คิดได้กับคิดเป็น : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การคิดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนทุกวัย หากต้องการให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดในสิ่งที่ต้องตัดสินใจ ดังนั้น จึงไม่มี “คนปกติ” คนใด อยู่ได้โดยไม่คิด เพียงแต่ความคิดนั้นมี 2 นัยยะ คือ “คิดได้” กับ “คิดเป็น” ทั้งนี้เนื่องจากตัวแปรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องคิดมี 5 ประเด็น ได้แก่

1.ความต้องการทางกายภาพกระตุ้นให้เราต้องคิด ซึ่ง อับราฮัม มาสโลว์ ได้จัดลำดับความต้องการของมนุษย์มี 5 ขั้น ด้วยกัน (Maslow, 1987) ได้แก่ 1.1) ความต้องการทางกายภาพขั้นพื้นฐานทางสรีระ เช่น น้ำ อาหาร การพักผ่อน หรือพูดง่ายๆ คือ “ปัจจัย 4” 1.2) ต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง การงานอาชีพทำให้พอกินพอใช้ 1.3) ความต้องการที่จะได้รับและให้ความรัก 1.4) ความต้องการเห็นคุณค่าของตนเอง ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นและสังคม ทั้งนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจ มั่นคง 1.5) ความต้องการประสบความสำเร็จทั้ง 5 เรื่องนี้ชีวิตคนเราส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่เช่นนี้ในเรื่องความเป็นอยู่ การตอบสนองต้องการทางกายภาพและจิตใจ

2.ความอยู่รอดกระตุ้นให้ต้องคิด เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะคิด ในทางตรงข้ามเราจำเป็นต้องคิด หากปรารถนาจะมีชีวิตอยู่รอดยิ่งในชีวิตปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากสลับซับซ้อน วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง ความต้องการมากขึ้น ชีวิตแก่งแย่งกันมากขึ้นต่างกับสมัยก่อน ชีวิตจะอยู่แบบเรียบง่ายจึงเป็นเหตุทำให้ต้องคิดให้เป็น คิดให้ได้ คิดให้ถูกต้อง รวดเร็ว ชีวิตจึงอยู่รอดได้

3.ปัญหากระตุ้นให้คิด ในแต่ละวัน เวลา นาที ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอๆ เราต้องย่อมหาวิธีปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุทำให้เราต้อง “คิด” เพื่อหาเหตุผลในการแก้ปัญหาให้เหมาะสม

Advertisement

4.ความต้องการสิ่งแปลกใหม่กระตุ้นให้ต้องคิด คนเราส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเห็นสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม ความคิดของเราจะคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิมให้เกิดขึ้นเสมอ

5.ความสงสัยกระตุ้นให้คิด นักคิดสมัยกรีกโบราณเป็นผู้วางรากฐานต้นกำเนิดของปรัชญา เนื่องจากเขาสนใจแสวงหา “ความจริง”… “เพลโต” (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก กล่าวไว้ว่า… “ปรัชญาเริ่มต้นจากความรู้สึกแปลกใจ” และความรู้สึกแปลกใจนี้เป็นเหตุให้คนเริ่มคิดเอาจริงเอาจัง คือ ไม่ได้คิดเพื่อความอยู่รอด แต่เป็นการลงแรงกาย ทั้งแรงความคิดและเวลาในการคิดค้น วิเคราะห์ พิสูจน์ หาเหตุผลให้กับสิ่งนั้นๆ

กระบวนการคิดของคนเรา เมื่อเราปรารถนาจะคิดสิ่งใดอันเนื่องมาจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เราจะไม่สามารถคิดออกได้อย่างง่ายๆ เพราะว่าในระหว่างที่เราคิดเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆ นั้นจะมี… “ตัวร่วม” ทางการคิดเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเสมอ “ตัวร่วม” เหล่านี้สามารถเป็นมิตรที่ดี หรืออาจจะเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่พยายามปิดกั้นการคิดของเราก็ได้ ดังนั้น ตัวร่วมของเราทั้งหมดมีอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว คือ ต้นทุนชีวิตอันได้แก่ กรอบโลกทัศน์ นิสัย อารมณ์ และแรงจูงใจ

Advertisement

4 ตัวร่วมนี้เรียกรวมได้ว่ามี “ความเป็นตัวเรา” (Being) เมื่อเรารู้จักความเป็น “ตัวเรา” ดีแล้ว เราจะสามารถนำตัวร่วมเหล่านี้มาใช้เป็น “องค์ประกอบ” ใช้ในการคิดอย่างผสมผสานและสร้างสรรค์ให้บรรลุเป้าหมายการคิดของเราได้

ตัวร่วมที่ 1 กรอบโลกทัศน์/ชีวทัศน์ของมนุษย์ “สภาพแวดล้อม” เป็นปัจจัยสำคัญที่ “หล่อหลอม” รอบตัวคนหรือมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charle’s Darwin): เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณ หรือตอบสนองความต้องการเพียงอย่างเดียว แต่ดำเนินชีวิตอย่างใช้ความคิดใช้เหตุผล และมีความสามารถในการแยกแยะความรับผิดชอบชั่วดีที่มาจากคำสอน ประสบการณ์ ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมที่คนคนนั้นได้รับมาแต่ละขั้นตอนของชีวิต เมื่อสมองได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ “สมอง” จะนำไปคิดอย่างบูรณาการกับประสบการณ์อื่นๆ
ในสมองเพื่อสร้างกรอบโลกทัศน์/ชีวทัศน์ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ไว้และจะเก็บไว้เป็นตัวแปรจำลองทางความคิดในการ “วินิจฉัย” หรือ ตัดสินเรื่องทำนองเดียวกันนี้ต่อไป

ดังนั้น “คน” หรือ “มนุษย์ เราจึงต้องเรียนรู้วิธีคิดที่ถูกต้องเพื่อช่วยให้เราสามารถขยายกรอบโลกทัศน์/ชีวทัศน์ให้กว้างขึ้น และช่วยให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผล “รู้เขารู้เรา” วางกรอบที่เรามีนั้นถูกต้องเหมาะสม หรือผิดพลาดอย่างไร อันจะช่วยให้เราใช้เป็น “ตัวร่วม” ที่สำคัญที่จะผสมผสานกันในระหว่างที่เราคิด เราคิดอย่างไร จะสรุปความคิดของเราออกมาเป็นอย่างไร จะยึดกรอบความเดิมไว้ หรืเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดใหม่โดยทิ้งกรอบความคิดเดิม เมื่อพบข้อเท็จจริงใหม่ๆ ขึ้นอยู่กับการ “ตัดสินใจ” ของเราว่าจะประเมินสิ่งนั้นๆ ตามเหตุผลที่เป็นจริง หรือตัดสินใจตามกรอบโลกทัศน์/ชีวทัศน์ที่เรายึดไว้

ตัวร่วมที่ 2 นิสัย นิสัยกับความคิดมีผลการเชื่อมโยงกับรูปแบบความคิด วิธีคิดของเราเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราจะมีรูปแบบการคิดอย่างอัตโนมัติตามความเคยชินของเรา เช่น การที่เรามีนิสัยเกียจคร้านเป็นทุนเดิม ย่อมส่งผลให้เราเกียจคร้านที่จะคิดไปด้วย ทำให้เราเป็นคนที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ชอบลงแรงในการคิดใคร่ครวญแก้ปัญหา แต่มักจะเป็นคนที่ชอบหาสูตรสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบ หรือการหาคำตอบจากผู้อื่นมากกว่าที่จะค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง

หากเรามีนิสัยชอบวางแผนก่อนทำสิ่งต่างๆ เราจะเป็นคนที่ชอบคิดถึงอนาคต และมักใช้จินตนาการเข้าช่วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต คิดแก้ปัญหา ป้องกันปัญหาล่วงหน้า ก่อนที่จะมาถึง หรือเกิดขึ้น หรือคิดหาหนทางป้องกันทางหนีทีไล่ไว้ก่อน จะช่วยทำให้เราเป็นคนที่ไม่กลัวการเผชิญหน้ากับอนาคต

นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยมีส่วนเข้ามาผสมผสานกับประสบการณ์ทางอารมณ์ เช่น สภาวะอารมณ์ที่หวาดกลัว และนิสัยไม่กล้าแสดงออก อาจส่งผลให้เราไม่กล้าคิดหรือตัดสินใจเรื่องยากๆ หรือคนที่นิสัยกล้าหาญ มักไม่ยอมให้ถูกครอบงำด้วยประสบการณ์ทางอารมณ์ แม้อยู่ในสถานการณ์คับขัน เขาจะสามารถตั้งสติพิจารณาสภาพเนื้อแท้ของสถานการณ์ขณะนั้นได้

“นิสัย” จึงเป็น “ตัวร่วม” ที่สำคัญที่กำหนดว่าเราจะคิดไม่คิด คิดได้ คิดเป็น หรือไม่อย่างไร และทำให้ข้อสรุปจากการคิดที่ได้เป็นอย่างไร

ตัวร่วมที่ 3 อารมณ์ อารมณ์กับความคิด เมื่อเราเกิดอารมณ์ใดๆ ก็ตาม สมองของเรามักจะสร้างภาพในใจ หรือจินตนาการต่อยอดอารมณ์นั้นๆ การคิดด้วยอารมณ์เพียงอย่างเดียวอาจทำให้ตัดสินอย่างผิดพลาดเพราะอารมณ์สามารถส่งแรงกระตุ้นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ในขณะที่เรามีอารมณ์ดี เช่น อยู่ในภาวะที่ประสบความสำเร็จ เรามีความสุข จิตใจเราจะปลอดโปร่ง แจ่มใส สามารถใช้เหตุผลในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้ดี แต่หากอยู่ในอารมณ์เชิงลบ เช่น อารมณ์โกรธอย่างรุนแรง เราอาจไม่พอใจคนที่มาทำให้เราโกรธ โดยขาดการพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ประกอบอย่างรอบคอบ เป็นเหตุให้เราตัดสินใจผิดได้ เพราะความโกรธปิดกั้นสมองส่วนการคิดเชิงเหตุผล

ฉะนั้น อารมณ์เป็นความรู้สึกที่เราไม่สามารถปล่อยให้เป็นใหญ่ ครอบครองความคิดได้ เพราะหากเราปล่อยไปจะมีโอกาสที่จะนำไปสู่การทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์ ดังนั้น คนที่ตกเป็นทาสสนองอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มักจะมีพัฒนาความคิดที่ผิดปกติไม่สามารถดำเนินชีวิตในทางที่ควรจะเป็นได้ สภาวะอารมณ์มีผลอย่างยิ่งในการกำหนดรูปแบบการคิดของเรา การใช้เหตุผลของเราจะบิดเบี้ยว หรือเหมาะสมครบถ้วนขึ้นอยู่กับว่าเราให้อารมณ์มี “ส่วนร่วม” หรือ “ตัวร่วม” ในการคิดของเรามากน้อยเพียงใด

ตัวร่วมที่ 4 แรงจูงใจ แรงจูงใจมีผลต่อการคิดไม่คิดของคน คนบางคนจะคิดต่อเมื่อคิดแล้วได้รับการยกย่อง ยอมรับ หรือได้รางวัลจากคนรอบข้างและสังคม แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราคิดแล้วขัดแย้ง คิดแล้วทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับ สู้ทำตามคนอื่นไม่ได้ เราจะไม่มีแรงจูงใจให้คิด แต่มุ่งที่จะเลียนแบบคนอื่น เพราะวิธีนี้ทำให้ตัวเองอยู่รอดและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่า

แรงจูงใจเป็นปัจจัยสำคัญให้เราคิด ไม่คิด คิดดี คิดไม่ดี โดยเป้าหมายการคิดของเรา คือ คิดสำเร็จแล้วเราจะได้รับอะไรตอบสนองความต้องการความพึงพอใจของเราได้มากน้อยเพียงใด

องค์ประกอบทั้ง 4 ประการนี้เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดว่าเราใช้พลังทางสมองในการคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างไร

หากเรานำตัวร่วมเหล่านี้มาใช้เพื่อเสริมสร้างพลังทางการคิดของเราร่วมกับวิธีคิดซึ่งมี 10 มิติ ได้แก่

1.ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

2.ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)

3.ความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking)

4.ความสามารถในการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking)

5.ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking)

6.ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

7.ความสามารถในการคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)

8.ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

9.ความสามารถในการคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)

10.ความสามารถในการคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking)

ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหล่อหลอมกล่อมเกลา ที่มาจากคำสอน ประสบการณ์ ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี วัฒนธรรมที่คนคนนั้นได้รับมา สั่งสมมาในแต่ละขั้นตอนของชีวิต… “สมอง” จะนำไปคิด “บูรณาการ” เพื่อเกิดดุลยภาพที่ถูกต้องครบถ้วนนั้น คือ “คิดเป็น” ก็จะบรรลุตามเป้าหมายชีวิต แต่ในทางตรงกันข้ามหากเรานำองค์ประกอบมาใช้ในแง่มุมบั่นทอนการคิด ผลลัพธ์ก็จะได้แค่ “คิดได้” แต่ “คิดไม่เป็น”

ท้ายสุดนี้การที่เราจะพัฒนาให้คนที่ “คิดเป็น” ได้นั้น ต้องพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ให้ครบไปพร้อมๆ กัน โดยจะต้องปรับเปลี่ยนตัวแปร หรือปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะโลกทัศน์ นิสัย อารมณ์และแรงจูงใจของเราบางประการที่เป็นอุปสรรคของความคิด เราต้องเรียนรู้และฝึกทักษะการคิดทั้ง 10 มิติ และ “ตัวร่วม” 4 ประการ เพื่อให้สามารถไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ อย่างเหมาะสม

00อีกทั้งจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะคิดอย่างเป็น “ระบบ” เพื่อให้การคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นไปอย่างสมดุลและเกิดผลลัพธ์ทางการคิดที่ก่อประโยชน์สูงสุดไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image