อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ของฝ่ายปกครอง ที่พึ่ง(ใหม่)ของประชาชน? : โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

ข่าวพ่อของ “น้องธนิต” ที่ถูกแทงเสียชีวิตกระโดดตึกศาลอาญาว่าน่าสลดใจแล้ว ข่าว “น้องหญิง” ตกจากรถเทรลเลอร์เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่อยุธยาและข่าว “น้องน้ำหวาน” เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะนั่งรถไปกับผู้ชายอย่างมีข้อกังขาที่หนองบัวลำภู รวมทั้งคดีอาชญากรรมอื่นๆ ตามที่สื่อนำเสนอทุกวันก็ยิ่งสะเทือนใจมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การแจ้งความร้องทุกข์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องแจ้งที่สถานีตำรวจเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ถ้าหากตำรวจไม่รับแจ้งความ ก็จะทำให้ประชาชนไม่มีช่องทางอื่นๆ สุดท้ายผู้เสียหายหรือญาติต้องบากหน้าไปพึ่งสื่อมวลชน พึ่งคุณปวีณา หงสกุล นางฟ้าของคนทุกข์ยาก หรือพึ่งทนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ เทพบุตรนักกฎหมายขวัญใจประชาชน เพื่อหวังให้ช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อและครอบครัวเหยื่อ ช่วยหาและรวบรวมพยานหลักฐาน นำพาไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการดูหมิ่นถิ่นแคลนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่ ประจานให้เห็นธาตุแท้ว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยากลำบากต่อคนยากจน ผู้ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสี ไม่มีรุ่นหรือไม่มีพวก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยในสังคมไทย

โดยข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าใจแล้ว กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่ไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซ้ำร้ายยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล ยึดอำนาจนิยมเป็นสรณะ ในขณะเดียวกัน องคาพยพกระบวนการยุติธรรมบางส่วนรวมศูนย์อำนาจ จมปลักอยู่กับอำนาจและเงินตรา การวิ่งเต้นเส้นสาย ซื้อขายเพื่อตำแหน่งและความเจริญก้าวหน้า ไม่มีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของประเทศ นี่คือความจริงของประเทศไทยที่ทุกคนสัมผัสได้ด้วยตนเอง

Advertisement

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง (กระทรวงมหาดไทย) ต่างมีอำนาจสอบสวนเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจระหว่างกัน (check and balance) โดยให้ทั้งฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองต่างมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนความผิดอาญาบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ แต่โดยข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ฝ่ายปกครองถูกจำกัดให้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาเพียง 16 พระราชบัญญัติ ตามกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ซึ่งน่าจะเป็นการคลาดเคลื่อนหรือผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง

บางทีหากตำรวจเอาเยี่ยงอย่างโดยออกกฎกระทรวงจำกัดให้ตำรวจมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาเพียง 16 พระราชบัญญัติเช่นเดียวกับฝ่ายปกครองแล้ว ก็จะเกิดปัญหาว่า ความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติต่างๆ กว่าสามร้อยฉบับใครจะทำการสอบสวน

สิ่งที่ควรต้องตระหนักก็คือ กฎกระทรวงเป็นกฎหมายลูกที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของกฎหมายแม่บท ดังนั้น กฎกระทรวงที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาเพียง 16 พระราชบัญญัติดังกล่าว จึงขัดกับสาระสำคัญของมาตรา 2 มาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและเป็นกฎหมายแม่บทที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนความผิดทางอาญา (shall have the power to conduct inquiry in any criminal offence) เพราะฉะนั้น กฎกระทรวงต่างๆ ที่ออกมาขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บทตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายจึงไม่มีผลใช้บังคับ

Advertisement

ทั้งนี้ โดยแรกเริ่มเดิมทีพอจะเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องการแบ่งงานภายใน (หน่วยงานเดียวกัน) เนื่องจากกรมตำรวจและกรมการปกครองต่างก็สังกัดกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงจึงอาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 ออกระเบียบแบ่งงานภายใน แต่ในปัจจุบันนี้ ตำรวจได้ยกฐานะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติและแยกไปเป็นหน่วยงาน (ใหม่) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมการปกครองจนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(6)(11)(16)(17) มาตรา 17 และมาตรา 18 จึงควรต้องมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายในการสอบสวนคดีอาญาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ให้ยุ่งยากและสอดคล้องตามนัยมาตรา 4, 53, 68, 76 และ 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควรยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 เสียก่อนเป็นลำดับแรกสุด เพื่อเปิดทางทำให้ฝ่ายปกครองได้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและเป็นที่พึ่งใหม่ของประชาชนอย่างแท้จริง

การที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน รู้จักพื้นที่และสภาพปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี (น่า) จะทำให้การอำนวยความยุติธรรมและการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ดูเหมือนว่าประชาชนจะไว้วางใจฝ่ายปกครองมากกว่าฝ่ายอื่นๆ การรับแจ้งความ/ร้องทุกข์/กล่าวโทษ/สืบสวน/สอบสวนโดยฝ่ายปกครอง จะทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร

ขณะเดียวกัน ก็ควรปฏิรูปให้ประชาคมหมู่บ้านและชุมชนทุกแห่งเข้ามาเป็นองคาพยพหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม และควรส่งเสริมให้นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice) มาใช้มากขึ้น ตลอดจนจัดรูปแบบและวิธีการเข้ามาร่วมรับผิดชอบสอดส่องดูแลควบคุมผู้ที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรือผู้กระทำความผิดที่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านและชุมชนนั้นๆ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและฝ่ายปกครองท้องที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำมักเป็นคนในหมู่บ้านและชุมชนเดียวกัน สมาชิกของหมู่บ้านและชุมชนจึงควรดูแลคนของตนเองก่อนจะเป็นการดีที่สุด โดยน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่หลักนิติธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้ประชาคมหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งหากทำได้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนแล้ว เชื่อได้แน่ว่าอาชญากรรมต่างๆ จะลดน้อยลงอย่างแน่นอน เหมือนที่ปรากฏในอารยประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

เมื่อถึงเวลานั้นก็คงไม่ต้องมาถกเกียงกันว่าจะเลิกหรือไม่เลิกโทษประหารชีวิต

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง
อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image