สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระรถ เมรี, สุธน มโนห์รา ละครชาวบ้านเก่าสุด ยุคอยุธยา

พระรถขี่ม้าวิเศษเหาะหนีออกจากเมืองยักษ์ของนางเมรี เพื่อเอายาวิเศษไปรักษาป้าและแม่ จิตรกรรมปลาย ร.3 บนผนังบานแผละในโบสถ์วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ (บานแผละ คือ ผนังตอนที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหารเมื่อเปิดเข้าไปแล้วแตะอยู่)

ละครชาวบ้านเก่าสุดยุคอยุธยา ราว 500 ปีมาแล้ว ได้แก่ พระรถ เมรี กับพระสุธน มโนห์รา มีคนนิยมชมชอบมากที่สุดตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 2000
เพราะละครทั้ง 2 เรื่อง มีโครงสร้างการดําเนินเรื่องแบบบ้านๆ ไม่ตายตัว อาจปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาให้ถูกจริตชาวบ้านยุคนั้น

ต่างจากละครชาววัง หรือละครหลวง ที่เรียกกันสมัยหลังๆ ต่อมาว่าละครใน เป็นการละเล่นตามเรื่องพงศาวดารยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน กับยอยกศาสนาที่ได้จากชาดกและคัมภีร์จากอินเดีย

พระรถ เมรี (หรือนางสิบสอง) ที่กลับชาติเกิดใหม่เป็นพระ สุธน มโนห์รา เป็นตํานานบรรพชนลาวลุ่มน้ำโขง ติดตัวกลุ่มชนที่ทยอยโยกย้ายลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1500 แล้วฟักตัวอยู่ในรัฐสุพรรณภูมิ (มีศูนย์กลางอยู่บริเวณสุพรรณบุรี) กับรัฐเพชรบุรี ฯลฯ หลังจากนั้นจึงแพร่กระจายลงไปถึงรัฐนครศรีธรรมราช
ศิลปวัฒนธรรมแบบลุ่มน้ำโขงจากรัฐสุพรรณภูมิทยอยเข้าสู่อยุธยา เมื่อพระราชารัฐสุพรรณภูมิในตระกูลไทย-ลาว ยกกําลังไพร่พลยึดครองรัฐอยุธยาราวหลัง พ.ศ. 1952 แล้วปะปนกับศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนเป็นแบบมอญ-เขมร

นับแต่นี้ไป เป็นยุคใหม่ของศิลปวัฒนธรรมอยุธยา (แบบไทย-ลาว ปน มอญ-เขมร) ที่ต่อไปจะเรียกว่า ไทย
ศิลปวัฒนธรรมอยุธยาทั้งของราชสํานักและของราษฎร ที่มีหลักฐานและร่องรอยว่ามีรากเหง้าจากลุ่มน้ำโขง เช่น สําเนียงหลวงของอยุธยาเหน่อแบบลาวลุ่มน้ำโขง, แถนของลาว แต่ไทยเรียกขุนแผน, ระเบ็ง ซึ่งเป็นการละเล่นในราชสํานัก มีขึ้นจากเซิ้งบั้งไฟของลาวและเรือมตรูจของเขมร, โคลงไทยได้จากโคลงลาว, ขับเสภามาจากลุ่มน้ำโขง ฯลฯ
พระรถ เมรี ตํานานบรรพชนลาว ได้รับยกย่องเป็นนิยายคําบอกเล่าความเป็นมาของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่ใช้ขับลํายอพระเกียรติและขับกล่อมพระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image