สุจิตต์ วงษ์เทศ : อย่าทำลายป้อมกรุงเทพฯ เหมือนทำลายป้อมกรุงศรีอยุธยา

กรุงเทพฯ มีป้อมมหากาฬ แล้วมีชุมชนชานกำแพงพระนคร อยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ควรทำลายเหมือนที่ได้ร่วมกันทำให้หายไปแล้วจากอยุธยา

ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร สะท้อนความจริงของประวัติศาสตร์สังคม ที่ไม่มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ประวัติศาสตร์ไทย คือเรื่องราวความเป็นมาของการโยกย้ายถ่ายเทผู้คน ไปๆ มาๆ ทุกทิศทาง ระหว่างลุ่มน้ำในภาคพื้นทวีป จากลุ่มน้ำหนึ่งไปอีกลุ่มน้ำหนึ่ง

ก่อนมีกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณแม่น้ำลำคลองย่านบางกอกตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา มีคนตั้งหลักแหล่งกับโยกย้ายหลายเผ่าพันธุ์ไปๆ มาๆ เพิ่มเติมหายุติมิได้ว่าพวกไหนเป็นพวกไหน

ยุคสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เกณฑ์คนจากที่ต่างๆ เข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างบ้านเมือง แล้วตั้งหลักแหล่งกลายเป็นประชากร เช่น แขกครัวเขมรจาม, ครัวลาวสองฝั่งโขง ฯลฯ
หลังสร้างกรุงเทพฯ ยิ่งกวาดต้อนคนหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาเพิ่มเติมเป็นชุมชนต่างๆ กระจัดกระจายทั้งอยู่ในเมือง (เช่น ป้อมมหากาฬ), และอยู่นอกเมือง (เช่น นางเลิ้ง, ตลาดพลู, บางกะปิ ฯลฯ)

Advertisement

ชุมชนชาติภาษาและศาสนาต่างจากคนส่วนมาก จะรวมตัวกันแข็งแรงเหนียวแน่น เพื่อป้องกันการคุกคามจากคนกลุ่มอื่นที่มีมากกว่า
ชุมชนโดยทั่วไปที่เป็นชาติภาษาและศาสนาอย่างเดียวกับคนส่วนใหญ่ จะรวมกันอยู่อย่างหลวมๆ มีการย้ายเข้าย้ายออกเป็นปกติ มีคนหลายรุ่นปะปนกันเป็นธรรมดาของชุมชนในโลก
ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร สมัย ร.5 มีขุนนางผู้ใหญ่ตั้งบ้านเรือน มีบ่าวไพร่บริวารทำละครทำปี่พาทย์ เป็นย่านมหรสพมีคนนิยมชมชอบมากมาย เจ้านายชั้นสูงอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เสด็จทอดพระเนตร

หลังจากมหรสพอย่างใหม่เข้ามาแพร่หลาย (คือ ภาพยนตร์) ลิเกต้องร่อนเร่ ชุมชนก็ร่วงโรย คนใหม่ย้ายเข้า คนเก่าย้ายออก ต่างเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ครองกลุ่มชุมชนไม่ขาดสาย

นี่เป็นประวัติศาสตร์ของจริง ไม่ใช่ของเพิ่งสร้างอย่างที่ข้าราชการบางคนของ กทม. พยายามทำ เพื่อกำจัดชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้ายของไทย

Advertisement

ไทยชอบอวดอ้างประวัติศาสตร์ แล้วชอบทำลายสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ยังมีพยานที่อยุธยาถูกไทยทำลายเหี้ยนเตียน

ป้อมมหาไชยที่อยุธยา ถูกทหารอังวะระเบิดเป็นช่องทางเข้ายึดกรุงเท่านั้น ไม่ได้เผาทำลายหมด แต่ที่ทำลายสูญหายหมดป้อมมหาไชยเป็นฝีมือไทยต้องการทำตลาดสดหารายได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image