พึงระวัง…‘วิกฤตศรัทธา’

ปรัชญาเมธี ‘Marden’ กล่าวไว้ว่า..“Character is the first and last word in the success circle.”
อีกทั้ง Greek Proverb สอนไว้ว่า..“Concession is no humiliation, nor admission of error any disgrace.”“การมีคุณธรรมเท่านั้น จึงสามารถเป็นกุญแจเปิดประตูและรับผลแห่งความสำเร็จได้”
“การเสียสละหรือเปิดทางให้โอกาสผู้อื่น ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเสียหน้า อีกทั้งการยอมรับความผิดพลาด ก็มิใช่เป็นสิ่งน่าอับอายแต่อย่างใด”

ฉะนั้น นักการเมืองหรือผู้นำประเทศทั้งหลาย จึงควรสำเหนียกอยู่เสมอว่า..ถึงเวลาอันควร ที่จะผันตัวเองลงจากหลังเสือจะดีกว่า หรือจะปล่อยให้ประชาชนวิกฤตศรัทธาแล้วขับไล่ให้ลงจากบัลลังก์ ท่ามกลางเสียงก่นด่า?

ปรากฏการณ์ ประชาชนร้องขับไล่ผู้นำประเทศที่ไม่เอาไหน อุบัติขึ้นในละแวกประเทศเอเชียใกล้ๆ บ้านเรา นั่นคือ ประเทศไต้หวัน สดๆร้อนๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคมศกนี้เอง

ขณะที่ นาง ‘ไช่ อิงเหวิน’ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกและผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าแห่งไต้หวัน ก่อนจะปรากฏตัวเข้าสู่พิธีเปิดสถานีรถไฟอำเภอ ‘ฟาเหลี้ยง’ แห่งใหม่อันอลังการในไทเป

Advertisement

ทันใดนั้นได้มีกลุ่มประชาชนต่อต้านประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ที่รวมตัวอยู่ก่อนหน้าแล้ว ในบริเวณลานกว้าง ได้ก่อตัวเตรียมเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมตะโกนลั่นว่า..“พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ล้ม ไต้หวันไม่มีวันเจริญ” และ “ไช่ อิงเหวิน จงลงจากบัลลังก์”

ทั้งนี้ ก่อนประกอบพิธีดังกล่าว ประชาชนผู้ต่อต้านจำนวนหลายสิบคนได้รวมตัวร่วมชุมนุมกันก่อนเวลาที่ไช่ อิงเหวิน จะมาถึง ฝูงชนเหล่านั้นพากันร้องตะโกนดังสนั่นว่า “ถ้าพรรคนี้ไม่ล้ม อนาคตไต้หวันมีแต่ตายกับตาย” พร้อมกับโบกธงอันมีข้อความว่า “การเมืองเลวร้าย การบริหารของรัฐสกปรก ทารุณ นางไช่ อิงเหวิน ออกไป ออกไป”

ถึงกับนายลี้ ซีเฮ้อ ผู้กำกับการตำรวจอำเภอฟาเหลี้ยง ต้องออกมาห้ามปรามขู่ว่าจะจับกุม และทำข้อตกลงมิให้เข้าใกล้บริเวณพิธีในสถานีรถไฟ โดยกำหนดเขตให้ขบวนกลุ่มชนอยู่ภายนอกบริเวณทำพิธีในลานกว้างเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม ยังปรากฏมีหนุ่มฉกรรจ์ที่มีตราสัญลักษณ์ “ก๊กมิงตั๋ง” ติดหน้าอกคนหนึ่ง บุกเข้าไปในบริเวณใกล้พิธีจนได้ แล้วปะทะคารมกับตำรวจอย่างดุเดือดรุนแรง ครั้นเมื่อถูกกีดกัน ชายหนุ่มผู้นั้นได้เปล่งเสียงร้องตะโกนว่า…“ท่านประธานาธิบดีมาห้ามข้าทำไม? บัดซบสิ้นดี ‘ไช่ อิงเหวิน’ คนหลอกลวง ไร้สัจจะ”

จนกระทั่ง นายลี้ ซีเฮ้อ ผู้กำกับการตำรวจ จำต้องเปลี่ยนวิธีห้ามปรามด้วยการเจรจาแบบนุ่มนวล เรื่องจึงสงบลงแล้วยอมออกจากบริเวณนั้นไป กระทั่งเวลาผ่านไปถึงเที่ยงตรงอันเป็นเวลาที่ต้องทำการเปิดพิธีอย่างเป็นทางการแล้ว นายอู่ หงโม้ว รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และนายจุ เจี๊ยเซิน จึงได้เริ่มพิธีอย่างทุลักทุเล ทำให้เสียเวลาตามกำหนดการไปกว่าครึ่งชั่วโมง นางไช่ อิงเหวิน จึงปรากฏตัวในสถานที่ประกอบพิธี ท่ามกลางบรรยากาศอันหงอยเหงาพิกล

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้บรรดาสื่อมวลชนนำไปตีข่าวแพร่หลายในทำนองว่า พิธีอันอลังการกลับกลายเป็นพิธีเปิดที่สุดเซ็งจริงๆ

นักวิเคราะห์การเมืองต่างมีความเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่นางไช่ อิงเหวิน ขึ้นครองอำนาจผู้นำไต้หวันมา ปรากฏว่าเสียงคะแนนนิยมตกต่ำลงเรื่อยๆ ตามลำดับ เนื่องจากหล่อนดำเนินนโยบายผิดพลาด ไปอิงแอบกับประเทศญี่ปุ่น โดยประเมินความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับ “พี่เบิ้ม” ในจีนแผ่นดินใหญ่ต่ำไป ยังผลให้จีนแผ่นดินใหญ่ตัดความช่วยเหลือไต้หวันในทุกด้าน ทั้งลดความสัมพันธ์ทางทูตและการค้าลง

ทำให้เศรษฐกิจภายในไต้หวันตกต่ำ ประเทศปั่นป่วน ประชาชนชาวไต้หวันพากันผิดหวังกับรัฐบาลที่หล่อนบริหารอยู่เป็นอันมาก ทั้งนี้ เห็นได้จากผลสำรวจความนิยมของนางไช่มีไม่ถึงหนึ่งในสามเมื่อไม่นานมานี้
การดำเนินนโยบายอันล้มเหลวของหล่อนที่เอนเอียงไปจูบปากกับญี่ปุ่น ไม่ต่างกับอดีตผู้นำคนก่อน เช่น หลี่ เติงฮุย และเฉิง ฉุ่ยเปี่ยน และกลับแข็งข้อบาดหมางกับผู้ทรงอำนาจอย่างสี จิ้นผิง ผู้นำแผ่นดินใหญ่ที่ทรง

อิทธิพลในปัจจุบัน จึงทำให้ทั้งผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเลทั่วโลกเกิดความรู้สึกชิงชังอย่างมากมายต่อหล่อน ถึงกับประณามว่า..,อีนังนี่! เป็นคนลืมกำพืดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของตนเอง ตลอดจนชนชาติบรรพบุรุษ กลับมีใจฝักใฝ่จะแบ่งแยกแผ่นดินจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนตั้งแต่โบราณกาล เพื่อให้ไต้หวันเป็นอิสระแยกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่

การเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกๆ หล่อนเล่นลิ้นว่าสามารถประสานความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ต่อมากลับเปลี่ยนท่าทีแข็งข้อและสนับสนุนให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบของท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง โดยสิ้นเชิง จึงเกิดกระแสต่อต้านจากทั้งคนในไต้หวันผู้รักชาติ และคนจีนในแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนชาวจีนโพ้นทะเล ต่างพากันเรียกร้องให้ใช้กำลังเผด็จศึกยึดไต้หวันกลับมาให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนเหมือนเดิมในอดีต

ผู้สันทัดกรณีมองว่า สุดท้ายแล้วจุดจบของไช่ อิงเหวิน คงไม่สวย เช่นเดียวกับผู้นำที่ปฏิบัติตนไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย ซึ่งถึงวันนั้น กว่าหล่อนจะสำเหนียกว่า เมื่อทำให้ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธา พากันรวมพลังขับไล่ให้ลงจากบัลลังก์แล้วไซร้ ก็คงสายไปเสียแล้ว…ว่าไหม?

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจาก ม.ไต้หวัน และนิติศาสตรมหาบัณฑิตจาก ม.คอร์เนลล์ และดุษฎีบัณฑิตจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน แล้วกลับมาไต้หวันเมื่อปี 1984 เพื่อเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต่อมา ค.ศ.1993 พรรคชาตินิยม (ก๊กมิงตั๋ง) ซึ่งเป็นรัฐบาลในสมัยประธานาธิบดี หลี่ เติงฮุย ได้ตั้งหล่อนเป็นข้าราชการหลายตำแหน่ง รวมถึงเป็นประธานกรรมการยกร่างนโยบาย “หนึ่งชาติหนึ่งแดน” อันเป็นผลงานอัปยศของนายหลี่ เติงฮุยด้วย

ครั้นต่อมาเมื่อเฉิง ฉุ่ยเปี่ยน ได้เป็นประธานาธิบดี ในปี ค.ศ.2000 หล่อนได้รับเชิญเป็นรัฐมนตรีสภาการแผ่นดินใหญ่และอยู่ตราบเท่าวาระแรกของประธานาธิบดีเฉิง ต่อมาจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในปี ค.ศ.2004 และได้เป็นทั้งสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกับเป็นรองนายกรัฐมนตรี กระทั่งคณะรัฐมนตรีลาออกยกคณะใน ค.ศ.2007 ครั้นปี 2008 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี หล่อนจึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อหล่อนแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2012 ก็ได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคในครั้งนั้น

ถัดมาในเดือน พ.ย. ค.ศ.2010 หล่อนเข้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งนครไทเปใหม่ ทว่าแพ้ จู ลี่หลุง ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคก๊กมิงตั๋ง ครั้นเดือน เม.ย. ค.ศ.2011 หล่อนได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี ค.ศ.2012 ปรากฏว่า คะแนนที่หล่อนได้รับเลือกในพรรคนั้นชนะซู เจินชาง เพื่อนร่วมพรรคไปฉิวเฉียด ทำให้หล่อนได้เป็นสตรีคนแรกที่สมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

กระนั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ประจำปี ค.ศ.2012 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ห้าของประเทศไต้หวัน หล่อนกลับพ่ายแพ้แก่ หม่า อิงจิ่ว จากพรรคก๊กมิงตั๋ง แต่หล่อนก็ได้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประจำปี ค.ศ.2016 อีก ปรากฏว่าการชิงครั้งนี้หล่อนได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น และได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมหวัง ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2016 เป็นต้นมา

หล่อนได้บริหารประเทศมาจนถึงบัดนี้ สิ่งที่ประชาชนชาวไต้หวันเคยฝากความหวังในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ล้มเหลวสิ้นเชิง จึงเกิดความผิดหวังในตัวหล่อน วิกฤตศรัทธาก็ตามมา ดังนี้ ย่อมยังผลให้บัลลังก์ของไช่ อิงเหวิน สั่นคลอนในที่สุด แต่จะพบจุดจบไม่สวย ดั่งผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ทำนายไว้หรือไม่? คงต้องรอกาลเวลาเป็นผู้พิสูจน์

สำหรับผู้เขียนอยากจะยกภาษิตของนักปราชญ์ทางการปกครองของจีนโบราณ “ขงจื๊อ” ที่ได้กล่าวเตือนผู้นำประเทศไว้ว่า “พลังของประชาชนประดุจดั่ง ‘น้ำ’ เมื่อพยุงเรือได้ก็สามารถคว่ำเรือได้เช่นกัน”
ดังนั้น จึงอยากจะฝากเตือนสติผู้มีหน้าที่บริหารประเทศทั้งหลาย พึงระวัง…“วิกฤตศรัทธา

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image