ดุลยภาพ ดุลพินิจ GDP กับชีวิตของคนไทย ปฏิรูปอะไร อย่างไร โดย : ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลประกาศว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ดูได้จากการเติบโตของ GDP ก็มักจะมีคำถามหรือข้อท้วงติงตามมาเสมอว่า ชาวบ้านหรือรากหญ้าไม่รู้สึกเลยว่ารายได้ของเขาเพิ่มขึ้น ของไม่ได้ขายดีขึ้น ชีวิตเขาไม่ได้ดีขึ้น ครึ่งปีแรกนี้จีดีพีโตในอัตราที่ทะลุ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นายกฯประยุทธ์ รองนายกฯเศรษฐกิจ ดร.สมคิด และรัฐมนตรีคลัง คุณอภิศักดิ์ ให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้มาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้จีดีพีโตสูงกว่าอดีต พลเอกประยุทธ์มองไปไกลต้องการให้ไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด

รัฐบาล คสช. มีวาระที่ต้องปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน วาระหนึ่งที่จะไม่มีรัฐบาลไหนมาคัดค้านการปฏิรูปนี้คือการปฏิรูปสถิติและการนำเสนอข้อมูลที่บอกถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ และหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ คงไม่มีอะไรที่จะสำคัญมากไปกว่า ตัวเลขเล็กๆ แต่ทรงพลังและมีความสำคัญมายาวนาน ซึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ Gross Domestic Product ที่รู้จักกันดีว่า GDP เราต้องปฏิรูปการนำเสนอข้อมูลจีดีพีให้มันสะท้อนชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด โดยเน้นไปที่รายได้ การบริโภคระดับครัวเรือนของคนไทย และสะท้อนความไม่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจในอนาคตตลอดจนคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

GDP เป็นแนวคิดและเครื่องชี้วัดที่มีประโยชน์และสำคัญมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดมากเช่นกัน โดยเฉพาะการตีความและการนำไปใช้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ประการแรก จีดีพีเน้นด้านการผลิต (production) สินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่มีการซื้อขายกันในตลาด มีราคาและถ้าไม่มีก็ต้องคิดมูลค่าให้กับมัน เช่น เราอยู่บ้านตัวเอง ก็ต้องตีราคาค่าเช่าต่อปี ข้อมูลการผลิตมีประโยชน์เพราะมันสำคัญกับการจ้างงาน การมีงานทำ ช่วยสร้างรายได้แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป ถ้าเรากินข้าวนอกบ้าน จีดีพีก็สูงขึ้น แต่ถ้าเราทำอาหารกินกันเอง ทำงานบ้านก็ไม่คิดอยู่ในจีดีพี ถ้าเจ้าบ้านเกิดแต่งงานกับหญิงคนใช้ ก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง จีดีพีก็ลด หรือ คสช.จัดระเบียบหาบเร่ตลาดนอกระบบที่ไม่เคยคำนวณอยู่ในจีดีพี แต่เดิมเป็นแม่ค้าหาบเร่ตัดสินมาเป็นลูกจ้าง จีดีพีก็เพิ่ม

GDP ที่เพิ่มขึ้นนั้น ชาวบ้านได้อานิสงส์ส่วนแบ่งแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าจีดีพีที่เติบโตในภาคการผลิต เช่น เกษตร อุตสาหกรรม การส่งออก การค้าปลีก หรือการบริการ มันกระจุกหรือกระจายในกลุ่มธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก เพียงไร แค่ไหน ถ้าเป็นภาคเกษตร ราคาและปริมาณพืชผลเพิ่มขึ้นหรือไม่ ค่าจ้างและรายได้ของคนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับแรงงานที่มีทักษะในบริษัทขนาดใหญ่ หรือกำไรกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือถ้าการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้ในสัดส่วนที่สูงให้แก่คนและบริษัทต่างชาติในรูปของกำไร เงินปันผล ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสัมปทาน รายได้ที่ตกเป็นของคนไทยอาจเพิ่มขึ้นน้อย รายละเอียดและข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้จากข้อมูลจีดีพีอย่างเดียว

Advertisement

ตัวเลขจีดีพีในประเทศที่ปรับการเพิ่มขึ้นของราคาแล้วก็จะเปรียบเสมือนเป็นรายได้รวมเบื้องต้นระดับประเทศ ถ้าหารด้วยจำนวนประชากรก็จะเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีต่อคน หรือมักมีการเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวระหว่างประเทศโดยเอาจีดีพี แปลงเป็นเงินสกุลดอลลาห์แล้วหารด้วยประชากร เพื่อหารายได้ต่อหัว ข้อมูลลักษณะนี้ค่อนข้างหยาบมีประโยชน์ไม่มากเพราะมันไม่สะท้อนรายได้ที่แท้จริงของประชาชน โดยเฉพาะที่เป็นคนไทย ตัวเลขรายได้ที่เป็นค่าเฉลี่ยที่เปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวเลขที่บิดเบือนไม่สะท้อนความแป็นจริง ถ้ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้มีการกระจุกตัว เช่น อยู่ในกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่ทางการควรคำนวณและนำเสนอ ควรเป็นตัวเลขรายได้ที่สะท้อนภาพหรือเป็นตัวแทนของคนจำนวนมาก จะเป็นข้อมูลที่เป็น median ซึ่งเป็นรายได้ที่คนร้อยละ 50 มีรายได้สูงกว่าและร้อยละ 50 มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งจะไม่ใช่ตัวเลขค่าเฉลี่ย ในกรณีที่การกระจายรายได้มีความไม่เท่าเทียมกันสูง

ข้อมูลที่ควรนำเสนอและมีประโยชน์กว่าคือ ผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติมวลรวมหรือที่เรียกว่า Gross National Product (GNP) ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากน้ำแรงของคนไทยที่อยู่ในและนอกประเทศ จะไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่เป็นผล งานของชาวต่างชาติที่มาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มีผลผลิตจำนวนหนึ่งที่ประเทศจำเป็นจะต้องเผื่อไว้เพื่อรักษาระดับการบริโภคในอนาคต เพราะมีการใช้ทรัพยากรหรือทุนให้หมดไปหรือเสื่อมค่า ผลผลิตจำนวนนี้คือ ค่าเสื่อมราคาทางเศรษฐกิจ เมื่อนำมาหักกับจีเอ็นพี จะได้เครื่องชี้ที่มีประโยชน์เพราะอย่างน้อยมีการคำนึงถึงความยั่งยืนในอนาคต เครื่องชี้ตัวนี้สำคัญ เรียกว่า Net National Product (NNP) ทางการควรมีการนำเสนออัตราการเติบโตของมัน สำหรับครัวเรือน รายได้ที่สำคัญของเขาคือ รายได้ที่เขาได้รับจากรัฐ จากการทำงานและหักภาษีที่จ่ายให้รัฐ ตัวเลขรวมระดับครัวเรือนคือรายได้ประชาชาติ หรือ National income (NNP-ภาษีที่จ่ายให้รัฐ)

มีบ่อยครั้ง ชาวบ้านรู้สึกว่ารายได้ตัวเองที่แท้จริงหลังหักค่าครองชีพที่สูงขึ้นแล้วไม่เพิ่มหรือสูงขึ้นแบบที่รัฐบาลกำลังจะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตดีขึ้น เช่น ดูได้จากจีดีพีซึ่งโตดีวันดีคืน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่ครัวเรือนแบกรับเพิ่มสูงกว่าราคาของผลผลิตรวมของจีดีพี ในกรณีนี้ การนำเสนอข้อมูล รายได้รายจ่ายของครัวเรือนที่มีการสำรวจบ่อยขึ้น ละเอียดขึ้น จะสะท้อนสถานภาพชีวิตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการบริโภคที่เป็นประโยชน์และสมจริงมากกว่าการประชาสัมพันธ์ การเติบโตของจีดีพีซึ่งเน้นด้านการผลิต ไม่บอกถึงสวัสดิการที่เกิดขึ้นจริง

โดยสรุป ข้อมูลเดิมจากระบบบัญชีประชาชาติควรจะต้องมีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ให้ความสำคัญกับครัวเรือน เครื่องชี้ที่บอกถึงสวัสดิการหรือ welfare เสริมกับข้อมูลจีดีพี เน้นรายได้ประชาชาติ รายได้ของครัวเรือน การบริโภคของครัวเรือน ความไม่เท่าเทียมกันทั้งรายได้และการบริโภค ข้อมูลประเภท median มาแทนตัวเลขค่าเฉลี่ย

ทั้งในภาครัฐและเอกชน ในโลกที่เทคโนโลยีทำลายและสร้างสรรค์ ของทุกอย่างอายุการใช้สั้นลง การคิดค่าเสื่อมทางเศรษฐกิจอาจจะเพิ่มขึ้นให้สมจริง โดยเหตุนี้ NNP อาจไม่เพิ่มเท่ากับการเพิ่มขึ้นของ GDP ผลิตภาพ (productivity) และการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพควรได้รับความสำคัญมากขึ้นในการคำนวณจีดีพี แม้กระทั่งบริการจากภาครัฐควรใช้วิธีการคำนวณจาก output มาแทน input ในราคาต้นทุนเหมือนที่มีการทำกันในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในภาครัฐและเอกชนหลายอย่างควรถือเป็นสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ไม่นำมาคำนวณในจีดีพี เช่น การสร้างเรือนจำ เพื่อรองรับอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่สูงขึ้น เพราะรถติดมากในกรุงเทพฯขนาดนี้ เป็นต้น

แต่มองประเทศไทยไปอีก 20 ปีข้างหน้า เราคนไทยต้องสนับสนุนรัฐบาล คสช.ในปัจจุบันและรัฐบาลหน้าให้มีความทะเยอทะยานในการสร้างข้อมูลการวัดความเจริญและความก้าวหน้าของประเทศและคนไทย ถ้าเราต้องการเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เราต้องหามาตรวัดที่เป็นอะไรมากกว่ามาตรวัดหยาบๆ เช่น จีดีพี ในระดับหนึ่ง เรามีตัวชี้วัดดัชนีการพัฒนามนุษยที่เรียกว่า Human Development Index (HDI) ซึ่งริเริ่มโดยนักเศรษฐศาสตร์และสหประชาชาติได้ใช้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 ตัวชี้วัดนี้ดีเพราะให้ความสำคัญกับมิติด้านสุขภาพและการศึกษา แต่เรายังสามารถปรับปรุงทำอะไรให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ในอนาคต ที่สำคัญผู้เขียนรู้สึกว่า รัฐบาลไทย สาธารณชน และสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับเครื่องชี้วัดตัวนี้น้อยเกินไป เรายังมองคุณภาพชีวิตกันแบบแคบๆ เน้นกันแต่ปัจจัยทางวัตถุและรายได้ซึ่งแม้จะเป็นมิติที่สำคัญ แต่เป็นเพียงมิติหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่ดี และเรายังต้องการความรู้ความเข้าใจรวมทั้งการหาฉันทานุมัติร่วมกันในสังคม

ที่สำคัญที่สุด คนไทยต้องไม่เห่อตามไปกับโลกที่หลงผิด หลงใหลไปกับตัวเลขความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานและไม่ยั่งยืน เช่น การใช้จ่ายหรือการบริโภคที่สูงขึ้นมาจากการก่อหนี้ การบริโภคมากเกินไป ออมหรือลงทุนระดับประเทศน้อยเกินไปสำหรับอนาคตทั้งทางวัตถุและทางทุนมนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไปอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงคนรุ่นหลัง

เราควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังสำหรับอนาคตในการสร้างงบดุลแห่งชาติที่สามารถบอกว่า ในขณะใดขณะหนึ่งในแต่ละปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเรา การออมและการลงทุนของเรามีผลต่อความั่งคั่งของเราในอนาคตอย่างไร และเพียงไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image