“ชายหมู”ไม่ฟังพรรค “ปู่พิชัย”ไขก๊อก เขย่าเก้าอี้”มาร์ค-ปชป.”

วิเคราะห์

ประชาธิปัตย์ประกาศตัดขาด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นพาดหัวข่าวสำคัญขึ้นมาทันที

นายจุติแถลงว่า “หลังจากที่อดีต ส.ส.ของพรรคแถลงความไม่โปร่งใสในการทำงานของ กทม. ทางแกนนำพรรคได้พยายามประสานงานติดต่อกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยใช้เวลาถึง 3 เดือน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นกับประชาชน แต่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์

พรรคจึงจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนไว้วางใจสนับสนุนให้ผู้สมัครของพรรคเป็นผู้ว่าฯกทม.

Advertisement

พรรคจึงขอแสดงความชัดเจนว่าจากนี้ไป เราจะไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบร่วมกับบริหารงานของ กทม. และถือว่าการทำงานของ กทม.เป็นเอกเทศ พรรคไม่ขอรับผิดชอบ รวมทั้งไม่ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกันด้วย”

คำแถลงตัดสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้สังคมช็อก

เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีมาเนิ่นนาน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค เป็น “ตัวหลัก” ของประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาต่อเนื่อง

และถือได้ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นผู้เกื้อกูล ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์

อย่าลืมว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็น ส.ส.กทม. เฉกเช่นกัน

การทำงานภายในพรรคระหว่างนายอภิสิทธิ์กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จึงน่าจะสานสัมพันธ์กันยาวนาน

แต่จู่ๆ นายจุติ นายองอาจ ก็ออกมาแถลงตัดสัมพันธ์เช่นนี้

สังคมย่อมแคลงใจ ?

…หรือว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่ในกอไผ่

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์มาต่อเนื่อง คงเคยสัมผัสกับสัญญาณ “ฝีแตก” ครั้งนี้มาเป็นระยะๆ

นับตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนวิธีการต่อสู้ทางการเมือง

จากสู้ในสภาไปเป็นสู้บนถนน

ตั้งเวทีประกาศระดมคนชักชวนกันเดินขบวนไปสภาผู้แทนราษฎรต่อต้านรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

กระทั่งจุดกระแสติดพรึบ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ถอนตัว แต่แกนนำอีกส่วนหนึ่งลาออกจากพรรคแล้วไปสวมบทเป็น กปปส.

ชูธงขับไล่ “ชินวัตร” ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนจนเสียงนกหวีดกรีดดังไปทั่วกรุงเทพฯ

ช่วงต้นนายอภิสิทธิ์ยังเป็นแขกรับเชิญขึ้นเวที กปปส. ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ก็ตั้งศาลประชาชนตัดสิน “ชินวัตร” ที่ถนนราชดำเนิน

แม้ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์จะกลับเข้าที่ตั้ง ปล่อยให้ กปปส. ดำเนินการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพฯ

เกิดความปั่นป่วนขึ้นในปี 2556 ต่อ 2557

เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เกิดเป็นการเรียกระดมชุมนุมคนประชันกับ กปปส.

และกลายเป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึก

แล้วติดตามด้วยการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

ณ เวลานั้นเสียงเชียร์ดังกระหึ่ม

เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ปี 2559 หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลง

คำถามที่ว่าหากมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดจะได้รับความนิยม ผลสำรวจของโพลจนถึงปัจจุบันยังโหวตให้เพื่อไทย

เท่ากับว่าทิศทางการเดินทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เพลี่ยงพล้ำหรือไม่

จุดยืนประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตยแบบไหน?

ล่าสุด นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว

ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “ประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเก่า”

ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดมรสุมภายใน

กระแสอยากเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ไปเป็นคนอื่นๆ ยังคงได้ยินมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นกระแสข่าวที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง

ล่อแหลมถึงขนาด นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวว่าพร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคแทนนายอภิสิทธิ์ ต้องชิงออกมา “แก้ข่าว”

ล่อแหลมถึงขนาดที่ข่าวนายสุรินทร์พร้อมเป็นหัวหน้าพรรคปลุกกระแสให้กองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์เองเหลียวหน้า

มามอง

จากข่าวนายสุรินทร์ ซึ่งออกมาปฏิเสธ ผ่านพ้นไปได้ไม่ทันไร ก็ปรากฏข่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เตรียมชิ่งจากประชาธิปัตย์เกิดขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และสมาชิกพรรคสาย กทม. บางส่วนจะโยกไปอยู่กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

แม้จะมีผู้ออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง แต่ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ ยืนยันแน่ชัดว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น

เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นย้ายพรรคได้

การออกมาเคลื่อนไหวของ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งโต๊ะแถลงแฉ กทม.ทุจริตจึงมีผู้ตั้งข้อสังเกต

ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตงบซื้อเครื่องดนตรี โดยเริ่มต้นจากเปียโน เรื่อยไปยังเครื่องดนตรีประเภทอื่น

หรือล่าสุดคือการจัดทำอุโมงค์ไฟมูลค่า 39.5 ล้านบาทเพื่อ

เฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งมีบริษัททำทัวร์ชนะประมูลงานไป

ทั้งกรณีงบซื้อเครื่องดนตรีและงบจัดทำอุโมงค์ไฟ เป็นเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เรียก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เข้าพบ

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เริ่มมีอาการไม่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แล้ว

เป็นกระแสที่เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะตีจากพรรคประชาธิปัตย์ไป

ทุกอย่างช่างสอดคล้องอย่างไม่คาดคิด

กระแสดังกล่าวอึมครึมมานับเดือน กระทั่งล่าสุดนายจุติและนายองอาจ ก็ออกมาแถลงในนามพรรค

ประกาศตัดขาด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และไม่ร่วมสังฆกรรมกับงาน กทม.

กลายเป็นฝีที่แตกให้แลเห็น

คําถามจึงอยู่ที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแผนทางการเมืองเช่นไรต่อไป ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีแผนทางการเมืองเช่นไรต่อไป

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ มีความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคทางภาคใต้ที่เริ่มเป็นอริทหาร

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น แสดงความรังเกียจนักการเมืองอย่างชัดแจ้ง

หลังจากชาวสวนยางภาคใต้ประสบปัญหาราคายางอย่างหนัก

ท่าทีของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เริ่มเป็นอริกับรัฐบาล

แม้ นายถาวร เสนเนียม จะลาออกจากพรรคไปรับบทแกนนำ กปปส. แต่เมื่อถึงเวลาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชาวสวนยาง

นายถาวรก็ใช้สถานที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่แถลงข่าว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ก็มีความเห็นปกป้องประชาธิปไตยมากขึ้น ออกปรากฏตัวในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น

ล่าสุดยังไปเคารพศพ ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ พระเอกหนุ่มที่เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออก

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้คล้ายส่งสัญญาณว่า นายอภิสิทธิ์ยังคงขออยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปจนสิ้นวาระ

และนายอภิสิทธิ์ก็พร้อมลงเลือกตั้งในครั้งหน้า

ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั้น ล่าสุดยังยืนยันที่จะอยู่พรรคประชาธิปัตย์ต่อไป เพียงแต่จะอยู่กันอย่างไร?

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ แลดูคล้ายกับว่าจะวุ่นวาย แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อการ

เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

เท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งสัญญาณการเลือกตั้งออกมาแล้ว

เป็นการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดเร็วขึ้นกว่าโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเอาไว้ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image