สุจิตต์ วงษ์เทศ : ละคอน หรือ ละคร คนละเรื่องเดียวกัน

ต้นทางละครมาจากการละเล่นในศาสนาผี ยังมีร่องรอยเหลือในการละเล่นใส่หน้ากากและใส่มือปลอมทำด้วยไม้ มีนิ้วและเล็บยาวกว่าปกติขยับได้ ในพิธีศพชาวบาตัค แถบที่ราบสูงบนเกาะ สุมาตราเหนือ ของอินโดนีเซีย ราว พ.ศ. 2473 (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555)

“นะโม โอเวอร์เลิฟ” เป็นชื่อเรื่อง “ละคอน” เวที พีเรียด ของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
จะแสดงวันที่ 24-25 เมษายนนี้ วันละ 2 รอบ เวลา 17.00 น. และ 20.20 น. ในโรงละครวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

พจนานุกรมสะกดคำ ละคร ว่า “ละคร” ส่วนนักศึกษากลุ่มนี้มีเจตนาสะกดว่า “ละคอน” แต่ไม่มีคำอธิบาย จึงไม่รู้เจตนาแท้จริงต้องการอะไร?

ละคร หมายถึง การแสดงจำพวกหนึ่ง ที่มีตัวแสดงเป็นเรื่องต่างๆ ตามโครงเรื่องอย่างนิยาย แล้วมีบทหลากหลาย เช่น พระเอก, นางเอก, ผู้ร้าย, นางร้าย, ตลก ฯลฯ
โดยมีกำเนิดจากการละเล่นในพิธีกรรมทางศาสนาผี ราว 3,000 ปีมาแล้ว เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร และวิงวอนร้องขอให้พ้นโรคภัยไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยเมื่อยล้า

การละเล่นในพิธีกรรมยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ มีหลักฐานบนภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ที่ผาแต้ม (อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี) มีใส่หน้ากากสามเหลี่ยม ยังทำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน เรียก ผีตาโขน (อ. ด่านซ้าย จ. เลย)

Advertisement

คำว่า ละคร สะกดอย่างคำบาลี-สันสกฤต ซึ่งในบาลี-สันสกฤตไม่มีคำว่าละคร แต่ไทยสะกดเลียนแบบตามความเข้าใจเอง ส่วนเอกสารโบราณ เช่น กฎหมายตราสามดวง สะกดว่า ลคร (ไม่มีสระอะ)
รากศัพท์ของละครมาจากคำในภาษาชวา-มลายู สะกดอย่างสากลว่า LAKON หรือ LAKUN เขมรรับมาออกเสียงว่า ละ-โคน

ส่วนไทย รับมาออกเสียงตามเขมรว่า ละ-โขน กับ ละ-คอน ปัจจุบันเขียนว่า โขน กับ ละคร

นักปราชญ์รุ่นก่อนในกรมศิลปากรสะกดว่า ละคอน อธิบายว่าเป็นคำยืมจากชวา-มลายู ไม่ได้มาจากบาลี-สันสกฤต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image