ผ้าเช็ดท็อปบู๊ต-พานรองประชาธิปไตย

ละครการเมือง เรื่องเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อนำทีมลงสู่สนามเลือกตั้งที่จะมาถึง ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายไม่มีพรรคใดน่าลุ้นเท่าพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์

เพราะนอกจากจะเป็นการตัดสินเรื่องตัวบุคคลแล้ว ยังรวมเลยไปถึงแนวทาง จุดยืนทางการเมืองของพรรคอีกด้วยว่า จะเลือกวางตำแหน่งของพรรคอย่างไร ระหว่างผ้าเช็ดท็อปบู๊ตตามสำนวนที่อดีต ส.ส.วิจารณ์สมาชิกสภานิติบัญญัติ กับเป็นพานรองประชาธิปไตย

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ค่อนข้างมีความชัดเจนเป็นส่วนใหญ่แล้วว่า เลือกทางเดินเอนเอียงไปทางไหน เดินตามโมเดลแม่น้ำห้าสาย ประชาธิปไตยในกำกับ หรือกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพการแสดงออก มีความปลอดภัย มั่นคงทางจิตใจ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวอำนาจจากการปฏิบัติสองมาตรฐาน

พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปัจจุบันกับคู่แข่ง

Advertisement

การเลือกครั้งนี้จึงเป็นจุดบ่งชี้อีกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกเดินหน้าไปตามแนวทางใด แม้จะประกาศตัวอย่างแข็งขันตลอดมาว่ามีความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคสูงเด่น เข้มข้นกว่าพรรคอื่นทั้งหลายแหล่ก็ตาม

ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าความเป็นประชาธิปไตยในพรรคกับความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองของสังคมไทย เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หรือความเป็นประชาธิปไตยในพรรคหาได้เป็นหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองในภาพรวมเลยแม้แต่น้อย

ความเป็นประชาธิปไตยในพรรคท่ามกลางกระแสการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าติดตามยิ่งว่า สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยในพรรคจะนำพาพรรคไปทางไหน

Advertisement

และน่าจับตายิ่งขึ้นไปอีกเมื่อนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ประธานคณะที่ปรึกษาพรรค เขียนความในใจส่งถึงอดีต ส.ส. กรรมการบริหารพรรคทุกคนว่า “ขอเป็นกำลังใจแก่ชาว ปชป.ทุกคน ขอให้หนักแน่น มั่นคง เป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไร ให้ร่วมกันปกป้องพรรคที่ประชาชนมีส่วนร่วมตลอด”

การปกป้องพรรคตามความในจดหมายของนายหัวชวน มีความหมายเดียวกันกับการปกป้องประชาธิปไตยเชิงระบบหรือไม่ คงต้องถามเจ้าของจดหมาย เป็นผู้ให้คำตอบดีที่สุด

เมื่อประธานที่ปรึกษาพรรคย้ำว่าเป็นพรรคที่ประชาชนมีส่วนร่วมตลอด การตัดสินใจเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องภายในของพรรคประชาธิปัตย์กันเองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สังคม สาธารณะ ประชาชนควรมีสิทธิ มีส่วนร่วมดังที่นายหัวว่า อย่างน้อยที่สุดควรจะได้รับคำตอบจากทั้งสองฝ่าย ทำไมถึงต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่ ไม่เลือกคนเดิม

คนเก่าทำผิดอะไร มีจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ไม่ดี ไม่เหมาะสมตรงไหน คนใหม่มีจุดเด่น ข้อดีกว่า และข้อด้อยตรงไหน
ที่สำคัญคนใหม่มีแนวทาง วิธีการที่ดีกว่าอย่างไร ในข้อที่กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่า ไม่สามารถทำให้พรรคเติบใหญ่ ขยายตัว จนเอาชนะคู่แข่งในการเลือกตั้ง จนเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้

การใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล กับการยืนหยัดรักษาหลักการประชาธิปไตย แต่ละฝ่ายมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ล้วนเป็นคำตอบที่ต้องให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่เป็นก็ตาม

คำตอบที่ได้จะเป็นการยืนยันว่า ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริงของพรรคมีอยู่จริงหรือไม่

ยังมิต้องกล่าวถึงแนวทางนโยบายการบริหารจัดการประเทศ ภายใต้สภาพการณ์ที่เสรีภาพการแสดงออกถูกจำกัด พรรคการเมืองก็ตกอยู่ภายใต้สภาพการณ์เดียวกันทำให้ยังคงมุ่งเน้นการแข่งขันด้านตัวบุคคลเป็นหลัก ความเคลื่อนไหวในเรื่องสาระนโยบายกลายเป็นเรื่องรอง

สะท้อนจากเวทีการประชุมสัมมนาระดับชาติที่สำคัญ วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายนนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมวิชาการประจำปี หัวข้อ ยุทธศาสตร์ชาติ อนาคตไทย อนาคตเรา ได้รับความสนใจ ติดตาม อย่างจริงจังจากพรรคการเมืองทั้งหลายแค่ไหน

มีพรรคใดได้รับเชิญหรือไม่ได้รับเชิญ และส่งผู้แทนไปร่วม นำเอาสิ่งที่พูดกันในเวทีมาเป็นแนวทางวางนโยบายของพรรคเพื่อนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าหรือไม่ อย่างไร จะปรับใหม่ ปรับใหญ่ ปรับย่อย ปะผุให้เหมาะสม หรือจะยกเลิก และยกเครื่องใหม่ทั้งหมดเพราะขาดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเพียงพอก็แล้วแต่

ทุกพรรคต้องให้คำตอบกับสังคมในประเด็นนี้รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะส่งตัวแทนไปร่วมหรือไม่ ยังไม่มีใครบอกกล่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ ที่ใกล้จะมีหัวหน้ารอบใหม่กันอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image