เน็ตประชา (เซ็ง) รัฐ : คอลัมน์เดินหน้าชน

เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ “นายกฯบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องโมโหกับประสิทธิภาพของโครงการเน็ตประชารัฐ (โครงการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้ประชาชนกลุ่มฐานรากหญ้าในพื้นที่ชนบทก้าวให้ทันยุค 4.0

นายกฯไม่ค่อยพอใจด้วยเพราะหลังเปิดดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐไปได้บางส่วน กลับมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านจำนวนมากว่าสัญญาณมีปัญหา เข้าใช้งานไม่ได้ ถึงเข้าได้สัญญาณก็หลุดบ่อย จนชาวบ้านต่างเซ็งไปตามๆ กัน

ว่ากันว่านายกฯถึงขนาดมีบันทึกในหนังสือตามงานว่า “เน็ตประชารัฐใช้งานได้จริงไหม”
นอกจากนี้ “บิ๊กตู่” ยังไปบ่นถึงกลางงาน “ดิจิทัล ไทยแลนด์บิ๊กแบง 2018” ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อไม่นานมานี้อีกด้วยว่า จากการลงพื้นที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องโครงการเน็ตประชารัฐกันมาก

บังเอิญว่านายกฯไปบ่นที่บริเวณบูธของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลยอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นความรับผิดชอบของ “กสทช.”
แต่จริงๆ แล้วเน็ตประชารัฐที่มีปัญหาอยู่นั้น เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจในสังกัดเป็นผู้ดำเนินการ มิใช่ “กสทช.”
ต้องแจกแจงกันให้เคลียร์ว่าโครงการเน็ตประชารัฐนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน

Advertisement

ส่วนแรก…ที่มีปัญหาในขณะนี้นั้น เป็นโครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน ที่ติดตั้งจุดฟรีไวไฟ 1 จุดต่อหมู่บ้าน ที่ “ดีอี” กำกับดูแล และ “ทีโอที” เป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท (เงินที่ กสทช.ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ส่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐ)

ส่วนที่สอง… คือโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือ “เน็ตชายขอบ” ในพื้นที่ 3,920 หมู่บ้าน ที่ “กสทช.” กำกับดูแล โดยใช้เงินจากกองทุนโครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กองทุน USO) วงเงิน 1.29 หมื่นล้านบาท
โครงการนี้จะมีศูนย์ USO Net ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรีทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีอินเตอร์เน็ตฟรีในโรงเรียนและในโรงพยาบาล อย่างน้อย 5 ปี ส่วนอินเตอร์เน็ตในบ้านจะคิดค่าบริการแค่เดือนละ 200 บาทเท่านั้น โดย “กสทช.” เตรียมจะเปิดบริการในเร็วๆ นี้

แต่อาจจะมีบางพื้นที่ บางหมู่บ้านยังเปิดบริการไม่ได้ ด้วยเพราะผู้ที่รับดำเนินงานติดตั้งทำงานไม่เข้าเป้า มีความคืบหน้าแค่ 0-10% เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “ทีโอที” นั่นเอง และต้องเสียค่าปรับบานเบอะโทษฐานส่งมอบงานช้า

Advertisement

ส่วนที่สาม…โครงการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ห่างไกล (โซนซี) ในพื้นที่ 15,723 หมู่บ้าน มี “กสทช.” เป็นผู้รับผิดชอบ โดยใช้เงินจากกองทุน USO วงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดประมูลในเดือนตุลาคมนี้ และจะเซ็นสัญญากันเดือนพฤศจิกายน

คงรับรู้กันแล้วว่าที่ชาวบ้านเซ็งเน็ตประชารัฐที่มีปัญหาและ “บิ๊กตู่” โมโหนั้น หน่วยงานไหนเป็นผู้ดูแล
แต่ยังมีคำถามตามมาอีกว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงมาก แต่เหตุใดประสิทธิภาพงานถึงออกมาด้อยเช่นนี้

ทั้งนี้ เน็ตประชารัฐส่วนแรกที่ติดตั้งฟรีไวไฟ 24,700 จุด (หมู่บ้าน) มีค่าใช้จ่ายจุดละกว่า 5.2 แสนบาท และมีการดูแลบำรุงรักษาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น

เมื่อเทียบกับโครงการเน็ตโซนซี ที่จะติดตั้งฟรีไวไฟ 15,723 จุด (หมู่บ้าน) ค่าใช้จ่ายจุดละประมาณ 4.3 แสนบาท (อาจต่ำกว่านี้หากผู้ร่วมประมูลแข่งราคากัน) โดยจะมีการดูแลบำรุงรักษานานถึง 5 ปี หากนำค่าใช้จ่ายในการดูแล 5 ปีมาเฉลี่ยด้วย จะทำให้ค่าติดตั้งจุดฟรีไวไฟเหลือแค่จุดละประมาณ 8.7 หมื่นบาทเท่านั้น

 

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image