตัดสินด้วยตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงข้าม
เหตุนี้ถึงทำให้ถูกผู้คนกล่าวหาว่า เพราะความกลัว ความจริง ความฉลาดรู้เท่าทัน ความพ่ายแพ้ที่อาจจะตามมาก็ได้

การอ้างความหวังดี แต่วิธีการที่ใช้ไม่สอดคล้องไปด้วยกันทำให้เกิดผลตรงข้าม จะเป็นการยืนยันความจริงอีกครั้งว่า เจตนาดี เป้าหมายดี กระบวนการต้องดีด้วยถึงจะบรรลุผลดีที่ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image