วีรพงษ์ รามางกูร : การตัดสินใจด้วยอารมณ์

ควันหลงจากการออกเสียงประชามติของประชาชนชาวอังกฤษหรือชาวสหราชอาณาจักร ที่ลงมติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่การอยู่ในสหภาพยุโรปของอังกฤษย่อมเป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับอังกฤษมหาศาล เมื่อเทียบกับการแยกตัวออกมาเป็นประเทศโดดเดี่ยวที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพ คนอังกฤษก็รู้ดี

ในทางเศรษฐกิจ การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดใหญ่เป็นที่ 2 รองจากนาฟต้า หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ อันประกอบไปด้วย อเมริกา แคนาดาและเม็กซิโก ย่อมสร้างประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน โดยดึงเอาประโยชน์จากประเทศที่อยู่นอกองค์กรของตน เท่ากับว่าสหภาพยุโรปเป็นเสมือนประเทศหนึ่งในแง่ตลาดสินค้าและบริการ

ในด้านการเมือง การเจรจาการเมืองในฐานะประเทศที่สมาชิกในสหภาพยุโรปทำให้มีน้ำหนักอย่างมหาศาล มากกว่าที่จะแยกการเจรจาออกเป็นประเทศๆ ไป ทันทีที่สหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงในประเด็นใด ต่างประเทศก็จะต้องเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นส่วนรวม เกือบจะไม่มีประเด็นใดที่เจรจาเป็นรายประเทศได้ ประเด็นที่ต้องเจรจากับสหภาพก็คือประเด็นการค้าภาษีศุลกากรและมาตรการที่จะกระทบกระเทือนต่อการค้ากับประเทศต่างๆ เป็นรายประเทศ การเจรจากับสหภาพแทนที่จะเจรจาเป็นรายประเทศ สหภาพยุโรปย่อมได้เปรียบ เพราะมีอะไรจะเสนอให้กับประเทศต่างๆ เป็นรายประเทศมากกว่า ขณะเดียวกันมาตรการที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันกับประเทศอื่นๆ ภาระที่แต่ละประเทศต้องรับก็แบ่งเบาไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพด้วย ไม่ใช่รับภาระไว้แต่ประเทศเดียวเหมือนกรณีไม่ได้รวมกันเป็นสหภาพ

ยิ่งมีการประกาศเลิกใช้เงินสกุลต่างๆ ของแต่ละประเทศในสหภาพ โดยใช้เงินสกุลที่สร้างขึ้นมาใหม่ คือ เงินยูโร หรือ Euro หรือ (€ สัญลักษณ์สกุลเงินยูโร) การเลิกเงินสกุลต่างๆ ของแต่ละประเทศและทุกประเทศในสหภาพแล้วหันมาใช้เงินสกุลเดียวกัน ย่อมทำให้ปัญหาความยุ่งในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนหมดสิ้นไป ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศสามารถลดปริมาณเงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศลงมาได้ อังกฤษก็จะยิ่งเสียเปรียบในแง่ความมั่นคงของเงินตราหรือเงินปอนด์ของตัวเมื่อเทียบกับเงินยูโร

Advertisement

การเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นสกุลเงินยูโร หากประเทศใดประเทศหนึ่งในสหภาพมีปัญหาเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดก็เป็นการขาดดุลกันเองในกลุ่ม การขาดดุลที่เกิดขึ้นจึงเป็นเงินยูโรไม่ใช่เงินดอลลาร์สหรัฐ ปัญหาการจัดการก็ง่ายกว่า ไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพราะอาจจะแก้ไขด้วยเงินยูโรแทนเงินดอลลาร์ เพราะเงินยูโรก็ได้รับการยอมรับมากพอๆ กับเงินดอลลาร์ เพียงแต่ธนาคารกลางยุโรปซึ่งเป็นผู้ออกเงินยูโรยังควบคุมปริมาณเงินยูโรอยู่อย่างเคร่งครัด ยังไม่อยากให้เงินยูโรเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้กันระหว่างประเทศมากนัก แต่ออกมาอยู่นอกสหภาพยุโรปย่อมเป็นลูกไล่ของไอเอ็มเอฟเมื่อมีปัญหา เหมือนกับเมืองไทยสมัยที่มีปัญหา

ในแง่นี้การทำประชามติโดยอารมณ์ชั่ววูบของรัฐบาลอังกฤษและประชาชนอังกฤษ ลงคะแนนประชามติให้ออกจากสหภาพยุโรป ย่อมทำให้อังกฤษสูญเสียมหาศาล ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง

ความที่อังกฤษซึ่งเคยเป็นประเทศมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลก ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีใครเทียบสหราชอาณาจักรได้ ต่อมาจึงได้สูญเสียตำแหน่งนั้นให้กับอเมริกา และต้องคอยให้เอกราชกับประเทศในอาณานิคมของตนจนหมดสิ้น ส่วนหนึ่งก็ด้วยแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาเพราะขัดกับหลักการของสหรัฐอเมริกาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ด้วยอารมณ์เพียงวูบเดียวของชาวอังกฤษ เป็นช่วงเวลาที่กระแสชาตินิยมในอังกฤษกำลังรุนแรง มารู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เมื่อคราวชนะเลือกตั้งก็ด้วยชูนโยบายแยกตัวออกจากสหภาพ คงจะกลับตัวไม่ได้แล้ว อังกฤษจึงเป็นเพียงประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งขององค์การค้าระหว่างประเทศเท่านั้น ในสายตาของสหภาพยุโรป

ความรู้สึกว่าตนจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เกิดขึ้นในขณะที่เทเรซา เมย์ กำลังเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรปว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างไรกับสหภาพยุโรป จะเป็นความสัมพันธ์ธรรมดาในฐานะประเทศหนึ่งขององค์การค้าโลก หรือจะมีความสัมพันธ์พิเศษที่จะเป็นภาคีหนึ่งสำหรับเขตการค้าเสรี ซึ่งไม่แนบแน่นเช่นเดียวกับการเป็นประเทศหนึ่งในสหภาพ

คนอังกฤษนั้นแปลก มักจะคิดว่าตนยิ่งใหญ่มหาศาลกว่าคนชาติอื่นๆ เมื่อยึดถืออุดมการณ์หรือยึดมั่นอยู่อย่างนั้น จึงแก้ไขไม่ได้โดยง่าย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปตะวันตก ภายใต้อิทธิพลของสหภาพสังคมนิยมโซเวียต กระแสสังคมนิยมพัดแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง การสถาปนาประเทศสังคมนิยมเกาหลี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและคิวบา อังกฤษยืนหยัดว่าจะไม่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แต่จะเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคแรงงานก็เข้มแข็งขึ้น สามารถเอาชนะพรรคทอรี่ หรือที่นิยมเรียกพรรคอนุรักษนิยมเพราะเป็นพรรคของคนชั้นสูง พรรคแรงงานหรือพรรคกรรมกรมีอาวุธสำคัญก็คือการประท้วงด้วยการหยุดงาน

อังกฤษอุดมสมบูรณ์ไปด้วยถ่านหิน เหมืองถ่านหินของอังกฤษเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ติดอันดับโลก เมื่อใดก็ตามที่พรรคกรรมกรร่วมมือกับสหภาพกรรมกร หรืออังกฤษเรียกว่า Trade Union ประกาศหยุดงาน โดยเฉพาะชาวเหมืองถ่านหิน ซึ่งอังกฤษต้องใช้จุดเตาผิงในฤดูหนาว และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของอังกฤษ

นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ จากพรรคอนุรักษนิยม เป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง เอาชนะอาร์เจนตินาที่ส่งกองกำลังเข้ามายึดเกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับอาร์เจนตินา ขณะเดียวกันไม่ยอมโอนอ่อนให้กับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน เป็นเหตุให้สหภาพแรงงานระดับประเทศหรือ Trade Union ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาล หยุดงานกันทั่วประเทศ ทั้งไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ โรงงาน โรงแรม

การที่สหภาพประกาศหยุดงาน สหภาพต้องจ่ายเงินชดเชยให้กรรมกรที่เป็นสมาชิกของสหภาพแทนนายจ้าง เมื่อเงินของสหภาพแต่ละแห่งถูกจ่ายออกจนหมด ก็อาจจะขอยืมเงินจากสหภาพระดับสูงขึ้นไปมาจ่ายได้จนถึงระดับประเทศ

ในขณะนั้นสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหินที่มีสมาชิกมากที่สุดได้ประกาศหยุดงาน มาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีประกาศสู้ ไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของสหภาพ ขอให้ประชาชนอดทนด้วยการลดใช้ถ่านหินลง เพราะรัฐบาลต้องยอมเสียเงินนำเข้าถ่านหินมาใช้ แต่ก็มีจำนวนไม่มากพอเท่ากับการขุดภายในประเทศ

การประท้วงหยุดงานของกรรมกรเหมืองถ่านหินยืดเยื้อเป็นเวลานานเกือบปี และผ่านฤดูหนาวไปได้โดยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง เพราะประชาชนเบื่อหน่ายสหภาพแรงงานที่ทำให้อังกฤษล้าหลังประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ทั้งๆ ที่ตนเป็นประเทศชนะสงคราม ขณะที่เยอรมนีเป็นประเทศแพ้สงคราม แต่กลับก้าวหน้ามากกว่า

ทุกวันนี้ อังกฤษจึงเหมือนคนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รู้ตัวว่าทำผิดไปแล้วที่ไปจัดให้มีการลงประชามติ เพราะไม่นึกว่าประชาชนจะลงคะแนนเสียงให้ออกจากสหภาพ เพราะเรื่องสลับซับซ้อนอย่างนี้ ประชาชนคนเดินถนนกินปลาชุบแป้งทอดกับมันฝรั่งหรือ fish & chip ไม่อาจจะเข้าใจได้ง่ายๆ ประชามติที่ออกมาจึงใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วจึงรู้ว่าตัดสินใจผิด

เหมือนคนไทยที่ไม่ถนัดในการใช้เหตุผลตัดสินใจในประเด็นหรือนโยบายสาธารณะ แต่ใช้อารมณ์ในขณะนั้นๆ ตัดสินใจ เมื่อทหารร่วมมือกับนักจัดเดินขบวน จัดตั้งกลุ่ม กปปส. ระดมประชาชนโดยการใช้วาทศิลป์เร้าใจ กระตุ้นผู้คนจำนวนมากให้เกิดอารมณ์ อ้างว่าได้จำนวนเป็นแสนเพื่อปูทางให้ทหารทำปฏิวัติรัฐประหาร

ทหารซึ่งเป็นหน่วยราชการภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล ประกาศใส่ “เกียร์ว่าง” กล่าวคือประกาศไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาล ประกาศตน “เป็น
กลาง” ระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล ซึ่งเท่ากับเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล รัฐบาลไหนประเทศไหนเจอแบบนี้ก็ต้องล้ม เพราะทหารนั้นมีปืน รัฐบาลมีเพียงกฎหมาย เสียงกฎหมายย่อมแผ่วลงท่ามกลางชุมชนที่ชูปืนเป็นของธรรมดา

ด้วยอารมณ์ที่ไปตามกระแส ปราศจากเหตุผล ก็หันกลับไปสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร โดยหวังว่าทหารจะเข้ามาไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่เพียง 3 เดือน แก้รัฐธรรมนูญมาตราเดียวแล้วก็ไป แต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนี้ อยู่มาจนบัดนี้ 5 ปีแล้วก็ยังคิดจะต่อท่ออยู่ต่อ ผู้ที่เรียกร้องเผด็จการทหารที่คิดว่าจะอยู่ชั่วคราวจึงพูดไม่ออก

ไม่มีใครทราบว่าระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลใดฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชั่นมากกว่ากัน รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตรวจสอบได้ อภิปรายในสภาได้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินถูกซักถามรายละเอียด 3 วัน 3 คืน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณของรัฐบาลทหารอนุมัติโดยสภาฝักถั่วซึ่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินออกมาใช้เป็นกฎหมาย

ความจริงแล้วสื่อมวลชนในยุคเผด็จการทหาร ควรจะต้องเข้มแข็งในการตรวจสอบแทนประชาชน เพราะเป็นยุคที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนในสภานิติบัญญัติเป็นผู้ตรวจสอบให้ แต่การกลับกลายเป็นว่าสื่อมวลชนแข็งขันในการตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นสมัครพรรคพวกกับรัฐบาลทหาร ไม่กล้าตรวจสอบหรือไม่อยากตรวจสอบรัฐบาลที่มาด้วยวิถีทางยึดอำนาจจากปวงชน หัวเราะเล่นหัวกับหัวหน้าเผด็จการอย่างสนุกสนานชื่นมื่น เป็นพวกเดียวกันไปเสียแล้ว ดูๆ แล้วเหมือนประชาชนไม่มีทางเลือกในการตรวจสอบการใช้เงินภาษีอากรของตนเอง

แม้แต่ไม้ล้างป่าช้า GT200 ที่ใช้ตรวจระเบิด ซึ่งเห็นกันชัดๆ ว่าไม่มีเครื่องยนต์กลไกใดๆ เงินภาษีอากรสูญเสียไปหลายพันล้านบาท

เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทหารบอกว่าเมื่อก่อนมันใช้ได้นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image