ไทยพบพม่า เน วิน กับระบอบเผด็จการทหารในพม่า (2) โดย : ลลิตา หาญวงษ์

เน วิน กับนายกรัฐมนตรีเดวิด เบน-กูเรียน ของอิสราเอล ระหว่างเน วิน เยือนอิสราเอลอย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการ, ค.ศ.1959

เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในช่วงต้นปี 1948 (พ.ศ.2491) นั้น ปัญหาการเมืองหลายหลากกำลังรอรัฐบาลพม่าอยู่ แม้ตัวแทนของอังกฤษและพม่าจะเล็งเห็นปัญหาว่าการรวมสหภาพพม่าจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้ เป็นเพราะนโยบายของอังกฤษได้เข้าไปฝึกฝนทหารและตำรวจในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะทางภาคเหนือของพม่า เช่นในเขตของกะฉิ่นและฉิ่นติดชายแดนจีน ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และเป็นพันธมิตรของอังกฤษมาโดยตลอด เมื่อการเจรจาเพื่อเอกราชของพม่าใกล้เข้ามา ชนกลุ่มน้อยก็เริ่มเจรจาเพื่อเอกราชของตนเอง เป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่า แต่ในที่สุดก็สามารถประนีประนอมกันได้ระดับหนึ่ง จนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงปางหลวง ค.ศ.1947

แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงปางหลวง ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่ารัฐฉานกับกะยาห์ (กะเหรี่ยงแดง) สามารถแยกตัวออกไปเป็นเอกราชได้เมื่อพม่าได้เอกราชไปแล้ว 10 ปี แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ต้องการแยกตัวออกไปเป็นเอกราชเช่นเดียวกัน นอกจากชนกลุ่มน้อยทางเหนือแล้ว ชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้มแข็งและมีกองกำลังเป็นของตนเองคือ KNU (Karen National Union) ที่ก็ต้องการแยกตัวออกไปเป็นเอกราชเช่นกัน ชนกลุ่มน้อยไม่ได้เป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่มีข้อพิพาทกับรัฐบาลพม่าในยุคเอกราช ภัยคุกคามอีกรูปแบบที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมากคือการลุกฮือของฝากฝั่งคอมมิวนิสต์ ภายใต้ร่มของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) นำโดยตะขิ่น ถั่น ทุน (Thakin Than Tun) และ ตะขิ่น โซ (Thakin Soe) ซึ่งจะจับปืนมุ่งหน้าเข้าป่าและต่อสู้กับรัฐบาลพม่าต่อมาอีกหลายปี

ความแตกแยกภายในชาติที่เพิ่งจะก่อร่างขึ้นมาได้ไม่ถึงปีทำให้ อู นุ ต้องพูดคุยกับกองทัพมากขึ้น เพื่อหาทางออกและเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ รัฐบาล
อู นุ มอบหมายให้ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายเหนือ ได้แก่ เน วิน และ จา โด (Kya Doe) ผู้บัญชาการกองทัพภาคใต้ มีอำนาจเต็มที่เพื่อกำราบคอมมิวนิสต์ อำนาจของกองทัพพม่าเพิ่มขึ้นตามลำดับเมื่อรัฐบาลไฟเขียวให้กองทัพใช้กฎอัยการศึก เน วินที่ในเวลานั้นเป็นที่ไว้ใจของอู นุ ก้าวขึ้นไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองแค่เพียง สมิธ ดัน (Smith Dun) ที่เพิ่งจะได้รับอำนาจให้ควบคุมทั้งกองทัพและกองตำรวจ ทั้งเน วินและสมิธ ดัน ยังเป็นพันธมิตรที่ดีของอู นุ และประกาศว่าจะทำงานให้กับรัฐบาลอู นุ อย่างแข็งขัน

ในปี 1949 (พ.ศ.2492) เน วินก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายหลังกองกำลังกะเหรี่ยงก่อการกบฏในย่างกุ้งและอิงเส่ง (ปัจจุบันคือชานเมืองย่างกุ้ง อยู่ใกล้สนามบินย่างกุ้ง) และสมิธ ดัน ที่เป็นคนกะเหรี่ยง ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่คือจะรบชนะกองทัพของกะเหรี่ยงได้อย่างไร ในเมื่อนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่าจำนวนมากก็เป็นคนกะเหรี่ยง (ถูกฝึกตามแบบอังกฤษมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม) ทหารชั้นผู้น้อยจำนวนมากก็เห็นอกเห็นใจเพื่อนชาวกะเหรี่ยง และเน วินเองก็ยังไม่รู้ว่านายทหารคนใดที่จงรักภักดีกับตนจริง ในท้ายที่สุด เน วิน รวบรวมทหารที่เขาคิดว่าไว้ใจได้ได้ราว 2,000 นาย ทหารจำนวนหยิบมือต้องต่อสู้กับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยกว่า 15,000 นาย

Advertisement

อย่างไรก็ดี ความท้าทายบทแรกนี้เป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้เน วิน เริ่มแผนการขยายกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก ที่เขาคิดว่าอ่อนแออย่างมาก และมีนายทหารระดับสูงที่เป็นชาวพม่าแท้อยู่น้อยเกินไป ภายในเวลาเพียง 4 ปี เน วิน ตั้งกองกำลังใหม่ๆ ได้ถึง 41 กอง ภารกิจสร้างกองทัพนี้คือการแข่งกับเวลา ในขวบปีแรกหลังพม่าได้รับเอกราช สงครามกลางเมืองที่รุนแรงขึ้นตามลำดับคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 30,000 คน และรัฐบาลพลเรือนของอู นุเองก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ทำให้เน วิน มี “สิทธิขาด” เหนือกิจการของกองทัพ และยังเป็นที่ไว้วางใจของอู นุ จนได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบด้วย เน วินกลายเป็นเบอร์ 2 ในรัฐบาล เป็นรองเพียงแค่อู นุปรากฏการณ์นี้สร้างความประหลาดใจให้กับรัฐบาลอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งลงความเห็นว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของเน วิน ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีนี้มาจากบุคลิกภาพและอุปนิสัยของเน วิน ที่มีความแน่วแน่เด็ดขาด และยังเป็นคนที่มีไฟอย่างแรงกล้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คนพม่าส่วนใหญ่ไม่มี

อำนาจของเน วิน ทั้งในกองทัพและฝ่ายบริหารยังมาจากการนำคนที่ตนเองไว้ใจมารับตำแหน่งในกองทัพทั้งหมด ทำให้เน วิน สามารถเดินทางไปทำภารกิจอื่นๆ ในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครคิดกบฏล้มล้างอำนาจของเขา เน วิน มีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่นักธุรกิจชาวต่างประเทศ ทำให้เขาเดินทางออกนอกประเทศเพื่อเดินสายพบปะนักธุรกิจตามประเทศต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง จริงอยู่ว่าในทางการเมืองและการทหาร เน วิน ไม่ต้องการให้ต่างชาติ หรือแม้แต่คนในกองทัพที่เคยได้รับการฝึกฝนแบบอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลมากนัก แต่ในด้านการใช้ชีวิต เน วิน ชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตก ชอบการสังสรรค์ เต้นรำ กินดื่ม และมีไลฟ์สไตล์ที่หรูหราอู้ฟู่ ไม่แปลกที่ผู้คนในพม่าช่วงทศวรรษ 1950 จะชื่นชอบเน วิน มากกว่านายกรัฐมนตรีของตนเอง

ชื่อเสียงของเน วิน ขจรขจายออกไปอย่างรวดเร็ว แม้แต่อู นุเอง ก็สัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนนี้ เขาจึงต้องไปปรึกษากับเน วิน และขอให้เน วิน เข้ามาตั้งรัฐบาลรักษาการในปี 1958 (พ.ศ.2501) ระหว่างที่อู นุ เผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้งศึกภายในประเทศ และความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาล AFPFL ที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอู นุ ยิ่งตกต่ำ ข้อตกลงระหว่างอู นุกับเน วิน มีอยู่ว่าเน วิน จะพยายามฟื้นฟูประเทศ ทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ อู นุสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1960 เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา อู นุ และพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เน วิน ส่งมอบรัฐบาลกลับไปให้อู นุ ตามที่ได้สัญญาไว้ แต่ตั้งแต่อู นุเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 อู นุก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังได้ จนทำให้ในที่สุด เน วินคิดแผนรัฐประหาร และยึดอำนาจจากอู นุ ได้สำเร็จในวันที่ 2 มีนาคม 1962 (พ.ศ.2505)

Advertisement

แต่หลังรัฐประหารครั้งนี้แล้ว เน วิน จะเปลี่ยนเป็นคนละคน เขาไม่ยอมประนีประนอมกับอู นุและอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลเก่าอีกต่อไปแล้ว อู นุ และรัฐมนตรีอีกหลายคนใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำต่อมาอีกหลายปี ในระหว่างที่เน วิน ค่อยๆ สร้างรัฐในพม่าให้เป็นรัฐสังคมนิยมในแบบของเขาเอง และจะอยู่ในอำนาจต่อมาอีกเกือบ 3 ทศวรรษ

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image