ความจริงข้างเดียว

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 180 ง วันที่ 12 กันยายน 2557 หน้า 9 มีข้อความดังนี้ 6.10 ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้จัดเก็บได้อย่างครบถ้วน โดยปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้คงอัตราภาษีเงินได้ไว้ในระดับปัจจุบัน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้าและขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยให้น้อยที่สุด รวมทั้งปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

ครับ ต้องเอาของจริง ของแท้ คำแถลงนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษาฉบับที่ว่าข้างต้นมา บอกกล่าว ตอกย้ำกันอีกครั้ง

ในโอกาสที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติแถลงโชว์ผลงานสี่ปีที่ผ่านมา มีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา 347 ฉบับ สนช.ให้ความเห็นชอบสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 315 ฉบับ ร่างกฎหมายที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระที่หนึ่ง 6 ฉบับ บรรจุในระเบียบวาระที่สอง 26 ฉบับ กฎหมายที่ประกาศใช้แล้วมีประโยชน์มากมาย อาทิ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลคดีทุจริต เป็นต้น ก็ว่ากันไป

แต่ที่ยังไม่ผ่านและไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะผ่านออกมาใช้บังคับสำเร็จภายในเวลาที่เหลืออีกไม่นานจนถึงการเลือกตั้งปีหน้า มีกฎหมายสำคัญอะไรบ้างที่สมควรจะต้องเร่งเข็นออกมาใช้ กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องชี้วัดผลงานด้วยเช่นกันแต่ไม่อยากพูดถึงเท่าไร เพราะเป็นเหมือนหนามตำใจ สะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่ง คือ ด้านที่ล้มเหลว เสียของ

Advertisement

หนึ่งในกฎหมายเหล่านี้ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ท่านผู้นำแถลงเสียงดังฟังชัดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 12 กันยายน 2557

ถึงวันนี้ กฎหมายฉบับนี้ควรออกมาใช้บังคับหรือไม่ยังถกเถียงกันไม่จบ นั่นประเด็นหนึ่ง แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือเมื่อรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายสำคัญ เป็นสัญญาประชาคมแล้ว ทำไมถึงไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ สาเหตุเกิดจากอะไร

เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่บัญญัติกฎหมายเห็นต่างกันจนไม่สามารถหาข้อยุติได้ หรือเพราะผู้เสนอกฎหมายแบบขอไปที ยกร่างแล้วก็แล้วกัน หมดหน้าที่่ฉัน ไม่ใช้พลังที่มีทั้งหมดผลักดันต่อไปจนออกมาได้ ต้องพ่ายแพ้ จำนนต่อการคัดค้านของผู้ถือครองทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล แต่มีจำนวนน้อยกว่าคนเล็กคนน้อย หลายร้อยพันเท่า

Advertisement

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ สิ่งที่พูด สิ่งที่เขียนไว้ก็กลายเป็นว่า แค่ทำให้ดูสวยหรู เพื่อภาพลักษณ์และคะแนนนิยม มากกว่าความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม อย่างที่พร่ำบ่น

นับแต่คณะรัฐมนตรีรับหลักการวันที่ 21 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการวาระแรกวันที่ 31 มีนาคม 2560 ขั้นตอนการพิจารณาขอขยายเวลาครั้งละ 60 วัน ถึง 8 ครั้ง

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคุยนักคุยหนาว่า ยุคประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง พรรคการเมือง นักการเมืองมีบทบาท ไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญๆ ได้มากเท่า สนช. แต่พอมาถึงกฎหมายฉบับนี้ความเป็นจริงเป็นอย่างไร อำนาจพิเศษต่างๆมากมาย ทำไมถึงบัญญัติออกมาใช้บังคับไม่ได้

การอ้างความไม่พร้อมของหน่วยราชการซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บไม่ว่าราชการส่วนกลางหรือท้องถิ่น เป็นเพียงข้อขัดข้องทางเทคนิคเพียงประการหนึ่งเท่านั้น

ปัญหาสำคัญ คือ การขัดขวาง ไม่ยินยอมของฝ่ายคัดค้านที่มีอำนาจและเสียงดังกว่า ขณะเดียวกันยกข้ออ้างว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพราะทำให้ต้นทุนการผลิต การค้า และบริการเพิ่มสูงขึ้น ทางที่ถูกควรหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วยวิธีการอื่นมากกว่าเก็บภาษีทรัพย์สิน

ฝ่ายที่เห็นด้วย กับฝ่ายไม่เห็นด้วย ต่างล้วนมีใเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมื่อที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศเป็นนโยบายออกมาแล้ว แสดงว่า เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนนี้มาใช้บังคับ รายละเอียดเป็นอย่างไรนั้นเป็นประเด็นรอง

เมื่อไม่สามารถผลักดันออกมาได้ ทำให้กฎหมายนี้ต้องถูกแช่แข็งต่อไปอีก จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า แท้จริงแล้ว สำหรับคนเล็กคนน้อย คนส่วนใหญ่ของสังคม โมเดลแม่น้ำห้าสาย พึ่งได้จริง แค่ไหน

ควรฝากอนาคตประเทศไว้ต่อไป หรือควรหยุดการเมืองที่ไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบ สองมาตรฐานนี้ได้แล้ว กันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image