ความหมายของการเลือกตั้งและการเลือกตั้งที่มีความหมาย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ใช้ศัพท์โบราณนิดนึงก็คงต้องใช้คำว่าเสียงปี่เสียงกลองของการเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นการอภิปรายเรื่องของการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่น่าพูดถึงในสัปดาห์นี้ในสองประเด็นหลัก

หนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งกับประชาธิปไตย

สองคือ องค์ประกอบที่สำคัญของการเลือกตั้ง ยิ่งโดยเฉพาะการเลือกตั้งในระยะเปลี่ยนผ่าน

1.ความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งกับประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับที่การเลือกตั้งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ใช่เรื่องเดียวกับประชาธิปไตย แต่การจะถกเถียงเรื่องนี้ควรจะทำความเข้าใจที่มาที่ไปสักนิดหนึ่งว่าทำไมการเลือกตั้งถึงกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับประชาธิปไตย

Advertisement

กล่าวคือ การให้คำนิยามประชาธิปไตยนั้นอาจจะมีอยู่หลายอย่าง แต่เรื่องสำคัญๆ นั้นอาจจะกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยมักจะถูกนิยามอยู่สามแบบใหญ่ สองแบบแรกคือ คำนิยามที่ว่าด้วยเรื่องของ “ที่มาของอำนาจ” และ “เป้าหมายของการปกครอง”

อธิบายง่ายๆ คือการนิยามประชาธิปไตยด้วยมิติของ “ที่มาของอำนาจ” นั้น เราพยายามทำความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองนั้น “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ประชาชน ซึ่งในบ้านเราผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะชอบถกเถียงในเรื่องของการใช้ศัพท์คำนี้

ทีนี้ไอ้การอธิบายว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากประชาชนนี้บางครั้งมันก็ไม่ค่อยชัดเจน เพราะบางครั้งการนิยามคำว่าประชาชน หรือการให้คุณสมบัติประชาชนมันก็ไม่เท่ากัน บางยุคบางสมัยคนไม่เท่ากัน ขนาดเป็นทาสก็อาจไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง หรือรัฐบาลเผด็จการที่ชอบเปิดศูนย์ร้องเรียนให้ประชาชน บางทีก็เป็นการทำให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเฉยๆ แต่การตัดสินใจก็ไม่ได้มาจากประชาชน

Advertisement

ยิ่งคำนิยามที่สองยิ่งเกิดประเด็นถกเถียงกันเพิ่มเติม ได้แก่ คำนิยามในมิติของเป้าหมายการปกครอง เพราะระบอบการปกครองโดยทั่วไปก็มักจะอ้างกันอยู่แล้วว่า “ทำเพื่อประชาชน” หรือ “หัวใจคือประชาชน” อย่างประเภทที่อ้างว่า เป็นประชาธิปไตยร้อยละ 99.9 นั้น พูดกันตรงๆ ว่าเราก็ไม่สามารถไปด่าทอเขาอย่างเสียๆ หายๆ ได้ว่าพวกเขาไม่ทำเพื่อประชาชน เพียงแต่ว่าประชาชนไม่ได้กำหนดเป้าหมายนั้นเองมากกว่า

จึงนำมาสู่คำนิยามในมิติที่สามได้แก่เรื่องของการนิยามประชาธิปไตยในมิติของ “กระบวนการ” (procedural definition) ซึ่งนิยามกันว่า เป็นการจัดการที่มีการลงหลักปักฐานกันมาอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองที่บุคคลต่างๆ ได้มาซึ่งอำนาจในการตัดสินใจผ่านการแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงของประชาชนที่เลือกเข้ามา

คํานิยามของประชาธิปไตยในมิติกระบวนการจึงเป็นที่มาสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งและการศึกษา สนใจการเลือกตั้งอย่างพิสดารกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประชาธิปไตย และทำให้นัก “รัฐศาสตร์” มองเห็นความเป็นไปได้ในการวัดประเมินที่ชัดเจนขึ้นถึง “ระดับ” ของประชาธิปไตย และการกำหนด “ยุทธศาสตร์” ในการจรรโลงประชาธิปไตย (democratization) หรือการก้าวเข้า/เปลี่ยนผ่านสู่สังคมประชาธิปไตย และสามารถนำไปเปรียบเทียบประสบการณ์ของแต่ละประเทศได้

เงื่อนไขอื่นๆ ที่ตามมาก็คือการยอมรับในประชาคมโลกที่ว่าด้วยเรื่องของประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับมากกว่าระบอบการเมืองอื่น อาจจะมีประเด็นย่อยอีกสองประเด็น

หนึ่งคือ เชื่อกันว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยเป็นประเทศที่จะสร้างสันติภาพให้แก่โลกได้มากกว่า เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักจะไม่ค่อยสร้างสงครามกับประเทศอื่น หรือถ้าสร้างก็มีอัตราที่น้อยกว่าประเทศเผด็จการ

สองคือ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกมักมองว่าประชาธิปไตยทำให้ผลประโยชน์ของประเทศเขาในประเทศอื่นๆ เหล่านั้นได้รับการปกป้องมากกว่าและง่ายกว่า แต่เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ่อยครั้ง

ที่เล่ามาคือที่มาที่ไปว่าทำไมการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญต่อประชาธิปไตย และสิ่งที่ควรเชื่อมต่อก็คือระบอบประชาธิปไตยนั้น นับแต่อดีตก็เป็นที่ยอมรับว่านอกเหนือจากเรื่องของการปกครองโดยเสียงข้างมาก หรือการปกครองโดยประชาชนแล้วนั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญที่สุดไปที่ “คุณค่า” ของ “เสรีภาพ”

นี่คือที่มาว่าระบอบประชาธิปไตยจึงมักเชื่อมโยงกับคำว่าเสรีภาพและเชิดชูเสรีภาพ หรือขั้นตอนการเรียกร้องประชาธิปไตยจึงเกี่ยวพันกับเสรีภาพ

ในอีกด้านหนึ่งเรื่องที่เราต้องระวังและมีสติกับมันก็คือ ในระบอบประชาธิปไตยแต่โบราณ ประชาธิปไตยก็ไม่ถูกใช้หรืออ้างอิงกับเป้าหมายทางการปกครองอื่นๆ หรือประชาธิปไตยไม่ใช่ยาสารพัดโรค เช่น ประชาธิปไตยจะทำให้เกิดความมั่งคั่ง ประชาธิปไตยจะเชิดชูคุณธรรม จริยธรรม แต่ความท้าทายก็คือประชาธิปไตยจะทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างไร และภายใต้เงื่อนไขอะไร

เงื่อนไขหนึ่งที่ประชาธิปไตยถูกมองว่าสามารถบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ได้มากขึ้นก็เกิดจากว่า ในโลกสมัยใหม่นั้น ประชาธิปไตยเป็นทั้งความใฝ่ฝันและเงื่อนไขของคนสมัยใหม่ที่ต้องการหลุดจาก/ต่อรองกับอำนาจการครอบงำของสถาบันการปกครองรูปแบบเก่า โดยเฉพาะการเกิดของคนชั้นกลางใหม่ที่ต้องการเสรีภาพทั้งในแง่การปกครอง และ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมในการทำมาหากิน และดำรงชีวิต แต่ทั้งนี้หากศึกษาลงไปในประวัติศาสตร์ เงื่อนไขอื่นๆ ก็จะเข้ามาเสริมให้ประชาธิปไตยนั้นยั่งยืนอีก เช่น ความเข้มแข็งของชนชั้นล่าง การยินยอมเข้าสู่กติกาใหม่ของชนชั้นสูงและความเข้มแข็งของรัฐ เป็นต้น

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ขอเน้นย้ำว่าการเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญกับประชาธิปไตย เพราะมันเป็นกระบวนการสำคัญที่สร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งได้ หากการเลือกตั้งถูกพิจารณาควบคู่กับเงื่อนไขสำคัญอีกสองประการ ได้แก่ การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในหลายรูปแบบ (ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในนั้น) และการเปิดให้มีคนที่เห็นต่างและคัดค้านรัฐบาลได้ ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันในการได้มาซึ่งอำนาจของประชาชน และอำนาจก็จะมีลักษณะชั่วคราว ตามวาระ ฝ่ายค้านมีโอกาสชนะได้ในครั้งต่อๆ ไป อีกทั้งการเลือกตั้งก็จะเป็นตัวตรวจสอบว่าการปกครองบรรลุเป้าหมายเพื่อประชาชนจริงหรือไม่

แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่า ในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยนั้น การเลือกตั้งยังจะต้องถูกเสริมมิติอื่นๆ เข้าไปอีก (แต่ไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้ง) เพื่อให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเรื่องของสิทธิมนุษยชน การจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิประชาชน (ไม่ใช่อ้างว่ารัฐมีไว้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิกันเองของประชาชน เพราะบ่อยครั้งรัฐนั่นแหละที่ละเมิดสิทธิประชาชน) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย เป็นต้น

2.องค์ประกอบสำคัญของการเลือกตั้ง จึงมาสู่การตั้งคำถามว่าในการเลือกตั้งที่จะเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่มีคุณภาพของประชาธิปไตยนั้น หากเราพิจารณาว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้มาซึ่งประชาธิปไตย นักยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยจะไม่ได้สนใจว่าจะต้องรณรงค์ให้ประชาชนเลือกคนดี เพราะความดีของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และบางครั้งความดีกลายเป็นอาวุธทางวาทกรรมไว้ทิ่มแทงฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยครั้ง

การรณรงค์และตรวจสอบการเลือกตั้งจึงประกอบไปด้วยส่วนสำคัญสี่ประการ

2.1 การเลือกตั้ง “เสรี” ไหม (free) กล่าวคือ ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกผู้สมัครได้ไหม ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ มีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคนไหม (ในระเบียบก็จะมีว่า หากมีแค่รายเดียว ก็จะต้องได้รับเสียงจำนวนหนึ่งที่มีนัยสำคัญด้วย ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้มีคุณสมบัติของความเป็นตัวแทนของประชาชนได้)

2.2 การเลือกตั้ง “เป็นธรรม” ไหม (fair) หมายถึงว่า เปิดให้แข่งขันกันไหม สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบไหม บางพรรคเริ่มหาเสียงได้ก่อนพรรคอื่นไหม รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจถ้าต้องการลงมาเลือกตั้งก็จะต้องมีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อไม่ไปอนุมัติโครงการอะไรในช่วงที่มีการแข่งขันกัน

ความเป็นธรรมในการเลือกตั้งยังหมายถึงกฎกติกาที่ใช้กันทั่วไปกับทุกพรรค ไม่ใช่บางพรรคทำอะไรก็ผิดไปหมด บางพรรคทำอะไรก็ไม่มีใครมองว่าผิด นอกจากนั้นต้องพิจารณาว่ากระบวนการทุจริตการเลือกตั้งถูกลงโทษอย่างเท่าเทียมกันไหม หรือกลายเป็นอาวุธให้ฝ่ายผู้มีอำนาจใช้เล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง

2.3 การเลือกตั้ง “จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ” ไหม (regular) ไม่ใช่ไม่รู้สักทีว่าจัดเมื่อไหร่ ไม่มีการกำหนดที่แน่นอนชัดเจน เลื่อนไปเรื่อยๆ

2.4 การเลือกตั้ง “มีความหมาย” ไหม (meaningful) ดังนั้นการที่ประชาชนจะมีส่วนในการเลือกตั้งจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการถูกสั่งให้ไปแสดงตนเป็นพลเมืองเพียงแค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในฐานะ “การทำหน้าที่” แต่เพียงเท่านั้น หรือเข้ามีส่วนร่วมในการสังเกตการเลือกตั้งในความหมายของการไป “จับทุจริต” การเลือกตั้งเพื่อให้บรรลุถึงมิติของเสรีภาพ และความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง

แต่ยังต้องหมายรวมไปถึงการร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศของการเลือกตั้งให้เต็มไปด้วยความหวังและเหตุผลสาธารณะว่าการเลือกตั้งจะมีความหมายกับประชาชนอย่างไร

อนึ่ง ความท้าทายในการสร้างสรรค์ให้การเลือกตั้งมีความหมายต่อประชาชน และมีความหมายต่อคุณภาพและความยั่งยืนของประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ยากหากเราเผชิญหน้ากับความจริงสำคัญสองประการ

หนึ่งคือ เมื่อประชาชนรู้สึกว่ากฎกติกาหลายๆ อย่างในการกำกับดูแลการเลือกตั้งมันไม่เป็นธรรม มันเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือมันมีเป้าประสงค์ที่จะจัดการกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเป็นพิเศษ ประเด็นนี้จะลึกซึ้งกว่าเรื่องความเป็นธรรมของการเลือกตั้งที่ได้กล่าวไปแล้วตรงที่ว่า เมื่อประชาชนรู้สึกว่ากฎระเบียบและกติกาของการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เขาอาจไม่อยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมนั้นเป็นไปในแบบที่ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของเขาจริงๆ หรืออาจลามไปถึงว่า เขาไม่ได้มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว

สองคือ เมื่อประชาชนรู้ว่าข้อเสนอต่างๆ ของนักการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาเลือกตั้งนั้นเป็นข้อเสนอที่สร้างประโยชน์แต่กับตัวนักการเมือง และกลุ่มที่สนับสนุน แต่ไม่ใช่ข้อเสนอของประชาชนและสังคมทั้งหมด หรือมองว่านักการเมืองทุกกลุ่มนั้นก็มีข้อเสนอคล้ายๆ กัน เลือกไปก็เท่านั้น

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ภาระการทำให้การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่มีความหมายและจรรโลงประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องแค่การเรียกร้องและจับตาว่าจะมีใครโกง หรือจะมีใครได้เปรียบจากระบบเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึงเรื่องของการติดตาม ตั้งคำถามกับข้อเสนอต่างของนักการเมือง หรือบรรดาพรรค (พวก) ที่พยายามไปอิงคน “คนที่ไม่ประกาศตัวเป็นนักการเมืองแต่เริ่มสนใจการเมือง” ด้วย

โดยเงื่อนไขความจำเป็นของการทำให้การเลือกตั้ง “มีความหมาย” นี้เองที่เป็นเงื่อนไขที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้งไม่ถูกผูกขาดอยู่กับองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานรัฐที่อ้างว่าหวังดีและทำเพื่อประชาชน แต่ประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนต่างๆ จะสามารถสร้างสรรค์การเข้าร่วมทางการเมืองได้มากกว่าการเข้าคูหาและการเป็นสมาชิกพรรค หรือลงสมัครรับเลือกตั้ง

กล่าวง่ายๆ ก็คือ การเรียกร้องให้ปลดล็อกการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องของการเปิดให้พรรคการเมืองหาเสียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สร้างสรรค์การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีความหมาย และทำให้การเลือกตั้งมีความหมายทั้งกับพวกเขาและกับประชาธิปไตยในระยะยาวมากกว่าเรื่องแค่มิติทางกฎหมายและการทุจริตเท่านั้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image